ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นสพ.มติชน : ความไม่ลงรอยของผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ระหว่าง "ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน" รัฐมนตรีว่าการ สธ. กับ "นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์" ปลัด สธ.ซึ่งมีผลทำให้การขับเคลื่อนนโยบายและแผนงานด้านสาธารณสุขต่างๆ เป็นไปอย่างติดขัดและล่าช้า ต่อมามีกระแสข่าวว่า ศ.นพ.รัชตะได้เสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ให้โยกย้าย นพ.ณรงค์ออกจากตำแหน่ง แต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ขอเวลาให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน ล่าสุด "มติชน" ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ นพ.ณรงค์ถึงกระแสข่าวดังกล่าว

ก่อนหน้านี้มีปิดห้องปรับความเข้าใจกับ ศ.นพ.รัชตะ ?

ไม่มีอะไรครับ เป็นเพียงการพูดคุยทำความเข้าใจร่วมกัน เพื่อให้งานด้านสาธารณสุขเดินต่อไปได้

ผลการพูดคุยในวันนั้นได้ข้อสรุปหรือไม่ ?

จากการหารือ มีการเสนอการดำเนินงาน 4 เรื่อง ซึ่ง รมว.สธ.เห็นด้วยกับเรื่องที่ผมเสนอ คือ 1.เขตสุขภาพ 2.การเงินการคลัง 3.ธรรมาภิบาล และ 4.บุคลากร

เรื่องเขตสุขภาพจะทำอย่างไร ?

เรื่องสุขภาพมีการเดินหน้ามาตลอด จากนี้จะต้องเดินหน้าเต็มที่ ทั้งการกำหนดทิศทางเรื่องระบบบริการ อย่างให้ยาหลอดเลือด มีพื้นที่ไหนจะทำได้บ้าง และอยากให้เอาเงินมาสนับสนุนตามงานที่โรงพยาบาลทำจริงๆ ที่สำคัญเรื่องนี้ ครม.ก็เห็นชอบ เห็นได้จากมติอนุมัติเรื่องการจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ในระดับเขตสุขภาพ จากเดิมเป็นแค่การจัดซื้อยาเท่านั้น ซึ่ง ครม.ระบุว่าเขตสุขภาพในที่นี้คือเป็นเขตที่กระทรวงสาธารณสุขปรับ คือ เขตบริการกลุ่ม 4-5 จังหวัด เรื่องนี้ทั้ง ครม.และ รมว.สธ. และผมก็เห็นตรงกันหมด สำหรับเรื่องเขตสุขภาพนั้นจะต้องมีคณะกรรมการพัฒนากระทรวงสาธารณสุข ที่มี รมว.สธ.เป็นประธานมาเป็นส่วนกลาง ซึ่งในสมัยรัฐบาลที่แล้วเคยอนุมัติแล้ว แต่เมื่อยุบสภา จึงต้องเสนอในรัฐบาลใหม่อีก นอกจากนี้ต้องแบ่งเขตสุขภาพออกเป็น 3 ส่วน คือ 1.เขตบริการสุขภาพของ สธ. 2.คณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพเขต (อปสข.) หรือเรียกอีกอย่างว่า สปสช.เขต และ 3.เขตสุขภาพประชาชน โดยทั้งหมดต้องมาหารือร่วมกัน ซึ่งเรื่องเขตสุขภาพถือเป็นหัวใจสำคัญในการปฏิรูป

จะทำงานอย่างไรในเมื่อยังขัดแย้งกัน ?

ไม่ทราบว่าขัดแย้งแบบไหน เพราะจากที่ได้พูดคุยกันก็จะเดินหน้างานต่อไป อย่างเรื่องเขตสุขภาพ ผมคุยกับ รมว.สธ.แล้วว่าควรมีคณะกรรมการระดับเขตและคณะกรรมการอำนวยการเพื่อมาทำงานตรงนี้ หากเราเอาประชาชนเป็นที่ตั้งก็จบ เบื้องต้นเริ่มจากเขตบริการกับ อปสข. และประสานกับเขตสุขภาพประชาชน เพื่อให้มีการพูดคุยกันจริงๆ ว่า ในแต่ละพื้นที่มีปัญหาอย่างไร มาร่วมกันถกและแก้ปัญหากัน จริงๆ สธ.แค่เป็นจุดเริ่ม แต่ในอนาคตอาจมีความร่วมมือจากโรงเรียนแพทย์ด้วย

ด้านการเงินการคลังมีแผนอย่างไร ?

