ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

การควบคุมการบริโภคน้ำตาลในชีวิตประจำวัน เป็นการดูแลสุขภาพและลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคยอดนิยม คนรักสุขภาพจะเข้าใจดีว่าน้ำตาลเป็นสิ่งต้องห้ามเพียงใด แม้ในสังคมปัจจุบันที่โอกาสการบริโภคน้ำตาลเป็นสิ่งหยิบฉวยง่ายและราคาถูก น้ำตาลเป็นเพียงเครื่องปรุงรส เป็นส่วนประกอบในอาหารและเครื่องดื่มที่ราวกับว่าไม่มีวันหมดสิ้นไปภายใต้อุตสาหกรรมน้ำตาลซึ่งสามารถผลิตได้ภายในประเทศ แต่หากย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์กำเนิดของน้ำตาลกลับกลายเป็นเรื่องที่ตรงข้ามโดยสิ้นเชิงกับที่เรารู้จักน้ำตาลในทุกวันนี้

จากหนังสือเรื่อง “น้ำตาลเปลี่ยนโลก” Sugar Changed the World เขียนโดย  Marc Aronson และ Marina Budhos  นำเสนอเรื่องราวประวัติศาสตร์กำเนิดของน้ำตาลที่เรียกได้ว่าเป็นประวัติศาสตร์ของความหวานที่น่าขมขื่น เพราะเมื่อมนุษย์รู้จักกับน้ำตาล น้ำตาลได้เข้ามามีบทบาทในประวัติศาสตร์ของโลกอย่างมากมาย

ในยุคแรกน้ำตาลเป็นของหายากและมีบทบาทเป็นของบูชาในพิธีกรรมทางศาสนา อีกทั้งเป็นสินค้าหรูหราที่คนมีเงินเท่านั้นจะซื้อหาได้ ความต้องการน้ำตาลที่สูงขึ้นทำให้เกิดอุตสากรรมไร่อ้อยขนาดใหญ่ และนำไปสู่การค้าทาสเพื่อเป็นแรงงานในไร่ น้ำตาลทำให้คนหลายล้านคนเสียชีวิต อีกหลายล้านคนต้องอพยพย้ายถิ่น และอีกหลายล้านคนได้พบอิสรภาพ

เรื่องราวของน้ำตาลสามารถสืบย้อนไปถึงเมื่อประมาณ 5,000 ปีมาแล้วหรือนานกว่านั้น มนุษย์ได้ปลูกอ้อยเป็นครั้งแรกบนเกาะที่ในปัจจุบันเรียกว่านิวกินี เดิมทีต้นอ้อยเป็นเพียงแค่ไม้ป่าที่มีรสชาติดี ต่อมาคนจึงหาทางปลูกอ้อยได้สำเร็จเช่นเดียวกับพวกที่เรียนรู้วิธีการปลูกต้นแอปเปิลหรือพุ่มเบอร์รี่ เรื่องราวของต้นอ้อยค่อยๆ กระจายอย่างช้าๆ  จากนิวกินีไปสู่ทางตอนเหนือของแผ่นดินใหญ่ของทวีปเอเชีย นอกจากนี้ นักเดินเรือชาวโพลิเนเชียนยังนำต้นอ้อยไปด้วยขณะเดินทางจากเกาะหนึ่งไปยังอีกเกาะหนึ่งจนกระทั่งพวกเขาเดินทางถึงเกาะฮาวายราวปี 1,100 

อย่างไรก็ตาม มีบันทึกครั้งแรกเกี่ยวกับน้ำตาลที่อินเดีย โดยมีการใช้เป็นเครื่องบวงสรวงทางศาสนาและในพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ราว 1,000-500 ปีก่อนคริสตกาล เนิ่นนานก่อนที่จะมีการสร้างพีระมิดรุ่นแรกๆ ที่อียิปต์ ต้นอ้อยได้กลายเป็นส่วนประกอบในพิธีกรรมซึ่งมีไฟเข้ามาเกี่ยวข้อง อาจเป็นไปได้ว่าจากพิธีกรรมได้สร้างน้ำอ้อยสีน้ำตาลเข้มและมีรสหวาน การที่น้ำอ้อยเกิดการเปลี่ยนแปลงจากของเหลวซึ่งถูกทำให้ร้อน กลายเป็นสิ่งที่ดูเหมือนเม็ดทรายสีเข้มอาจดูเป็นสิ่งมหัศจรรย์ ในคัมภีร์อาถรรพเวท เรียกต้นอ้อยว่า อิคชู (ikshu) ซึ่งหมายถึง “สิ่งที่ผู้คนต้องการหรือปรารถนา อันเนื่องมาจากความหวานของมัน” แต่เมื่อคนรู้จักการทำผลึกน้ำตาล พวกเขาก็เริ่มเรียกมันว่า สักการา ซึ่งมีความหมายอีกอย่างว่า “ก้อนกรวด”

การแพร่หลายของน้ำตาลค่อยๆ กว้างขวางออกไป ในศตวรรษที่ 10 มีศูนย์กลางอยู่ที่ดินแดนเมดิเตอร์เรเนียนของชาวมุสลิมและยังแผ่ขยายไปไกลถึงจีนซึ่งอยู่ทางตะวันออกและแม้แต่ยุโรปซึ่งอยู่ทางทิศเหนือ มาร์โค โปโล เดินทางไปเยือนอาณาจักรของกุบไลข่านในทศวรรษ 1280 เขาบันทึกไว้ว่าถึงแม้ชาวจีนจะรู้จักวิธีปลูกอ้อยและผลิตน้ำตาลทรายแดงมานานกว่าพันปี แต่ “ชาวอียิปต์ผู้หนึ่งซึ่งอยู่ในราชสำนักของข่าน” เป็นผู้แจกแจงการผลิตน้ำตาลสีขาวโพลนอันเป็นที่ปรารถนาของคนมากมาย

