ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุข ปลื้มยอดการทำฟันเทียมและฝังใส่รากฟันเทียมพระราชทาน ของขวัญผู้สูงอายุปี 2558 คืบหน้า ไตรมาสแรกได้ 30 เปอร์เซ็นต์ ฟันเทียมช่วยลดปัญหาการเคี้ยวไม่ละเอียด กัดและกลืนอาหารไม่ได้ ในปีนี้เน้นการจัดบริการดูแลสุขภาพช่องปากทุกกลุ่มวัย รวมทั้งผู้ป่วยโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ที่ตั้งเป้าดูแลมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ เพื่อลดการติดเชื้อจากช่องปากและโรคปอดบวม สนับสนุนให้ชมรมผู้สูงอายุสามารถดูแลอนามัยช่องปากตนเองให้ได้ 10,000 ชมรมทั่วประเทศ เพื่อการดูแลสุขภาพฟันดีขึ้น

วันนี้ (18 กุมภาพันธ์ 2558) ที่โรงพยาบาลพุทธชินราช จ.พิษณุโลก นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขเขตบริการสุขภาพที่ 2 เปิดโครงการ “ความสุขพระราชทานจากฟันเทียมสู่รากฟันเทียม” เพื่อมอบฟันเทียมพระราชทานและรากฟันเทียมเป็นของขวัญแก่ผู้สูงอายุในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 2 ประกอบด้วย 5 จังหวัด ได้แก่ ตาก อุตรดิตถ์ พิษณุโลก สุโขทัย และเพชรบูรณ์ จำนวน 90 คน

นพ.ณรงค์ กล่าวว่า ในปี 2558 นี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดโครงการใส่ฟันเทียมพระราชทานและรากฟันเทียมเป็นของขวัญปีใหม่แก่ผู้สูงอายุทั่วประเทศที่ไม่มีฟันเคี้ยวอาหาร โดยตั้งเป้าหมายการใส่ฟันเทียมแก่ผู้ที่สูญเสียฟันตั้งแต่ 50 – 100 เปอร์เซ็นต์ จำนวน 40,000 ชุด และใส่รากฟันเทียม 8,400 ชุด เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งจากการดำเนินการในไตรมาสแรก มีผู้สูงอายุได้รับการใส่ฟันเทียมไปแล้วประมาณ 12,000 ราย หรือประมาณร้อยละ 30 ของเป้ามาย และใส่รากฟันเทียมจำนวน1,306 คน ในส่วนของเขตสุขภาพที่ 2 ใส่ฟันเทียมไปแล้ว 1,043 ราย ใส่รากฟันเทียม 76 ราย คาดว่าจะทำได้ตามเป้า ซึ่งการใส่ฟันเทียมจะทำให้ผู้สูงอายุมีฟันเคี้ยวอาหารให้ละเอียดขึ้น กินอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการได้มากขึ้น ทำให้ร่างกายแข็งแรง

สำหรับการจัดบริการโรคในช่องปากจำเป็นจะต้องเร่งดำเนินการ เนื่องจากอัตราการเกิดฟันผุของประชาชนยังคงสูงอยู่ ผลสำรวจสุขภาพช่องปาก โดยกรมอนามัย ล่าสุดในปี 2555 ใน 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มเด็กอายุ 5 ปี พบฟันน้ำนมผุร้อยละ 79 กลุ่มอายุ 12 ปี ซึ่งเป็นวัยที่มีฟันแท้ขึ้นครบ 28 ซี่ พบฟันแท้ผุร้อยละ 52 กลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปเผชิญทั้ง 2 เรื่อง คือฟันผุร้อยละ 97 และเป็นโรคปริทันต์เกือบร้อยละ 32 ซึ่งส่วนใหญ่เกิดมาจากการแปรงฟันไม่ถูกวิธี มีหินปูนสะสม กระดูกรอบรากฟันถูกทำลาย จนทำให้ฟันโยกและเป็นสาเหตุของการสูญเสียฟันของผู้สูงอายุไทย จึงต้องเร่งแก้ไขป้องกัน โดยให้ทุกเขตสุขภาพเร่งรัดการเข้าถึงบริการทางทันตกรรมของ 3 กลุ่มนี้ให้มากขึ้น โดยเพิ่มการจัดบริการทันตกรรมทั้งการส่งเสริม ป้องกันและรักษา ลดเด็กฟันผุให้เหลือต่ำกว่าร้อยละ 50 เน้นการป้องกันเบื้องต้น เช่น การให้ความรู้การแปรงฟันที่ถูกวิธี เพิ่มการใช้ฟลูออไรด์ป้องกันฟันผุ ขูดหินปูนและอุดฟัน โดยใช้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหรือศูนย์สุขภาพชุมชนเขตเมือง ซึ่งเป็นบริการปฐมภูมิเป็นฐานหลักดำเนินการ และจัดทันตแพทย์หมุนเวียนไปให้บริการเพิ่มความครอบคลุม ประชาชนไม่ต้องเดินทางไปรักษาที่โรงพยาบาลใหญ่

นพ.ณรงค์ กล่าวต่อไปว่า ในกลุ่มของผู้สูงอายุซึ่งส่วนใหญ่จะมีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง กำหนดให้ได้รับบริการดูแลสุขภาพช่องปากไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 เพื่อลดการติดเชื้อจากช่องปากและโรคปอดบวมจากการสำลักอาหาร ซึ่งพบว่ามีโอกาสถึงร้อยละ 30 รวมทั้งสนับสนุนให้ชมรมผู้สูงอายุดูแลอนามัยช่องปากตนเองให้ได้ 10,000 ชมรมทั่วประเทศ ขณะนี้ทำได้แล้ว 4,000 ชมรม เพื่อเป็นช่องทางการให้ความรู้ การดูแลสุขภาพฟัน ป้องกันโรคปริทันต์