ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

จักษุแพทย์เตือนผู้ป่วยโรคต้อหินและประชาชนทั่วไป อย่าหลงเชื่อข้อมูลออนไลน์ รักษาโรคตาโดยวิธีต่างๆ เช่น การรับประทานอาหารเสริมบางชนิด หรือการนวดดวงตาแล้วต้อจะหายขาด ชี้เพิ่มความเสี่ยงอันตราย อาจทำให้ตาบอดถาวรได้  การรักษาที่เผยแพร่ออนไลน์หลายประเภท ไม่มีหลักฐานพิสูจน์ผลชัดเจน  ควรหาข้อมูลให้ถ่องแท้จากหลายแห่งเพื่อยืนยัน ไม่ควรเชื่อข้อมูลจากแหล่งเดียว หากมีปัญหาควรปรึกษาจักษุแพทย์แผนปัจจุบัน

นพ.ฐาปนวงศ์ ตั้งอุไรวรรณ จักษุแพทย์เชี่ยวชาญประจำโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า อ.เมือง จ.นนทบุรี ให้สัมภาษณ์ว่า วันที่ 6 มีนาคมทุกปี องค์กรต้อหินโลก (World Glaucoma Association) กำหนดให้เป็นวันต้อหินโลก (Glaucoma) เพื่อรณรงค์ให้ทุกประเทศทั่วโลก รู้ถึงภัยอันตรายของโรคนี้ เพื่อป้องกันตาบอดและการสูญเสียการมองเห็น และให้ตระหนักถึงความสำคัญของการตรวจดวงตา และการดูแลถนอมดวงตาให้เป็นปกติให้ได้นานมากที่สุด เนื่องจากโรคต้อหินเป็นสาเหตุทำให้ประชาชนทั่วโลกตาบอดมากเป็นอันดับ 2 รองจากตาต้อกระจก ประมาณการขณะนี้ทั่วโลกมีประชาชนตาบอดแล้ว 4.5 ล้านคน คาดว่าในปี 2563 จะเพิ่มขึ้นถึง 11.2 ล้านคน ผู้ป่วยโรคต้อหินส่วนใหญ่ร้อยละ 90 มักไม่ค่อยรู้ตัวมาก่อน เนื่องจากโรคก่อตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป

นพ.ฐานปนวงศ์ กล่าวต่อว่า สำหรับไทย ข้อมูลจากสถิติสาธารณสุข ปี 2556 พบผู้ป่วยโรคต้อหินทั่วประเทศ 6,200 ราย มักพบในผู้ใหญ่ ในคนปกติทั่วไปอายุ 40 ปีขึ้นไป จะมีโอกาสเป็นโรคต้อหินประมาณร้อยละ 1 ส่วนผู้ที่เป็นโรคเบาหวานจะมีโอกาสเป็นต้อหินมากถึงร้อยละ 5-7 หรือมากกว่าคนปกติ 5-7 เท่าตัว แนวโน้มผู้ป่วยโรคนี้จะมากขึ้นตามจำนวนผู้ป่วยเบาหวาน ซึ่งขณะนี้ไทยมีประมาณ 3.5 ล้านคน ดังนั้นจึงขอแนะนำให้ประชาชนที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป ควรพบจักษุแพทย์ เพื่อตรวจตาปีละ 1ครั้ง ส่วนผู้ที่อายุ 60 ปีขึ้นไป ควรพบจักษุแพทย์ปีละ 2 ครั้ง เพื่อตรวจหาโรคแต่เนิ่นๆจะช่วยลดปัญหาการสูญเสียการมองเห็นจากโรคต้อหินได้

โรคต้อหิน เป็นกลุ่มโรคของดวงตาที่เกิดจากการมีความดันภายในลูกตาสูง ทั้งจากการสร้างน้ำในลูกตามากเกินไป หรือระบายออกน้อยเกินไป ซึ่งอาจเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน หรือค่อยๆ เพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ คนที่เป็นจะไม่รู้ตัว ขึ้นอยู่กับชนิดของต้อหิน จากนั้นจะมีผลให้ลานสายตาแคบลงเรื่อยๆ จนสูญเสียการมองเห็นไปในที่สุด ปัจจุบันแนวทางการรักษาโรคต้อหินที่เป็นมาตรฐานได้รับการยอมรับในวงการจักษุแพทย์ทั้งระดับในประเทศและระดับโลก มี 3 วิธีหลัก คือ 1.การใช้ยาหยอดตาลดความดันตา 2.การรักษาด้วยแสงเลเซอร์ และ 3.การรักษาด้วยการผ่าตัด ซึ่งจะสามารถลดความดันภายในลูกตา ทำให้เส้นประสาทตาไม่ถูกทำลายและป้องกันภาวะตาบอดจากโรคต้อหินได้

