ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

วิตามิน (Vitamin) เป็นหนึ่งในสารอาหารจำเป็นสำหรับร่างกายมนุษย์ที่ขาดไม่ได้ ประวัติการค้นพบวิตามินก็มีความสำคัญไม่น้อย เป็นที่ทราบกันดีว่าหากร่างกายขาดวิตามิน จะแสดงอาการของโรคขาดวิตามินให้เห็นอย่างชัดเจน เช่น โรคเหน็บชา โรคลักปิดลักเปิด โรคที่เกิดจากการขาดวิตามินเหล่านี้ ในยุคสมัยก่อนการค้นพบวิตามินไม่มีใครทราบมาก่อนว่าอาหารที่รับประทานในชีวิตประจำวันนั้นสามารถรักษาหรือป้องกันโรคเหล่านี้ได้

คำว่า “วิตามิน” ถือกำเนิดขึ้นในปี ค.ศ.1912 โดย Kazimierz Funk หรือ Casimir Funk (1884-1967) นักชีวเคมีชาวโปแลนด์-อเมริกันผู้นี้ได้พยายามสกัดสารอาหารที่เรียกว่า “Accessory factor” ซึ่งถูกค้นพบก่อนหน้านี้ในปี ค.ศ.1906 โดยแพทย์ชาวอังกฤษชื่อ Frederick Gowland Hopkins เขาพบว่าสารดังกล่าวเป็นสารประกอบกลุ่ม amine จึงได้ตั้งชื่อสารนี้ว่า Vitamine มาจากภาษาละตินว่า " Vita" ที่แปลว่า " ชีวิต" บวกกับคำว่า amine  ต่อมาพบว่าสารอาหารประเภทนี้ไม่ได้มีเฉพาะ amine  ในปี ค.ศ.1920 Jack Cecil Drummond จึงเสนอให้ตัด e ตัวท้ายออกกลายเป็น Vitamin และใช้มาจนถึงปัจจุบัน

แต่ก่อนหน้าที่จะมีการค้นพบวิตามิน ย้อนกลับไปในสมัยโบราณชาวอียิปต์ได้รักษาผู้ป่วยโรคตาบอดกลางคืนด้วยการให้กินตับ เช่นเดียวกันกับเมื่อ 1,300 ปีก่อน ที่ชาวจีนได้บันทึกเกี่ยวกับโรคเหน็บชา (Beriberi) ไว้เป็นครั้งแรกโดยผู้ป่วยจะมีอาการชาและอ่อนแรง รวมถึงในปี ค.ศ.1535 มีรายงานของนักสำรวจชาวฝรั่งเศส Jacques Cartier บันทึกไว้ว่าเมื่อเขาและคณะออกเดินเรือเป็นเวลาหลายเดือน โดยลูกเรือได้รับอาหารอย่างจำกัดและมักจะเป็นอาหารแห้ง ทำให้คนเหล่านี้เกิดอาการอ่อนเพลียและมีเลือดออกตามไรฟัน ซึ่งเป็นอาการของโรคลักปิดลักเปิด (Scurvey) แต่อาการต่างๆ เหล่านี้จะหายไปเมื่อพวกเขาขึ้นฝั่งและได้รับอาหารจำพวกผักและผลไม้ ต่อมาในปี ค.ศ.1747 James Lind ศัลยแพทย์แห่งราชนาวีประเทศอังกฤษได้ทำการทดลองโดยแบ่งลูกเรือออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งให้กินอาหารตามปกติเป็นกลุ่มควบคุม ขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งให้กินส้มเขียวหวานและมะนาวด้วยทุกวัน ผลปรากฏว่าผลไม้ที่มีรสเปรี้ยวสามารถป้องกันโรคลักปิดลักเปิดได้จริง นับเป็นการทดลองโดยมีกลุ่มควบคุม (control group) เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การแพทย์ ซึ่งมีการตีพิมพ์เรื่องนี้ในหนังสือชื่อ " Treatise on the Scurvey " เมื่อปี ค.ศ.1753 แต่ในเวลานั้นยังไม่มีใครอธิบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้

กระทั่งเข้าสู่ทศวรรษ 1890 ยุคที่ทฤษฎีเชื้อโรคกำลังโด่งดัง Christian Eijkman แพทย์ทหารชาวดัทช์ได้พยายามเพาะเชื้อที่ทำให้เกิดโรคเหน็บชา โดยนำเลือดจากผู้ป่วยไปฉีดไก่ ปรากฏว่ามีไก่บางส่วนเท่านั้นที่เกิดอาการขาอ่อนแรง เมื่อเก็บข้อมูลเพิ่มเติมเขาได้พบว่าไก่เหล่านี้กินข้าวขาวที่เหลือจากโรงพยาบาลทหาร ส่วนไก่ที่ไม่เป็นโรคนั้นกินข้าวกล้อง เขาจึงทดลองให้ข้าวกล้องกับไก่ที่เป็นโรค ผลที่ได้กลับพบว่าไก่เหล่านั้นหายจากอาการอ่อนแรง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าโรคนี้เกี่ยวกับอาหารไม่ได้เกี่ยวกับการติดเชื้อ จากการทดลองของ Eijkman ทำให้ Adolphe Vorderman ศึกษาโรคนี้ในนักโทษ และได้พบว่านักโทษที่กินข้าวขาวเป็นโรคเหน็บชาถึง 1 ใน 39 คน ในขณะที่นักโทษที่กินข้าวกล้องพบผู้ป่วยเพียง 1 ใน 10,000 คน ซึ่งแตกต่างกันมากถึง 250 เท่าโดยประมาณ จึงเชื่อได้ว่าข้าวกล้องมีสารที่ป้องกันโรคนี้ได้

