ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อย.จัดงานรณรงค์โครงการ “ชั่งใจก่อนใช้ยา...สเตียรอยด์” ประเดิมจัดกิจกรรมนำร่องที่ จ.เชียงใหม่ ภายใต้ชื่องาน “ใช้ผิด ชีวิตจบ” ก่อนขยายสู่พื้นที่ภาคอีสาน ผนึกกำลังร่วมกับสสจ.ทั่วประเทศ พร้อมดึง อสม. บุคลากรสาธารณสุขระดับปฐมภูมิ เข้าร่วม มุ่งหวังลดปัญหาความเจ็บป่วย การสูญเสียเงินทองจากอันตรายจากสารสเตียรอยด์ ผู้บริโภคชาวไทยมีสุขภาพที่ดี ย้ำชัด อย. จะบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องป้องกันและแก้ไขปัญหาสุขภาพ จากการใช้สารสเตียรอยด์ที่ไม่เหมาะสม อย่างยั่งยืนต่อไป

วันนี้ (23 ก.พ.58) ณ หอประชุมทองกวาว มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดโครงการ “ชั่งใจก่อนใช้ยา...สเตียรอยด์" ภายใต้ชื่องาน “ใช้ผิด ชีวิตจบ” ว่า จากนโยบาย ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ต่อการสร้างความเข้มแข็งของระบบการติดตามเฝ้าระวังและการบังคับใช้กฎหมายภายหลังผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาด รวมทั้งการจัดการปัญหาการโฆษณานั้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้สนองนโยบายดังกล่าว ประกอบกับมีความห่วงใยสุขภาพและความปลอดภัยของประชาชน โดยเฉพาะพฤติกรรมการใช้ยาที่ไม่เหมาะสมและหลงเชื่อโฆษณาโอ้อวดเกินจริงจากสถิติการผลิต-นำเข้า สารสเตียรอยด์ มาใช้ในประเทศไทยในแต่ละปี เทียบกับความจำเป็นในการใช้ยาของผู้ป่วย บ่งบอกถึงมีการรั่วไหลของสารสเตียรอยด์จำนวนหนึ่งออกนอกระบบการบริการสาธารณสุข ไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม โดยจัดเป็นยาชุดหรือผสมเข้าไปในยาลูกกลอน ยาแผนโบราณ ที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา รวมถึงเครื่องดื่มสมุนไพรที่ผลิตอย่างผิดกฎหมาย เป็นต้น

เนื่องจากสารสเตียรอยด์เป็นยาที่ออกฤทธิ์โดยให้อาการของโรค รู้สึกดีขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงทำให้มีพ่อค้าหัวใสลักลอบนำไปใช้ในทางที่ผิด โดยนำสารสเตียรอยด์ โดยเฉพาะ เดกซาเมทาโซนและเพรดนิโซโลน มาลักลอบผสม ร่วมกับการโฆษณาชวนเชื่อหรือขายตรง ส่งผลให้ประชาชนจำนวนมากในทุกภาคของประเทศได้รับสารสเตียรอยด์โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เกิดปัญหาร้ายแรงต่อสุขภาพจนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจากอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ เช่น เกิดแผลในกระเพาะอาหารหรือลำไส้รุนแรงอาจถึงขั้นทะลุ กระดูกพรุนแตกหักง่าย กดภูมิคุ้มกันของร่างกายและติดเชื้อรุนแรง เป็นต้น ซึ่งการหยุดยาทันทีโดยไม่ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร อาจทำให้มีอาการขาดยา ความดันเลือดต่ำ หมดสติ และเสียชีวิตได้