ในทศวรรษที่ 1095 ช่วงการเกิดสงครามครูเสด ชาวคริสเตียนเป็นฝ่ายพ่ายแพ้สงครามในดินแดนอันศักดิ์สิทธิ์ เพราะพวกเขาไม่สามารถครอบครองดินแดนซึ่งยึดมาจากชาวมุสลิมไว้ได้นาน แต่ชาวคริสเตียนก็ครอบครองหมู่เกาะอุดมสมบูรณ์แถบเมดิเตอร์เรเนียนเอาไว้ได้ เช่น เกาะซิซิลี ไซปรัส และโรดส์ ที่นั่นพวกเขาเริ่มใช้ทักษะต่างๆ ที่เรียนรู้มาจากชาวมุสลิม เช่น การปลูกอ้อยและการกลั่นน้ำตาลซึ่งถือว่าเป็นความรู้อันมีค่า

แม้ว่าการปลูกอ้อยจะไม่ใช่เรื่องยาก แต่ชาวไร่ที่มีแผนผลิตน้ำตาลเองกับต้องเผชิญกับการท้าทายที่ไม่ธรรมดา นั่นคือเรื่องเวลาและเรื่องไฟ เพราะหากตัดอ้อยแล้วไม่นำไปต้มทันทีภายใน 48 ชั่วโมง น้ำหวานมากมายที่อยู่ภายในจะเริ่มแข็งตัวและซึมเข้าซัง อ้อยที่สุมอยู่เป็นกองมีแต่ขาดทุน มันจะเริ่มทำเงินให้ก็ต่อเมื่อนำไปทำเป็นน้ำตาล หนทางเดียวที่จะผลิตน้ำตาลให้ได้มากๆ ก็คือการจัดระบบกสิกรรมน้ำตาลที่คล้ายกับระบบโรงงาน กล่าวคือเป็นที่ซึ่งคนต้องทำตามทุกขั้นตอนให้ถูกต้อง ทันเวลา และต่อเนื่องกัน

ชาวมุสลิมเป็นคนกลุ่มแรกที่คิดวิธีการทำกสิกรรมแบบใหม่ขึ้นมาเพื่อจัดการกับน้ำตาล ซึ่งต่อมาเรียกว่าไร่อ้อยนั่นเอง การทำไร่ขนาดใหญ่ไม่ใช่เทคโนโลยีแปลกใหม่อะไร แต่เป็นวิธีการจัดการบริหารไร่ การปลูก ตัด และยกระดับให้พืชผลดีขึ้นมากกว่า ในไร่จะมีคนงานเป็นจำนวนมาก ระหว่างห้าสิบถึงหลายร้อยคน การทำงานทุกขั้นตอนจะมีการควบคุมอย่างเข้มงวดกวดขันมาก ทั้งชาวคริสเตียนและมุสลิมทดลองใช้ทาสของพวกเขาทำงานในไร่ เริ่มแรกทาสจำนวนมากที่ทำงานในไร่อ้อยแถบเมดิเตอร์เรเนียนเป็นชาวรัสเซีย หรือเป็นใครก็ตามที่ถูกจับมาในระหว่างสงคราม

ศตวรรษที่ 15 เป็นช่วงเวลาที่สเปนและโปรตุเกสแข่งขันกันสำรวจชายฝั่งแอฟริกา และแข่งกันหาเส้นทางทะเลเพื่อไปยังภูมิภาคเอเชีย ในระหว่างนั้นคนเรือทั้งชาวสเปนและโปรตุเกสได้สร้างไร่อ้อยแบบชาวมุสลิมขึ้นมาบนเกาะที่พวกเขาเข้ายึดได้ โดยใช้แรงงานทาสที่ซื้อมาจากทวีปแอฟริกาทำงานให้ หลังจากนั้นก็ได้นำต้นอ้อยติดไปกับเรือด้วย เช่นเดียวกับที่โคลัมบัสนำต้นอ้อยไปยังฮิสแปนิโอลา(ปัจจุบันคือเฮติและสาธารณรัฐโดมินิกัน)

ในปี 1493 เมื่อต้นอ้อยที่โคลัมบัสนำมาปลูกได้แพร่กระจายไปทั่วเกาะ ชาวยุโรปจำนวนมากเห็นการปลูกอ้อยในดินแดนโลกใหม่โดยใช้แรงงานทาสเป็นหนทางสู่ความร่ำรวยมหาศาล จึงกลายเป็นต้นกำเนิดของอุตสาหกรรมไร่อ้อยซึ่งเริ่มเฟื่องฟูขึ้นที่ฮิสแปนิโอลาเป็นแห่งแรก รู้จักกันว่ายุค “ตื่นทองคำขาว” ซึ่งเป็นยุคของการตักตวงเงินทองมหาศาลจากน้ำตาล ในขณะเดียวกันก็เป็นยุคที่มาพร้อมกับการค้า “ทาส” ครั้งสำคัญของโลกด้วย  (อ่านต่อตอนที่ 2)

เก็บความจาก

หนังสือเรื่อง “น้ำตาลเปลี่ยนโลก” Sugar Changed the World,  Marc Aronson และ Marina Budhos เขียน วิลาสีนี เดอเบส แปล, น้ำตาลเปลี่ยนโลก Sugar Changed the World, สำนักพิมพ์มติชน, 2555 

ขอบคุณภาพจาก

http://www.matichonbook.com/index.php/history/sugar-changed-the-world.html

http://www.bpl.co.th/pweb/index.php/academic-professional/academic-articles/97-2013-10-28-07-18-06.html