สำหรับเรื่องนี้ที่มีการเจรจาการบริหารจัดการงบประมาณปี 2558 ร่วมกันกับ สปสช. ต้องมาพูดคุยกันต่อว่าอะไรที่คิดตรงกันก็ทำต่อไปได้เลย อะไรที่ต้องคุยกันอีกก็ไปคุยกันเพื่อให้ได้ข้อยุติ

แล้วเรื่องธรรมาภิบาลในองค์กร ?

เรื่องธรรมาภิบาลนั้นจะต้องดำเนินการให้มีการตรวจสอบทั้งหมด ทั้งฝ่าย สธ. และฝ่าย สปสช.

พอตั้งคณะกรรมการตรวจสอบโรงพยาบาลขาดทุนท่านไม่เห็นด้วย ?

เรื่องนี้เป็นสิทธิที่ผมสามารถโต้แย้งได้ ซึ่งหากจะพูดต้องย้อนไปที่จุดเริ่มต้นว่า การตั้งคณะกรรมการชุดแรก ที่เกิดจากผมนำเสนอบอร์ด สปสช.ให้ตรวจสอบปัญหาโรงพยาบาลขาดทุน แต่กลับตั้งคณะกรรมการตรวจสอบโรงพยาบาลขาดทุน ซึ่งไม่ใช่ มันต้องตั้งว่าเงินทองเป็นอย่างไร ดังนั้นผมจึงเห็นว่าชุดแรกยังไม่ตรงประเด็น ส่วนการตั้งคณะกรรมการชุดที่ 2 นั้น คนที่มาเป็นประธาน เคยเป็นประธานคณะอนุกรรมการการเงินการคลังของบอร์ด สปสช.ในช่วงหนึ่ง และเกี่ยวข้องกับการวางหลักเกณฑ์ ผมก็มีสิทธิแย้ง ส่วนอำนาจในการวินิจฉัยนั้นก็ขึ้นอยู่กับผู้มีอำนาจจะพิจารณา

ร่างข้อตกลงร่วม (เอ็มโอยู) จึงดูเหมือนเห็นต่างกัน ?

เรื่องร่างเอ็มโอยูผมไม่ทราบ อาจเป็นในระดับปฏิบัติงาน แต่ในเรื่องการตั้งคณะกรรมการ ผมไม่เคยแย้งเรื่องความรู้ ความสามารถ เพียงแต่ในหลักธรรมาภิบาล ผมมีสิทธิแย้ง ที่สำคัญรัฐบาลชุดนี้มาจากการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น ผมว่าธรรมาภิบาลจึงเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งหากตรวจสอบพบว่าไม่มีอะไรก็แจ้งมา แต่หากมีก็ต้องแก้ไข

สำหรับเรื่องบุคลากรจะทำอะไรบ้าง ?

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ผมเห็นว่าจะต้องพิจารณาทั้งเรื่องตำแหน่งและกำลังคนภาครัฐ ซึ่งทั้ง 4 ข้อที่ได้พูดคุยกับ รมว.สธ.ถือว่าเห็นด้วยในเรื่องการทำงานด้านนี้

จะผลักดันให้เป็นรูปธรรมได้หรือไม่ ?

ผมคิดว่าในรัฐบาลชุดนี้ ถือเป็นโอกาสที่จะต้องผลักดันงานให้สำเร็จ นอกจากนี้ยังมีเรื่องประชาชนจะได้อะไร ซึ่งผมเสนอเรื่องการพัฒนาการเด็กในกลุ่มอายุ 0-5 ปี ที่มีประมาณ 2 ล้านคน ในกลุ่มนี้มีพัฒนาการล่าช้ากว่าร้อยละ 30 ซึ่งนายกรัฐมนตรีอยากเห็นเด็กไทยฉลาด อยากปฏิรูปการศึกษา ตรงนี้ก็เช่นกัน จึงต้องร่วมมือกันในการทำงานทั้งประเทศ

ได้ขอโอกาสที่จะอยู่ในตำแหน่งปลัด สธ.หรือไม่ ?

เรื่องที่พูดคุยกันลำพังสองคน เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับงานล้วนๆ ดังที่ได้กล่าวไปข้างต้น ซึ่งเป็นการทำความเข้าใจกับเนื้องานให้มากขึ้นเท่านั้น

หากยังมีคณะกรรมการทั้ง 2 ชุด ?

เรื่องนี้เกี่ยวกับธรรมาภิบาล ซึ่งผมก็ได้ใช้สิทธิในการแย้งแล้ว ซึ่งเป็นไปตาม พ.ร.บ.ระเบียบราชการข้าราชการพลเรือน มาตรา 82 โดยผู้ใต้บังคับบัญชาสามารถแย้งผู้บังคับบัญชาได้ 1 ครั้ง แต่หากยังเดินหน้าต่อไปก็จะส่งข้อมูลให้ ผมยินดีให้ความร่วมมือ แต่หากเกิดอะไรขึ้นก็ต้องรับผิดชอบไป ที่สำคัญในการตรวจสอบนั้น ก่อนหน้านี้ประมาณ 1 เดือนมีการประชุมในกระทรวง มีมติร่วมกัน และ รมว.สธ.ก็ได้ลงนามตั้งคณะกรรมการตรวจสอบและประเมินผลภาครัฐ กระทรวงสาธารณสุข (คตป.สธ.) ซึ่งประธานเป็นอดีตรองประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) นอกจากนี้ ยังมีผู้ทรงคุณวุฒิด้านระเบียบพัสดุ และมีกรรมการอื่นๆ คือ นพ.เสรี หงษ์หยก อดีตรองปลัด สธ. นพ.กิตติศักด์ กลับดี อดีตรองปลัด สธ. นพ.กมล วีระประดิษฐ์ อดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลหาดใหญ่ และมีมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชมาร่วมตรวจสอบบัญชี ซึ่งผมเสนอให้ตรวจสอบการใช้เงินทั้งของ สธ.และ สปสช.

หลายคนมองว่าทั้งรัฐมนตรีและปลัด สธ.ยังไม่ลงรอยกัน ?

จากการพูดคุยกันสองคน ก็เน้นเรื่องงานเป็นหลัก และท่านก็เห็นด้วยตามที่ผมบอกไปก่อนหน้านี้ว่า มีเรื่องอะไรบ้าง

แต่ยังมีภาพแยกกันทำงาน แยกกันลงพื้นที่ ?

ถ้าผมไปด้วยกับท่าน ผมก็ต้องเอารองปลัด สธ. เอาคนติดตามไปอีก คนก็จะยิ่งเยอะ ผมว่าต่างคนต่างไปทำงานจะดีกว่า กระจายลงไปในแต่ละพื้นที่ได้เร็วและสะดวกกว่า

ถึงขั้นปลดปลัด สธ.เพื่อให้เรื่องยุติหรือไม่ ?

แม้ไม่มีผม แนวคิดที่แตกต่างก็ยังมีอยู่ เรื่องนี้ไปสอบถามคนในพื้นที่ได้ ตอนนี้ความเห็นต่างมี 2 กลุ่ม และมีคนที่มีอำนาจในการดูแลที่ใกล้ชิดที่สุดคือ รมว.สธ. จากนั้นก็รัฐบาล ซึ่งทุกอย่างเมื่อเปิดใจพูดคุยและเดินหน้างานก็ไม่น่ามีปัญหา

แสดงว่าไม่หวั่นกับกระแสถูกโยกย้าย ?

อีกไม่กี่เดือนผมก็จะเกษียณอายุราชการแล้ว สิ่งที่ผมทำก็เพื่อระบบ อยากให้ทุกอย่างเข้าที่เข้าทาง เพื่อให้โรงพยาบาลอยู่ได้ มีการพัฒนาการบริการ มีประสิทธิภาพ มีธรรมาภิบาลที่ดี หากถามอีก ผมก็จะเดินหน้าเรื่องนี้เพื่อธรรมาภิบาลและประสิทธิภาพให้เกิดขึ้น

มีข่าวว่าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะตรวจสอบ ?

เท่าที่ทราบ คสช.จะตรวจความคืบหน้าการทำงานทั้งระบบ ซึ่งมีการติดตามงานมาตลอด โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ คสช.นำโดย พล.ร.ต.ลือชัย ศรีเอี่ยมกูล รองหัวหน้าสำนักงานฝ่ายสังคมจิตวิทยา คสช.ได้ติดตามงานต่างๆ ทั้งระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ยุทธศาสตร์งานด้านต่างๆ เป็นต้น

ก่อนจบบทสนทนานี้ นพ.ณรงค์ปิดท้ายด้วยคำกล่าวสั้นๆ ว่า ผมยังคงทำงานในหน้าที่ที่ควรจะทำต่อไปอีก 7 เดือนเท่านั้น !

ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 2 มีนาคม 2558