ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ปลัดสธ. หนุนให้ผู้สูงอายุ ทุกจังหวัด ตั้งชมรมผู้สูงวัย เพื่อดึงพลังสมอง ความคิด และประสบการณ์ชีวิต มาร่วมกำหนดทิศทางการดูแลสุขภาพของกลุ่มที่ควรจะเป็นในพื้นที่ ในลักษณะผู้สูงอายุคิดและทำ หน่วยบริการ ท้องถิ่นร่วมหนุน รองรับการก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุของไทยที่สอดคล้องวิถีชีวิต วัฒนธรรมพื้นที่ เพื่อผลอุ่นใจ ชะลอวัย ลดป่วย ลดติดเตียง ขณะนี้ผู้สูงอายุไทยร้อยละ95 หรือกว่า 10 ล้านคนมีโรคประจำตัว

วันนี้ (20 กุมภาพันธ์ 2558) ที่ จังหวัดพิจิตร นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดงานมหกรรมผู้สูงอายุของจังหวัดพิจิตร เนื่องในวันผู้สูงอายุแห่งชาติปี 2558 ณ วัดมะพร้าว ต.ขวาง อ.โพทะเล จัดโดยชมรมผู้สูงอายุจังหวัดพิจิตร และกล่าวถึงนโยบายการพัฒนาสังคมผู้สูงอายุสู่ประชาคมอาเซียนว่า ปัจจุบันประเทศไทยก้าวสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุ ผลสำรวจล่าสุดปี 2557 มีผู้อายุ 60 ปี ขึ้นไป จำนวน 10 ล้านกว่าคน คิดเป็นร้อยละ 15 ของประชากรทั้งหมด ประเด็นที่น่าเป็นห่วงที่สุด คือ ผู้สูงอายุร้อยละ 95 หรือ 9.5 ล้านคน สุขภาพไม่ดี มีโรคประจำตัวที่พบบ่อย อาทิ โรคความดันโลหิตสูง พบร้อยละ 41 โรคเบาหวาน พบร้อยละ 18 ข้อเข่าเสื่อม พบร้อยละ 9 เป็นผู้พิการพบร้อยละ 6 โรคซึมเศร้าพบร้อยละ 1 และนอนติดเตียงพบ ร้อยละ 1 มีเพียงร้อยละ 5 เท่านั้นที่มีสุขภาพดี ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ ผู้สูงอายุประมาณ 1 ใน 3 เป็นผู้ที่มีความเปราะบางทางจิตใจ รู้สึกว่าคุณค่าในตัวเองลดลง

นพ.ณรงค์ กล่าวต่อว่า ทิศทางการดำเนินงานเกี่ยวกับผู้สูงอายุ มีแนวคิดสนับสนุนให้ผู้สูงอายุที่ยังแข็งแรง ไปไหนมาไหนได้ รวมตัวกันจัดตั้งเป็นชมรมผู้สูงวัย ซึ่งในแต่ละปีจะมีคนก้าวเข้าสู่วัยสูงอายุเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 4-5 แสนคน คนกลุ่มนี้มีหลากหลายอาชีพ มีประสบการณ์ชีวิตและการทำงาน เป็นคลังสมองของประเทศมาก่อน เพื่อรวมพลังวางทิศทางการพัฒนาสุขภาพและคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุที่สอดคล้องวิถีชีวิต วัฒนธรรม บริบทท้องถิ่น เป็นการทำงานที่ผู้สูงอายุคิดขึ้นเองและอยากทำ โดยภาครัฐที่เกี่ยวข้องได้แก่สถานบริการสาธารณสุข และองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ร่วมสนับสนุน เนื่องจากผู้สูงอายุจะรู้ปัญหาและความต้องการของตนเองได้ดีที่สุด และจะเป็นโครงการที่ยั่งยืนกว่าการกำหนดจากภาครัฐ มิติการทำงานลักษณะนี้ จะช่วยลดการพึ่งพารัฐแต่ใช้ศักยภาพที่มีอยู่ขับเคลื่อนระบบการดูแลผู้สูงวัยที่เหมาะสมที่สุด การรวมกลุ่มกันจะเกิดผลดีต่อสุขภาพจิต รู้สึกอบอุ่นใจ ไม่โดดเดี่ยว เกิดความภาคภูมิใจในคุณค่า ช่วยชะลอการเสื่อมของวัย ลดโรคและลดปัญหาการติดเตียงในอนาคต อายุขัยเฉลี่ยยืนยาวขึ้น

นพ.ณรงค์ กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของการจัดระบบบริการ ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้วางแผนดำเนินการใน 5 เรื่องหลัก ได้แก่ 1.สนับสนุนการดูแลระยะยาวต่อเนื่องตลอดชีวิต 2.ระบบการดูแลแบบประคับประคอง 3.ดูแลโรคเรื้อรังที่สำคัญ 4.การสร้างอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุในชุมชน ซึ่งควรจะมีทุกชุมชน และ 5.การให้ความรู้ผู้ดูแลผู้สูงอายุ โดยกระทรวงสาธารณสุขได้จัดโครงการหมอครอบครัว เป็นทีมสหวิชาชีพออกไปให้การดูแลสุขภาพประชาชนทุกครัวเรือน โดยเฉพาะครัวเรือนที่มีผู้สูงอายุติดเตียงหรือมีโรคประจำตัว เตรียมขยายทั่วประเทศในเดือนเมษายน 2558 จะทำให้ผู้สูงอายุเข้าถึงบริการดูแลรักษาดียิ่งขึ้น

ทั้งนี้ปัญหาที่พบได้บ่อยในกลุ่มผู้สูงอายุที่ป่วยเป็นโรคเรื้อรัง โดยเฉพาะโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ซึ่งต้องกินยาหลายขนานควบคู่กัน มักจะควบคุมอาการไม่ได้ เนื่องจากกินยาไม่ครบ ส่วนหนึ่งเข้าใจว่าอาการดีขึ้นแล้ว อีกส่วนหนึ่งขาดคนดูแล จึงทำให้โรคกำเริบขึ้นและความเสี่ยงอันตรายรุนแรงขึ้นอาจถึงแก่ชีวิต ดังนั้นจึงขอให้ผู้สูงอายุตระหนักถึงความสำคัญของการกินยา ต้องกินให้ครบถ้วนตามแพทย์สั่ง และขอให้ลูกหลานช่วยดูแล เพราะโรคเรื้อรังเหล่านี้หากดูแลได้ดีจะทำให้อายุยืนยาวได้เช่นกัน