ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช.ประสาน 3 กองทุนรักษาพยาบาล-หน่วยบริการ รุกงานทะเบียนผู้มีสิทธิ คุ้มครองคนไทย โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เข้าถึงการรักษาต่อเนื่อง เผยปี 57 มีประชาชนเปลี่ยนสิทธิสู่บัตรทองร่วม 2 ล้านคน ทั้งจากสิทธิประกันสังคม-สวัสดิการข้าราชการ-ผู้มีสิทธิว่าง พร้อมขึ้นเด็กแรกเกิดขึ้นทะเบียนบัตรทอง 3.3 แสนราย ขณะที่ผู้มีสิทธิบัตรทองขอเปลี่ยนหน่วยบริการ 2.2 ล้านคน เพื่อความสะดวกรับการรักษา  

นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสข.) กล่าวว่า ในการรักษาพยาบาล โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง จำเป็นต้องได้รับการดูแลต่อเนื่องไม่ว่าจะอยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพใดก็ตาม ซึ่งถือเป็นภารกิจสำคัญของ สปสช.ในการดูแลประชาชนทั้งประเทศให้เข้าถึงการรักษาอย่างทั่วถึง ทั้งนี้แม้ว่าที่ผ่านมาประเทศไทยจะมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเพื่อรองรับผู้ป่วยที่ไม่มีระบบประกันสุขภาพใดแล้ว แต่ก็ยังมีผู้ป่วยไม่น้อยที่ประสบปัญหาการเข้าถึงรักษา สาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากระบบการขึ้นทะเบียนและการเปลี่ยนสิทธิรักษาพยาบาลที่ยังขาดความต่อเนื่อง รวมถึงความเหลื่อมล้ำด้านสิทธิประโยชน์การรักษาพยาบาลของแต่ละกองทุน

นพ.วินัย กล่าวว่า ด้วยเหตุนี้ที่ผ่านมา สปสช.จึงได้ร่วมกับหน่วยงานที่ดูแลระบบรักษาพยาบาล ทั้งกรมบัญชีกลาง และสำนักงานประกันสังคม เป็นต้น เพื่อดำเนินการดูแลผู้ป่วยเหล่านี้ให้ได้รับการรักษาที่ต่อเนื่อง โดยดำเนินงานภายใต้คณะกรรมการประสานความร่วมมือ 3 กองทุน ระหว่าง สปสช. สำนักงานประกันสังคม (สปส.)และกรมบัญชีกลาง ในการพัฒนาระบบบริการสาธารณสุข เพื่อบูรณาการทำงานร่วมกัน และจากข้อมูลลงทะเบียนผู้มีสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าปี 2557 พบว่า มีการลงทะเบียนเปลี่ยนสิทธิประกันสังคมเป็นระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 1,300,672 คน เปลี่ยนสิทธิจากสวัสดิการข้าราชการเป็นระบบหลักประกันสุขภาพถ้วหน้า 227,609 คน และลงทะเบียนจากสิทธิว่างอื่นๆ เป็นระบบ ได้แก่ กลุ่มคนที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ และ ทร.97,005 เป็นต้น จำนวน 326,940 คน

 “จากข้อมูลข้างต้นนี้สะท้อนให้เห็นว่า การเปลี่ยนสิทธิเพื่อเข้าสู่ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าทำให้มีประชาชนไทยเกือบ 2 ล้านคน ที่ได้รับการคุ้มครองด้านการรักษาพยาบาลอย่างต่อเนื่อง ในจำนวนนี้ยังไม่รวมถึงการเปลี่ยนสิทธิของผู้มีสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไปยังระบบกองทุนรักษาพยาบาลอื่นๆ อีก ทั้งหมดนี้เกิดจากการประสานความร่วมมือกันอย่างต่อเนื่องของ 3 กองทุนรักษาพยาบาล รวมไปถึงความร่วมมือจากหน่วยบริการในการทำหน้าที่รับขึ้นทะเบียนสิทธิระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่เป็นการช่วยคุ้มครองสิทธิประชาชน” เลขาธิการ สปสช. กล่าวและว่า นอกจากนี้คณะกรรมการประสานความร่วมมือ 3 กองทุนฯ ยังอยู่ระหว่างการเดินหน้าเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการรักษา ได้แก่ สิทธิประโยขน์การดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง การรักษาผู้ป่วยมะเร็ง และการบริหารจัดการกองทุนยากำพร้า /ยาบัญชี จ.2 ที่เข้าถึงยาก เป็นต้น

นพ.วินัย กล่าวต่อว่า นอกจากการขึ้นทะเบียนเพื่อเปลี่ยนสิทธิระบบรักษาพยาบาลแล้ว ในปี 2557 สปสช.ยังรับขึ้นทะเบียนเด็กแรกเกิดที่มีสิทธิระบบหลักประกันสุขภาพถ้วหน้า 333,069 คน ซึ่งเด็กแรกเกิดเหล่านี้จะได้รับการคุ้มครองด้านการรักษาพยาบาลตั้งแต่แรกเกิดทันที รวมไปถึงกรณีการขอเปลี่ยนหน่วยบริการเพื่อสะดวกต่อการรับบริการอีก 2,282,569 คน ซึ่งจากผลการดำเนินงานนี้ ส่งผลให้ปี 2557 มีประชากรที่ได้รับการคุ้มครองด้านการรักษาพยาบาลสิทธิระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าถึงกว่า 48 ล้านคน