ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช.แก้ปัญหา “โรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี” ร่วม อปท. ตั้ง “คณะทำงานฯ” ประสาน อปท. สร้างความตระหนัก ปรับพฤติกรรม ลดความเสี่ยงเกิดโรค เผยแต่ละปีมีผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดี 1.4 หมื่นรายต่อปี ภาคอีสานพบมากที่สุด ร้อยละ 60 ของผู้ป่วยทั้งหมด    

นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ภารกิจสำคัญของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นอกจากช่วยให้ประชาชนผู้มีสิทธิระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเข้าถึงการรักษาแล้ว การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคเป็นอีกภารกิจหนึ่งที่สำคัญ ซึ่ง สปสช.ได้ให้การสนับสนุนและประสานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ผ่านกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่น (กองทุนสุขภาพตำบล) อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา เน้นการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในเชิงรุก โดยเฉพาะกลุ่มโรคที่เป็นปัญหาต่อสุขภาพประชาชน ซึ่งในปี 2557 นี้ สปสช.ได้สนับสนุนงบประมาณกองทุนสุขภาพตำบลที่ 45 บาทต่อประชากร

นพ.วินัย กล่าวว่า “โรคพยาธิใบไม้ตับ” เป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญด้านสาธารณสุขประเทศไทย โดยเฉพาะในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบผู้ป่วยถึงร้อยละ 60 ของจำนวนผู้ป่วยโรคพยาธิใบไม้ตับ และโรคนี้ยังเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งท่อน้ำดี ซึ่งที่ผ่านมามีรายงานพบผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดีรายใหม่เฉลี่ย 14,000 คนต่อปี จำเป็นต้องมีการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อลดจำนวนผู้ป่วย ดังนั้น บอร์ด สปสช.จึงเห็นควรให้มีการแต่งตั้ง “คณะทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี” ร่วมกับท้องถิ่น ตามที่คณะอนุกรรมการบริหารยุทธศาสตร์นำเสนอ

ด้าน นพ.จรัล ตฤณวุฒิพงษ์ ในฐานะประธานคณะทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี กล่าวว่า จากการนำเสนอข้อมูลสถิติโรคมะเร็งชนิดต่างๆ ของโรงพยาบาลศรีนครินทร์ ระหว่างปี 2545-2552 โดย ผศ.ณรงค์ ขันตีแก้ว อาจารย์ประจำภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น พบว่าในจำนวนผู้ป่วยมะเร็งตับ ร้อยละ 80 จะเป็นผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดี แม้ว่าจะรักษาให้หายขาดได้ แต่มีจำนวนที่น้อยมาก เนื่องจากผู้ป่วยเหล่านี้มักมาพบแพทย์ในช่วงที่มะเร็งอยู่ในระยะแพร่กระจาย ขณะเดียวกันในการรักษายังขาดแคลนบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง ส่งผลกต่อการรักษาผู้ป่วย

ทั้งนี้สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากผู้ติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับแบบซ้ำซาก เรื้อรัง ส่งผลให้ภาวะเนื้อเยื่อเกี่ยวพันรอบท่อน้ำดีหนาตัว (Periductal fibrosis) ทำให้เกิดมะเร็งท่อน้ำดี โดยกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เป็นคนอีสานโดยกำเนิด อายุ 40 ปีขึ้นไป มีประวัติติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับ มีพฤติกรรมกินปลาน้ำจืดที่มีเกล็ดแบบดิบๆ กินปลาร้าและของหมักดอง และมีญาติเป็นมะเร็งท่อน้ำดี

นพ.จรัล กล่าวว่า จากข้อมูลข้างต้นนี้จะเห็นว่า สาเหตุสำคัญของการเกิดโรคนี้เกิดจากพฤติกรรมการบริโภค จึงควรสนับสนุนให้ประชาชนในพื้นที่ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดปัจจัยและโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรค โดยใช้กลไกกองทุนสุขภาพตำบลส่งเสริมให้ อปท.มีส่วนร่วมทำให้ประชาชนเข้าใจและตระหนักต่อโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี นอกจากนี้ควรส่งเสริมให้ อปท.แต่ละพื้นที่สนับสนุนหน่วยบริการดำเนินการเพื่อคัดกรองและค้นหากลุ่มเสี่ยงเพื่อให้ได้รับการวินิจฉัยตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสในการรักษาให้กับผู้ป่วยได้