ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมควบคุมโรค เผยเตรียมนำวัคซีนใหม่ 2 ชนิด คือ วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก และวัคซีนโปลิโอชนิดฉีด มาให้บริการแก่เด็กไทย เผยมะเร็งปากมดลูกคร่าชีวิตผู้หญิงไทยปีละประมาณ 5,000 ราย และมีผู้ป่วยรายใหม่ปีละกว่า 10,000 ราย ส่วนโปลิโอ แม้ไม่พบผู้ป่วยโปลิโอในไทย 17 ปีแล้ว แต่การนำวัคซีนแบบฉีดมาใช้ จะเป็นก้าวสำคัญกวาดล้างโปลิโอร่วมกับประเทศต่างๆ ทั่วโลก และสร้างภูมิคุ้มกันให้เด็กไทยปลอดภัยจากเชื้อโปลิโอที่อาจนำเข้ามาจากประเทศที่ยังมีการระบาดได้

นพ.โสภณ เมฆธน

วันนี้ (23 กุมภาพันธ์ 2558) นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากที่ประชุมคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค  เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2558 ที่ผ่านมา ที่ประชุมได้พิจารณาประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการนำวัคซีนชนิดใหม่มาให้บริการแก่เด็กไทย โดยผลการประชุมมีข้อแนะนำในประเด็นสำคัญ 2 ด้าน ได้แก่ ด้านที่ 1 คณะอนุกรรมการฯ เห็นชอบแนวทางการตัดสินใจของประเทศในการนำวัคซีนใหม่มาใช้ในประชาชนวงกว้าง ซึ่งแนวทางนี้เป็นนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน ที่ต้องการให้ประเทศไทยมีแนวทางการตัดสินใจในการนำวัคซีนใหม่มาใช้ โดยพิจารณาประเด็นที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน เพื่อประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน ให้มีวัคซีนที่ดี มีความปลอดภัยใช้อย่างทั่วถึง เท่าเทียม โดยคำนึงถึงความมั่นคง ยั่งยืนของงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคในระยะยาวด้วย แนวทางการตัดสินใจนี้ เกิดจากการทำงานร่วมกันระหว่าง 3 หน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สถาบันวัคซีนแห่งชาติ (องค์การมหาชน) โดยกรมควบคุมโรค สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)

ด้านที่ 2 คณะอนุกรรมการฯ เห็นชอบให้นำวัคซีนชนิดใหม่มาใช้ในแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค 2 ชนิด คือ วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก (วัคซีนเอชพีวี) และวัคซีนโปลิโอชนิดฉีด ซึ่งวัคซีนเอชพีวีเป็นวัคซีนที่คณะอนุกรรมการฯ เห็นว่าควรนำมาใช้ในแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคโดยเร็ว เนื่องจากเป็นวัคซีนที่มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยสูง และเป็นเครื่องมือสำคัญร่วมกับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกในการลดปัญหามะเร็งปากมดลูกในหญิงไทย ซึ่งเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศ

นพ.โสภณ กล่าวต่อไปว่า กรมควบคุมโรค ได้เริ่มให้บริการวัคซีนเอชพีวีแก่นักเรียนหญิง ชั้น ป.5 ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตั้งแต่ พ.ศ.2557 เป็นต้นมา ผลการให้บริการในปีแรก พบว่า  ผู้ปกครอง เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและครู ให้ความยอมรับวัคซีนป้องกันเอชพีวีเป็นอย่างดี ความครอบคลุมการได้รับวัคซีนสูงกว่าร้อยละ 90 อีกทั้งยังไม่มีรายงานอาการภายหลังวัคซีนที่รุนแรง นอกจากนี้ ยังไม่พบว่าการให้วัคซีนดังกล่าวก่อให้เกิดผลกระทบต่อให้บริการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกในพื้นที่อีกด้วย  

เมื่อพิจารณาจากข้อมูลอย่างรอบด้าน คณะอนุกรรมการฯ มีความเห็นว่ารัฐบาลควรเร่งรัดจัดสรรงบประมาณและต่อรองราคาเพื่อให้เด็กไทยมีโอกาสได้รับวัคซีนป้องกันเอชพีวี เพื่อลดปัญหามะเร็งปากมดลูกในอนาคต ทั้งนี้ในปัจจุบันมะเร็งปากมดลูกได้คร่าชีวิตผู้หญิงไทยมากถึงปีละประมาณ 5,000 ราย และมีผู้ป่วยรายใหม่ปีละกว่า 10,000 ราย นับเป็นมะเร็งที่พบบ่อยเป็นอันดับต้นๆ ในหญิงไทย การให้วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกจะช่วยลดความสูญเสียชีวิตอีกทางหนึ่งนอกเหนือจากการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกที่มีการตรวจอย่างแพร่หลายในปัจจุบันอีกด้วย

นพ.โสภณ กล่าวต่ออีกว่า วัคซีนอีกชนิดหนึ่งที่คณะอนุกรรมการฯ แนะนำให้นำมาใช้ในแผนงานฯ คือวัคซีนโปลิโอชนิดฉีด ทั้งนี้ ประเทศไทยมีพันธะสัญญาร่วมกับนานาประเทศในการร่วมกันกวาดล้างโรคโปลิโอให้หมดไปจากโลก ซึ่งในอดีตประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตและพิการแขนขาลีบจากเชื้อโปลิโอเป็นจำนวนมาก และมีการระบาดเป็นระยะ แต่ในปัจจุบัน ประเทศไทยควบคุมป้องกันโรคได้ผลดี ทำให้ไม่พบผู้ป่วยโปลิโอในประเทศไทยมานานกว่า 17 ปีแล้ว การนำวัคซีนโปลิโอชนิดฉีดมาใช้ร่วมกับวัคซีนโปลิโอชนิดรับประทาน จะเป็นก้าวย่างสำคัญที่ประเทศไทยจะก้าวสู่ความสำเร็จอีกขั้นหนึ่งในการกวาดล้างโปลิโอร่วมกับประเทศต่างๆ ทั่วโลก และจะเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้เด็กไทยปลอดภัยจากเชื้อโปลิโอที่อาจนำเข้ามาจากประเทศที่ยังมีการระบาด

นอกจากนี้  คณะอนุกรรมการฯ  มีข้อแนะนำว่าควรให้บริการวัคซีนโปลิโอชนิดฉีด จำนวนสองเข็ม เมื่อเด็กอายุ 2 และ 4 เดือน แล้วใช้วัคซีนโปลิโอชนิดรับประทานต่อจนครบ โดยควรเริ่มให้บริการดังกล่าวภายใน พ.ศ. 2558 เพื่อให้สอดคล้องกับแผนการดำเนินการกำจัดกวาดล้างโรคโปลิโอในระดับนานาชาติ ตามข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลก หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่กลุ่มโรคติดต่อที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน สำนักโรคติดต่อทั่วไป โทร 02 590 3196-9 หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422