ดังนั้น เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว อย. จึงได้พัฒนาระบบและกลไกในการควบคุมดูแล สารสเตียรอยด์ตั้งแต่การนำเข้า ผลิต และการจำหน่าย แต่สิ่งสำคัญเพื่อป้องกันมิให้เกิดปัญหาหรือผลกระทบจากการใช้สเตียรอยด์ หรือเกิดเพิ่มขึ้นอีก ในปี 2558 นี้ อย. จึงได้จัดกิจกรรมรณรงค์โครงการ “ชั่งใจก่อนใช้ยา...สเตียรอยด์” ขึ้น โดยนำร่องจัดครั้งแรกที่ภาคเหนือ ในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ โดยมีกลุ่มเป้าหมายหลักคือ อสม. และบุคลากรสาธารณสุขระดับปฐมภูมิเพื่อเป็นการติดอาวุธทางปัญญาให้แก่ผู้บริโภคในชุมชนให้มีความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับสาร สเตียรอยด์ โดยไม่ซื้อสเตียรอยด์หรือผลิตภัณฑ์ที่คาดว่าลักลอบผสมสารสเตียรอยด์มาใช้เอง และตระหนักถึงอันตรายที่เกิดขึ้นหากใช้อย่างไม่เหมาะสม ภายในงานประกอบด้วยการเสวนาในหัวข้อ “ผลกระทบและพฤติกรรมการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ลักลอบใส่สารสเตียรอยด์” มีการเจาะใจประสบการณ์ตรงจากกรณี (เคส) ที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่รวมทั้งแพทย์เจ้าของกรณี (เคส) ในพื้นที่มาบอกเล่าถึงข้อดีข้อเสียและโรคที่เกิดจากการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ลักลอบใส่สารสเตียรอยด์

พร้อมกับการเสวนาในหัวข้อ “นโยบายและมาตรการในการควบคุมการใช้ยาสเตียรอยด์และทางเลือกในการใช้ยา สเตียรอยด์” นอกจากนั้นยังมีการบริการตรวจหาสารสเตียรอยด์ในผลิตภัณฑ์ยาและอาหารจากชุดทดสอบ บอร์ดนิทรรศการให้ความรู้ การแสดงละครสั้น การเล่นเกมรับของที่ระลึกจากโครงการ

นพ.บุญชัย กล่าวต่อว่า สำหรับกิจกรรมรณรงค์โครงการชั่งใจก่อนใช้ยาสเตียรอยด์นี้ อย. ตั้งใจที่จะดึง อสม.และบุคลากรสาธารณสุขระดับปฐมภูมิ เข้าร่วมงาน เพื่อเป็นตัวกลางในการถ่ายทอดและนำข้อมูลความรู้ที่ได้รับจากกิจกรรมดังกล่าวไปถ่ายทอดให้กับชุมชนที่อยู่ในท้องถิ่นทั่วทุกพื้นที่ ทุกหมู่บ้าน ทุกตำบล ทุกอำเภอ ให้ได้รับข่าวสารที่เป็นประโยชน์ สามารถปกป้องตนเองจากการใช้ยาหรือผลิตภัณฑ์สุขภาพอื่นที่ลักลอบผสมสเตียรอยด์ ไม่หลงเชื่อพ่อค้ารถเร่ขายยาอีกต่อไป ให้เป็นชุมชนปลอดสเตียรอยด์ ทำให้เกิดสุขภาพที่ดีและลดปัญหาความเจ็บป่วยอันเกิดจากการบริโภคผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ลักลอบผสมสารสเตียรอยด์

นอกจากนี้ในเดือนมีนาคม 2558 อย. จะเดินหน้าลงพื้นที่ภาคอีสาน ณ จ.ขอนแก่น ในการรณรงค์โครงการชั่งใจก่อนใช้ยา...สเตียรอยด์ อีกด้วย เพื่อให้เข้าถึงครอบคลุมทุกพื้นที่ในประเทศไทยให้มากที่สุด ที่สำคัญ อย. ยังบูรณาการดำเนินงานร่วมกับทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาคราชการ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด องค์กรทางศาสนา องค์กรวิชาชีพ หน่วยบริการสุขภาพ ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม ภาคประชาชน และสื่อมวลชน ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาสุขภาพจากการใช้สเตียรอยด์อย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม ร่วมกันสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายด้านการผลิต จำหน่าย และใช้ยา รวมทั้งตระหนักถึงอันตรายจากการใช้สเตียรอยด์ เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย อันจะทำให้คนไทยทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ในที่สุด