ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นพ.สมศักดิ์ เตรียมเสนอกลุ่มคนไร้สถานะได้รับสิทธิรักษาพยาบาลตามมติ ครม. 23 มี.ค.53 ตามตัวเลขที่เครือข่ายชนเผ่า และ 37 องค์กรสาธารณสุขเสนอ ส่วนจะเสนอแยกกับแผนยุทธศาสตร์หรือไม่ ขอปรึกษารองนายกฯที่เกี่ยวข้องก่อน ถ้าเสนอแยกได้ จะดำเนินการทันที คาดใช้เวลาดำเนินการ 1 เดือน 

เมื่อวันที่ 23 ก.พ. 58 ที่กระทรวงสาธารณสุข จังหวัดนนทบุรี นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประชุมหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในและนอกกระทรวงสาธารณสุข อาทิ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย สภาความมั่นคงแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ สปสช. สำนักงานเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย โครงการพัฒนาระบบและบริการสุขภาพสำหรับผู้มีปัญหาสถานะบุคคลและสิทธิ์ ผู้แทนโรงพยาบาลตามแนวชายแดนและโรงพยาบาลในพื้นที่สูงในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ตาก น่าน สระแก้ว ประจวบคีรีขันธ์ และองค์กรเอกชน อาทิ มูลนิธิชุมชนไท มูลนิธิพัฒนาชุมชนเขตภูเขา เพื่อหารือการผลักดันเชิงยุทธ์ศาสตร์การจัดการสถานะและสิทธิในบริการสาธารณสุขของบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติ          

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดทำร่างยุทธศาสตร์ของกระทรวงฯ เพื่อแก้ไขปัญหาการจัดบริการประชาชนในกลุ่มที่ยังมีปัญหาเรื่องสถานะและสิทธิในบริการสาธารณสุข โดยในวันนี้ ได้พิจารณาร่างยุทธศาสตร์ทั้ง 4 ประเด็น ได้แก่ การจัดการหลักประกันสุขภาพบนแผ่นดินไทย การแก้ไขปัญหาการเงินการคลังของโรงพยาบาลจากการบริการคนไร้รัฐของกระทรวงสาธารณสุข การป้องกันและแก้ไขปัญหาคนไร้รัฐและไร้หลักประกันสุขภาพอย่างครบวงจร และการจัดการปัญหาสาธารณสุขชายแดนเพื่อให้ได้ความชัดเจน ซึ่งยุทธศาสตร์นี้จะช่วยให้นานาชาติได้เห็นความตั้งใจของประเทศไทยในการดูแลสุขภาพ ยกฐานะเรื่องสิทธิมนุษยชน และแสดงถึงความพยายามในการจัดการปัญหาเรื่องการค้ามนุษย์ด้วย

นพ.สมศักดิ์ กล่าวต่อว่า ผลการหารือในประเด็นการจัดการหลักประกันสุขภาพฯ ที่ประชุมได้พิจารณาข้อเสนอการขยายกลุ่มบุคคลที่จะให้ได้รับสิทธิในหลักประกันสุขภาพเพิ่มเติม ซึ่งมี 3 กลุ่มที่ข้อมูลค่อนข้างชัดเจน จำนวน 208,631 ได้แก่ 1.ชนกลุ่มน้อยที่อพยพเข้ามาในประเทศไทย ซึ่งเป็นกระทรวงมหาดไทยขึ้นทะเบียนไว้แล้วจำนวน 150,076 คน 2.บุตรของบุคคลกลุ่มที่ 1 ที่ได้รับการแจ้งเกิด จำนวน 56,672 คน 3.บุคคลอื่นๆ ที่ได้รับการสำรวจและจัดทำทะเบียนแล้ว เช่น บุคคลที่ขึ้นทะเบียนไว้ตามโครงการเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษาฯ จำนวน 1,883 คน ส่วนกลุ่มที่ 4 คือ กลุ่มนักเรียน นักศึกษาที่กระทรวงศึกษาธิการได้ขึ้นทะเบียนและให้สิทธิ์การศึกษาแล้ว อยู่ระหว่างรอขึ้นทะเบียนให้มีเลข 13 หลัก จำนวน 76,540 คนนั้น ต้องมีการสำรวจข้อมูลให้ชัดเจนอีกครั้ง รวมถึงกลุ่มที่ยังไม่มีชื่อในระบบทะเบียนราษฎร มีแนวคิดให้กระทรวงสาธารณสุขสำรวจเพื่อขึ้นทะเบียนชั่วคราว และหารือกับหน่วยงานที่ข้องวางแผนจัดระบบในการขึ้นทะเบียนให้ถูกต้องต่อไป

“ส่วนข้อเสนอที่จะให้มีการเสนอเพิ่มกลุ่มคนไร้สถานะดังกล่าวเข้าไปในกองทุนคืนสิทธิ์ โดยเสนอแยกกับแผนยุทธสาสตร์นั้น โดยหลักการเห็นด้วยกับแนวทางนี้ แต่ผมในฐานะของฝ่ายนโยบายจะขอไปปรึกษากับผู้ที่เกี่ยวข้องก่อนว่า เรื่องนี้ควรเสนอแยกหรือเสนอรวม เนื่องจาก ครม.อาจมีการมองว่าเป็นเรื่องเดียวกัน ทำไมไม่เสนอรวมกัน แต่ถ้าเสนอแยกได้ก็จะเสนอแยก เพื่อให้กลุ่มคนไร้สถานะ 3 กลุ่มนี้ ได้รับสิทธิการรักษาพยาบาลโดยเร็วที่สุด และคาดว่ากระบวนการทั้งหมดจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือน” นพ.สมศักดิ์ กล่าว

สำหรับยุทธศาสตร์แก้ไขปัญหาวิกฤตการคลังของโรงพยาบาลจากการบริการคนไร้รัฐไร้สัญชาติ เพื่อแก้ปัญหาให้โรงพยาบาล ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงพยาบาลแนวชายแดน ที่ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาพยาบาลผู้ที่ยังตกหล่นจากสิทธิหลักประกันสุขภาพ คนกลุ่มนี้ ได้แก่ ผู้ที่มีถิ่นฐานถาวรบนแผ่นดินไทยแต่ไม่มีสิทธิ์ หรือเป็นคนที่ไม่มีถิ่นฐานถาวรในไทยแต่ข้ามพรมแดนไปมา และแรงงานต่างด้าวที่ตกหล่นจากการซื้อบัตรประกันสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข ส่วนใหญ่ฐานะยากจน มีแนวคิดให้โรงพยาบาลเก็บข้อมูลเพื่อเบิกจ่ายงบประมาณตามจริง และการตั้งงบประมาณด้านการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค บรรเทาภาระของโรงพยาบาล ผลสรุปจากการประชุมครั้งนี้ จะเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อหารือผู้บริหารกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ได้แนวทางที่ดีและเหมาะสมอย่างรวดเร็วที่สุด เพื่อเสนอครม.พิจารณาโดยเร่งด่วนต่อไป