ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เตือนหน้าร้อนเสี่ยงเกิดโรคติดต่อจากน้ำและอาหาร แนะประชาชนให้ความสำคัญทุกขั้นตอน ตั้งแต่การเลือกซื้อจนถึงการปรุงการเก็บอย่างถูกสุขลักษณะพร้อมให้ยึดหลัก "กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ” ลดเสี่ยงจากท้องร่วงและอาหารเป็นพิษ

นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยถึงปัญหาสุขภาพที่ต้องระวังในหน้าร้อนว่าช่วงหน้าร้อน อุณหภูมิโดยทั่วไปจะสูงประมาณ 35-40 องศาเซลเซียส ซึ่งเหมาะสมกับการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์เช่นแบคทีเรียไวรัสทำให้จุลินทรีย์ดังกล่าวขยายตัวเพิ่มปริมาณขึ้นอย่างรวดเร็วหากปนเปื้อนอยู่ในอาหารก็จะทำให้บูดเสียง่าย ก่อให้เกิดโรคติดต่อจากอาหารและน้ำได้แก่ โรคท้องร่วง โรคอาหารเป็นพิษ โรคบิด โรคไทฟอยด์และอหิวาตกโรคจากรายงานการเฝ้าระวังโรคของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม 2557 ที่ผ่านมา พบผู้ป่วยกว่า 250,000 ราย จาก 77 จังหวัด โดยกลุ่มอายุที่พบมากที่สุด คือ อายุ 1 ปี รองลงมาคือ อายุมากกว่า 65 ปี และอายุระหว่าง 15-24 ปี ตามลำดับ

ภาคที่มีอัตราป่วยสูงสุด คือ ภาคเหนือ รองลงมาคือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง ตามลำดับประชาชนจึงควรเลือกซื้ออาหารจากแหล่งที่มีความน่าเชื่อถือได้รับการรับรองจากหน่วยงานราชการ เช่น ตลาดสดน่าซื้อ ตลาดนัดน่าซื้อ หรือร้านอาหาร แผงลอย ที่ได้มาตรฐานอาหารสะอาด รสชาติอร่อย (Clean Food Good Taste) เลือกเนื้อสัตว์ อาหารทะเลที่สด ไม่มีสีและกลิ่นผิดปกติ เก็บในอุณหภูมิไม่เกิน 5 องศา-เซลเซียส สำหรับผู้ที่ซื้อจากรถเร่จำหน่ายอาหารหรือรถพุ่มพวง ต้องใส่ใจเป็นพิเศษ เนื่องจากอาหารที่จำหน่ายในรถเร่นั้นมีการจัดเก็บที่ไม่ถูกต้องโดยเฉพาะเนื้อสัตว์ และอาหารทะเลส่วนมากจะแช่น้ำแข็งในตู้แช่ซึ่งอุณหภูมิไม่เพียงพอ ทำให้เน่าเสียง่าย ส่วนอาหารปรุงสำเร็จที่บรรจุใส่ถุงพลาสติกไว้ หากสังเกตว่ามีฟองก๊าซเกิดขึ้นในถุงไม่ควรซื้อ หลีกเลี่ยงอาหาร ขนม ที่มีส่วนผสมของกะทิ เนื่องจากบูดเสียได้ง่าย

