ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช.ร่วมสนับสนุน “มูลนิธิโรคไตแห่งประเทศไทย” จัด “โครงการปลูกถ่ายไตถวายเป็นพระราชกุศล 60 พรรษา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี” รณรงค์ผู้บริจาคไตเพิ่ม ช่วยผู้ป่วยต้องได้รับการปลูกถ่ายไตเข้าถึงการรักษา เผยปี 2556 มีผู้ป่วยรับการปลูกถ่ายเพียง 287 ราย สาเหตุจำนวนผู้บริจาคไตน้อย

นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช. ) กล่าวว่า การผ่าตัดปลูกถ่ายไต เป็นที่ยอมรับกันทั่วโลกว่าเป็นวิธีการที่ดีที่สุดในการบำบัดรักษาผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ดีกว่าการบำบัดทดแทนไตวิธีอื่น คือการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม และการล้างช่องท้องด้วยน้ำยา แต่การปลูกถ่ายไตจะเป็นผลสำเร็จด้วยดี ต้องได้รับความร่วมมือและประสานงานกันหลายฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายการแพทย์ ฝ่ายผู้รับไต ฝ่ายผู้บริจาคไต โดยแต่ละฝ่ายมีกลุ่มทำงานต่างๆ มากมาย การปลูกถ่ายไตจึงเกิดความพร้อมได้ง่าย

ทั้งนี้ประเทศไทยเริ่มทำการปลูกถ่ายไต ตั้งแต่ปี 2515 นับถึงปัจจุบันจำนวนผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายไตยังไม่มากเท่าที่ควร เนื่องจากยังไม่สามารถตอบสองความต้องการของผู้ป่วยได้ดีนัก เพื่อสนับสนุนให้มีการผ่าตัดปลูกถ่ายไตมากขึ้น มูลนิธิโรคไตแห่งประเทศไทย ซึ่งสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ทรงเป็นองค์ประธานก่อตั้งและสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธาน ได้เคยจัดทำ โครงการเปลี่ยนถ่ายไตถวายเป็นพระราชกุศล 80 พรรษา สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ขึ้นในปี 2546 และโครงการเปลี่ยนไตถวายเป็นพระราชกุศล 80 และ 84 พรรษา” ขึ้นในปี  2550

นพ.วินัย กล่าวว่า จากโครงการนี้ทำให้ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายได้รับการปลูกถ่ายไตเพิ่มขึ้น จาก 200-250 ราย เป็น 400-500 ราย และเป็นที่มาของการให้สิทธิประโยชน์การปลูกถ่ายไตในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือบัตรทอง นอกเหนือสิทธิข้าราชการ ทำให้ผู้ป่วยคนไทยทุกรายมีสิทธิประโยชน์ในการปลูกถ่ายไตในปัจจุบัน อย่างไรก็ตามแม้ว่าประเทศไทยจะมีการดำเนินสิทธิประโยชน์เพื่อปลูกถ่ายไตแล้ว แต่ก็ยังไม่ตอบสนองความต้องการผู้ป่วยได้ เนื่องจากปัญหาใหญ่คือการบริจาคไต ซึ่งปี 2556 มีผู้ป่วยรอรับการปลูกถ่ายไตที่ลงชื่อไว้ถึง 3,900 ราย แต่มีผู้สมองตายบริจาคไตเพียง 158 ราย ขณะที่การปลูกถ่ายไตทั้งหมดทำได้เพียง 287 ราย คิดเป็นเพียงร้อยละ 7.3 เท่านั้น

“ในปี 2558 นี้ เป็นปีมหามงคลที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เจริญพระชนมายุ 60 พรรษา ในวันที่ 2 เมษายน  2558 คณะกรรมการบริหารมูลนิธิโรคไตแห่งประเทศไทย จึงได้จัดตั้ง “โครงการปลูกถ่ายไตถวายเป็นพระราชกุศล 60 พรรษา สมเด็พระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี” ขึ้น โดยมีระยะเวลาดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 2 เมษายน 2558 ถึง 1 เมษายน 2559  สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ อาทิ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ศิริราชมูลนิธิ สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย สถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์ และศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย เป็นต้น เพื่อให้การสนับสนุนการดำเนินโครงการทำให้ผู้ป่วยที่ต้องได้รับการปลูกถ่ายไตเข้าถึงการรักษาเพิ่มขึ้น” เลขาธิการ สปสช. กล่าว

นพ.วินัย กล่าวต่อว่า จากรายงานการให้สิทธิประโยชน์การปลูกถ่ายไต ซึ่ง สปสช.ได้ดำเนินมาตั้งแต่ 1 มกราคม 2551 ถึง 30 กันยายน 2556 มีผู้ป่วยลงทะเบียนเพื่อรอเข้ารับการปลูกถ่ายไตจำนวน 3,043 คน ในจำนวนนี้มีผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดแล้ว 1,530 คน โดยยังคงมีผู้ที่รอรับการผ่าตัดอีก 1,389 คน นอกจากนี้ สปสช.ยังได้จัดบริการเพื่อให้ยากดภูมิคุ้มกันหลังการปลูกถ่ายไต เพื่อดูแลผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายต่อเนื่องด้วย