ปัญหาที่น่าห่วงขณะนี้พบว่ามีการโฆษณารักษาโรคทางสื่ออินเตอร์เน็ต และบอกกันต่อปากว่ารักษาโรคได้ เช่นการรับประทานอาหารเสริมที่ขายออนไลน์ หรือวิธีการนวดตาโดยออกแรงกดไปบนดวงตา แล้วหายขาดได้ มีผู้ป่วยหลายรายรับการรักษาด้วยวิธีดังกล่าวแล้วไม่ได้ผล ต้องกลับมารับการรักษาด้วยวิธีมาตรฐานทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ ที่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ จึงได้ผล เช่น ผู้ป่วยหญิงรายหนึ่งถูกลูกเทนนิสกระแทกที่ดวงตา ตามัวลง จากนั้นได้ไปรักษาโดยการนวดดวงตา การมองเห็นกลับแย่ลงเรื่อยๆ จึงไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลรัฐ แพทย์ตรวจพบว่าเกิดเส้นเลือดผิดปกติใต้จอตา มีเลือดออก และจอตาบวม จึงรับการรักษาด้วยการฉีดยาเข้าดวงตา จากนั้น เส้นเลือดผิดปกติจึงค่อยๆฝ่อลง และการมองเห็นดีขึ้นเป็นลำดับ 

ด้านนายแพทย์ไพศาล ร่วมวิบูลย์สุข ประธานราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบัน การเผยแพร่ข้อมูลออนไลน์ทำได้ง่ายมาก จึงมีการเผยแพร่ข้อมูลวิธีการรักษาโรคตาบางอย่าง โดยกล่าวอ้างขึ้นมาทั้งที่ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ว่าสามารถรักษาได้ ประชาชนจึงควรใช้วิจารณญาณในการเชื่อข้อมูลเหล่านี้ อย่างน้อยก็ควรจะหาข้อมูลเพิ่มเติมจากแหล่งต่างๆ เพื่อยืนยันว่าข้อมูลนั้นเชื่อถือได้หรือไม่ ไม่ควรเชื่อข้อมูลจากฝ่ายเดียว

สำหรับดวงตานั้น จักษุแพทย์จะไม่แนะนำให้ออกแรงกดลงบนดวงตาโดยตรง เพราะเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายหลายอย่าง เช่นทำให้จอตาขาดและหลุดลอก แก้วตาเคลื่อน เลือดออกในตา ซึ่งมีหลักฐานจากนักมวยหลายรายสุดท้ายต้องตาบอดจากจอตาขาดและหลุดลอก ซึ่งมีการรายงานถึงอันตรายนี้เป็นหลักฐานในวารสารทางการแพทย์ที่เชื่อถือได้  

วิธีรักษาสุขภาพตาที่ถูกต้อง คือหากต้องจ้องมองอะไรใกล้ๆ นานๆ เช่น อ่านหนังสือ ใช้โทรศัพท์มือถือ โดยเฉพาะสมาร์ทโฟนต่างๆ ครั้งหนึ่งไม่ควรเกิน 45-60 นาทีแล้วให้พักสายตา โดยให้มองไปบริเวณอื่นไกลๆ โดยเฉพาะพื้นที่มีใบไม้สีเขียว เนื่องจากสีเขียวเป็นสีที่เย็นตา หรือใช้วิธีหลับตาให้สนิทนาน 10-15 นาที เพื่อถนอมสายตา นอกจากนี้ ยังขอให้ประชาชนที่มีปัญหาเกี่ยวกับดวงตาและการมองเห็น ขอให้เข้ารับการรักษาด้วยวิธีการทางแพทย์ที่ถูกต้อง มีมาตรฐานรับรอง ให้ใช้วิจารณญาณไว้ให้มาก ก่อนจะเชื่อข้อมูลข่าวสารทางสื่อออนไลน์หรือจากปากต่อปาก ควรศึกษาข้อมูลและวิธีการรักษาให้ละเอียดถี่ถ้วน หรือขอคำปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจักษุวิทยาหลายๆ คนก็ได้