ข้อสงสัยต่อเรื่องสารอาหารประเภทหนึ่งที่สามารถรักษาโรคบางโรคได้ทำให้เกิดการค้นพบวิตามิน และในทศวรรษ 1900 กำเนิดของวิตามินชนิดต่างๆ ก็ค่อยๆ เริ่มต้นขึ้น นับตั้งแต่ในปีค.ศ.1913 Elmer V. McCollum นักเคมีชาวอเมริกันและ Marguerite Davis ได้สกัดวิตามินชนิดแรกสำเร็จ โดยเขาเรียกมันว่า Factor A ซึ่งพบมากในตับและเรียกสารที่อยู่ในข้าวกล้องว่า Factor B ซึ่งปัจจุบันก็คือ วิตามินเอ และวิตามินบี 1 ตามลำดับ

ในเวลาต่อมา  McCollum ได้สกัดวิตามินดีสำเร็จในปี ค.ศ.1922  โดยเขาสังเกตว่าหนูที่กินแต่ธัญญาหารจะเกิดโรคที่เหมือนโรคกระดูกอ่อนในเด็กหรือ Rickets (Rickets มาจากภาษากรีก  "Rhakhis" ที่แปลว่า "กระดูกสันหลัง") เมื่อทดลองให้หนูเหล่านี้กินน้ำมันตับปลาก็พบว่าสามารถป้องกันโรคนี้ได้ และอีก 1 ปีต่อมา W. Evans และ K. Bishop ก็ค้นพบวิตามินอี

ปี ค.ศ.1926 George Richards Minot และ  William Parry Murphy แพทย์ชาวอเมริกันได้ทดลองรักษาผู้ป่วยโรคโลหิตจางชนิดรุนแรง (pernicious anemia) โดยการให้กินตับปรากฏว่าได้ผล เป็นเรื่องมหัศจรรย์มากที่โรคโลหิตจางสามารถรักษาได้ด้วยการกินอาหารเนื่องจากการขาดวิตามินบี 12

ปี ค.ศ.1928 Albert von Szent Gyorgyi Nagyrapolt นักเคมีชาวฮังการีค้นพบวิตามินซี ซึ่งพบมากในผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว หากใครขาดวิตามินนี้จะเป็นโรคลักปิดลักเปิด ในเวลาต่อมา Sir Walter Norman Haworth นักเคมีชาวอังกฤษจึงได้สังเคราะห์วิตามินซีได้สำเร็จ ในปี ค.ศ.1933

ปี ค.ศ.1932 R. R. William ค้นพบวิตามินบี 1 และอีก 1 ปีต่อมา Richard Kuhn นักเคมีชาวเยอรมันและ P.Gregory ก็ค้นพบวิตามินบี 2

ปี ค.ศ.1934 วิตามินเค ถูกค้นพบโดย Henrik Carl Peter Dam นักเคมีชาวเดนมาร์กผู้สังเกตว่า ไก่ที่ถูกจำกัดอาหารจะเกิดอาการเลือดออก ตอนแรกเขาคิดว่าเป็นโรคลักปิดลักเปิดจึงเพิ่มอาหารที่มีวิตามินซีสูงเข้าไป แต่ก็ไม่ได้ผล เขาจึงทดลองให้ไก่กิน Hampseed ปรากฏว่าป้องกันเลือดออกได้ เขารายงานเรื่องนี้ในวารสารการแพทย์โดยใช้ภาษาเยอรมันว่า Koagulation Vitamin ทำให้สารนี้มีชื่อว่าวิตามินเค ต่อมาในปี ค.ศ.1939 Edward Adelbert Doisy นักเคมีชาวอเมริกันก็สามารถสังเคราะห์วิตามินเคได้สำเร็จ

เช่นเดียวกับในทศวรรษ 1950 George Wald นักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกัน ได้ค้นพบว่าวิตามินเอเป็นส่วนประกอบของจอประสาทตา (retina) มีส่วนสำคัญในกระบวนการรับแสงทำให้เรามองเห็นภาพได้ตามปกติ ถ้าขาดวิตามินเอไปจะทำให้เป็นโรคตาบอดกลางคืน แต่เราสามารถป้องกันโรคนี้ได้ด้วยการกินตับเนื่องจากมีวิตามินเอสูง

นับจากเวลานั้น โลกจึงได้รู้จักกับสารอาหารที่เรียกว่า “วิตามิน” ที่มีอยู่ในอาหาร ซึ่งสามารถป้องกันและรักษาโรคหลายๆโรคได้ นอกจากนี้ ในประวัติศาสตร์การค้นพบวิตามินชนิดต่างๆ ดังที่กล่าวมา ยังส่งผลให้บรรดาผู้ค้นพบได้รับรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ไปตามๆ กันด้วย

เก็บความจาก

เว็บไซต์หมอชาวบ้าน ในบทความสุขภาพน่ารู้ เรื่อง วิตามิน Vitamin

แหล่งที่มา: http://www.doctor.or.th/clinic/detail/8444

ขอบคุณภาพจาก

แหล่งที่มา: http://bestnutritionforhealth.net/mineral-vitamin-supplements/