นพ.พรเทพ กล่าวต่อไปว่า อาหารสดก่อนนำมาปรุงประกอบควรล้างทำความสะอาดด้วยน้ำเปล่า 2-3 ครั้ง หากเป็นเนื้อสัตว์ อาหารทะเล ควรล้างด้วยเกลือเพื่อลดกลิ่นคาว ผัก ผลไม้ ควรล้างด้วยน้ำเปล่า 1 ครั้ง จากนั้นจากนั้นนำมาแช่ในน้ำผสมเกลือ อัตราส่วน 2 ช้อนโต๊ะต่อน้ำ 4 ลิตร หรือน้ำส้มสายชู อัตราส่วนครึ่งถ้วยตวงต่อน้ำ 4 ลิตร หรือโซเดียมไบคาร์บอนเนตหรือเบคกิ้งโซดา อัตราส่วน 1 ช้อนโต๊ะต่อน้ำ 4 ลิตร แช่ทิ้งไว้ 15-30 นาที จากนั้นล้างด้วยน้ำเปล่าอีก 2 ครั้ง สำหรับผักกาด กะหล่ำปลี ควรคลี่ใบและล้างให้สะอาด ควรปรุงอาหารให้สุกด้วยความร้อนอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะเนื้อสัตว์ และอาหารทะเล ไม่ควรปรุงแบบสุกๆดิบๆผู้ปรุงต้องสวมผ้ากันเปื้อน หมวกคลุมผม ตัดเล็บสั้น ล้างมือก่อนปรุงอาหารและหลังเข้าห้องส้วม ที่สำคัญต้องใช้อุปกรณ์หยิบจับอาหารหรือสวมถุงมือในการหยิบจับอาหาร โดยเฉพาะอาหารที่ผู้ปรุงมักจะใช้มือสัมผัสในระหว่างการปรุง เช่น ข้าวมันไก่ ข้าวหมูแดง ข้าวหมูกรอบ ขนมจีน เป็นต้น

สำหรับอาหารสดจำพวกเนื้อสัตว์ อาหารทะเล เมื่อล้างทำความสะอาดแล้ว ยังไม่นำมาปรุงทันทีต้องเก็บในตู้เย็นที่อุณหภูมิไม่เกิน 5 องศาเซลเซียส ส่วนอาหารปรุงสำเร็จที่รอรับประทานหรือรอจำหน่ายต้องใส่ในภาชนะที่ปลอดภัย มีการปกปิด วางสูงจากพื้นอย่างน้อย 60 เซนติเมตร หากระยะเวลาจำหน่ายนานมากควรนำมาอุ่นทุกๆ 4 ชั่วโมง ส่วนอาหารปรุงสำเร็จที่ซื้อมารับประทานหากไม่รับประทานทันทีควรเก็บในตู้เย็นที่อุณหภูมิไม่เกิน 5 องศาเซลเซียสเช่นกัน

"ทั้งนี้ การรับประทานอาหารทุกครั้งควรยึดหลักกินร้อนช้อนกลางล้างมือหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารสุกๆ ดิบๆ เช่น ลาบ น้ำตก ก้อย ซึ่งเป็นอาหารพื้นบ้านทางภาคอีสาน หรือ หลู้ ส้า อาหารพื้นบ้านทางภาคเหนือ รวมถึงเมนูที่นิยมรับประทานอย่างแพร่หลาย เช่น กุ้งเต้น พล่าปลา กุ้งแช่น้ำปลา ยำหอยแครง อาหารทะเลปิ้งย่าง เป็นต้น และหากจะรับประทานอาหารที่เก็บไว้ในตู้เย็นอาหารที่ทำไว้นานเกิน 4 ชั่วโมงหรือเก็บไว้ค้างคืน ต้องนำมาอุ่นให้เดือดด้วยความร้อนอย่างทั่วถึงก่อน ส่วนน้ำดื่ม ควรต้มสุกหรือดื่มน้ำที่บรรจุขวดที่ได้มาตรฐานน้ำบริโภค น้ำแข็งต้องเป็นน้ำแข็งที่ผลิตเพื่อการบริโภคและได้มาตรฐานรับรองเท่านั้น นอกจากนี้หากรับประทานอาหารร่วมกันควรใช้ช้อนกลางและก่อนรับประทานอาหารและหลังเข้าห้องส้วมต้องล้างมือด้วยน้ำและสบู่ให้สะอาดทุกครั้งเพื่อลดสื่อนำโรคติดต่อจากอาหารและน้ำ” อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด