ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

มติบอร์ดสปสช.ปรับโครงสร้าง อปสข. เพิ่มสัดส่วนผู้ให้บริการมากขึ้นจากเดิมมีเพียง นพ.สสจ. ให้มีทั้ง รพ.สต. รพช. รพท. และรพศ. เพื่อให้ทำงานมีประสิทธิภาพ และกระจายอำนาจการตัดสินใจในระดับพื้นที่ ส่วนหน่วยบริการสธ.ยังทำหน้าที่รับขึ้นทะเบียนบัตรทองและการเปลี่ยนหน่วยบริการประจำ ส่วนสปสช.อยู่ระหว่างเพิ่มช่องทางขึ้นทะเบียนทางทะเบียนราษฎร์ และอินเตอร์เน็ต สสจ.ยังทำหน้าที่เป็นหน่วยบริการ ม.41 ระดับจังหวัดเช่นเดิม

เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2558 ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถ.แจ้งวัฒนะ ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ประชุมมีการพิจารณาเรื่องการปรับปรุงองค์ประกอบคณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพระดับเขต(อปสข.) และความก้าวหน้าการดำเนินการหลังจากไม่มีสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด(สสจ.)ทำหน้าที่เป็นสาขาจังหวัดของ สปสช.

ศ.นพ.รัชตะ กล่าวว่า มติบอร์ดสปสช.เห็นชอบปรับโครงสร้างอปสข.ซึ่งจะเพิ่มเติมส่วนผู้แทนของฝ่ายผู้ให้บริการ คือ ผอ.โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล(รพ.สต.) ผอ.โรงพยาบาลชุมชน (รพช.) โรงพยาบาลศูนย์ (รพศ.) และโรงพยาบาลทั่วไป (รพท.) ขณะที่ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เป็นที่ปรึกษา อปสข.ซึ่งจะมีผลในเดือนมีนาคมนี้ เพื่อให้การทำงานของ อปสข.มีความครอบคลุมยิ่งขึ้น ทั้งฝ่ายผู้ให้บริการและผู้รับบริการ ซึ่งจะนำไปสู่การบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

“ทิศทางการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพจากนี้ จะมีการผ่องถ่ายการตัดสินใจลงไปยังเขตมากขึ้น เนื่องจากมองว่าหากยิ่งใกล้ประชาชน จะยิ่งทำให้เห็นถึงปัญหาสุขภาพในพื้นที่นั้นๆ และจะสามารถจัดบริการดูแลรักษาพยาบาลประชาชนได้อย่างเหมาะสมกับปัญหาในพื้นที่ ดัวยเหตุนี้จึงต้องมีการปรับโครงสร้างโดยเพิ่มเติมฝ่ายผู้ให้บริการเพื่อให้เป็นการทำงานที่ครอบคลุมในทุกมิติ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าว

ศ.นพ.รัชตะ กล่าวต่อว่า ขณะที่การลงทะเบียนเลือกและเปลี่ยนหน่วยบริการประจำของประชาชนนั้น หน่วยบริการสธ.ยังคงทำหน้าที่นี้อยู่เหมือนเดิม ตามข้อตกลงความร่วมมือ ขณะเดียวกัน ขณะนี้ สปสช.อยู่ระหว่างดำเนินการเพิ่มช่องทางการลงทะเบียนเพิ่มเติม เช่น ผ่านทางทะเบียนราษฎร์ของ อปท. และทางอินเตอร์เน็ต ส่วนการดำเนินการตามมาตรา 41 นั้น สสจ.ยังคงเป็นหน่วยดำเนินระดับจังหวัด และมติบอร์ดสปสช.ได้แก้ไขข้อบังคับแต่งตั้งคณะอนุกรรมการมาตรา 41 ใหม่ ให้ นพ.สจจ.เป็นเลขานุการ ซึ่งการดำเนินการไตรมาสแรกของปี 58 มีการรับคำร้องและจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นแล้ว 298 คำร้อง 55.8 ล้านบาท ซึ่งใกล้เคียงกับปี 57

ด้าน นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสปสช. กล่าวว่า ในส่วนความคืบหน้าของการชำระและปิดบัญชี 6 และ 7 หลังจากที่ สสจ.ไม่ได้ทำหน้าที่เป็น สปสช.สาขาจังหวัดแล้วนั้น มติบอร์ดสปสช. 16 ต.ค.57 ให้ อปสข.หรือคณะทำงานที่อปสข.มอบหมายพิจารณาจัดสรรงบกองทุนที่เหลืออยุ๋ในบัญชี 6 ให้หน่วยบริการภายใต้วัตถุประสงค์และภาระผูกพันให้เสร็จภายใน 31 มี.ค.58 ให้ สสจ.ใช้งบบริหารที่เหลืออยู่ในบัญชี 7 สำหรับดำเนินการด้านหลักประกันสุขภาพระดับจังหวัดได้จนถึง 30 ก.ย.58 และให้ปิดบัญชี 6 และ 7 ภายใน 30 ก.ย.58 โดยสปสช.ได้ตั้งคณะกรรมการชำระบัญชีแล้ว และมอบให้ สปสช.เขตพื้นที่ร่วมกับ สสจ.กำกับติดตามเงินคงเหลืออย่างใกล้ชิด

เลขาธิการสปสช. กล่าวต่อว่า ความเป็นมาของการยกเลิกสาขาจังหวัด มีที่มาจากหลักการแยกผู้จัดหาบริการ และผู้ให้บริการออกจากกันตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 และข้อเสนอของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.)ที่เสนอว่าให้บอร์ดสปสช. พิจารณาทบทวนการมอบหมายให้ สสจ.ทำหน้าที่ สปสช.สาขาจังหวัด เพื่อให้การใช้จ่ายเงินงบประมาณของกองทุนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลตามวัตถุประสงค์ของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ รวมถึงข้อเสนอของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สป.สธ.) ที่ให้ยกเลิก สสจ.เป็นสาขาจังหวัด และยกเลิกการจัดสรรเงินผ่านบัญชี 6 ซึ่งมติบอร์ด สปสช.7 พ.ค.57 ได้เห็นชอบตามหลักการดังกล่าว มีผลตั้งแต่ 1 ต.ค.57 และเห็นชอบให้ สธ.และ สปสช.พัฒนาการทำงานร่วมกัน โดยยึดประโยชน์ประชาชนเป็นเป้าหมาย