ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นสพ.ประชาชาติธุรกิจ : ปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา "สภากาชาดไทย" ได้ออกประกาศถึงวิกฤตการณ์ที่ประเทศกำลังต้องเผชิญอยู่ในขณะนี้ว่า "เลือดช็อต หมดสต๊อก วิกฤตหนัก ขาดแคลนทั่วประเทศ" สร้างความวิตกกังวลให้กับประชาชนทุกภาคส่วน เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวพันถึงความเป็นความตายของคนไข้ในโรงพยาบาล รวมถึงปัญหาการ "ค้าเลือด" ที่นำเลือดไปขายต่อ เป็นปัญหาที่หลายคนกังวล

พญ.สร้อยสอางค์ พิกุลสด ผู้อำนวยการศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย กล่าวถึงปัญหานี้ว่า ด้วยความที่มีคนไข้เข้ารับการรักษาทุกวัน ทั้งจากอุบัติเหตุหนักเข้าขั้นวิกฤต, ผ่าตัดใหญ่, โรคโลหิตจาง หรือทาลัสซีเมีย ซึ่งคนไข้เหล่านี้มีความต้องการใช้เลือดในปริมาณมาก ทำให้เลือดจากคลังของสภากาชาดไทยมีไม่เพียงพอ จนเกิดเหตุการณ์วิกฤตขาดเลือดเช่นในตอนนี้ ไม่ได้เกิดจากการเอามาทำการค้าแต่อย่างใด

"ในประเทศไทยมีผู้บริจาคโลหิตเป็นประจำแค่ 3 เปอร์เซ็นต์จากประชากรทั้งหมด อีกทั้งในจำนวนผู้บริจาคโลหิตยังมีถึง 60 เปอร์เซ็นต์บริจาคปีละครั้งเท่านั้น ไม่เพียงพอต่อความต้องการเลือดของคนไข้ทั่วประเทศ ทางที่ดีต้องให้คนทั้ง 60 เปอร์เซ็นต์ดังกล่าว เพิ่มจำนวนการบริจาคอีกสักหน่อยเป็นปีละ 2 ครั้ง ช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนเลือดได้แล้ว แต่ที่ดีสุดคืออยากให้ออกมาบริจาคเลือดกัน 3 เดือนครั้งมากกว่า"

จากข้อมูลของสภากาชาดไทยในปี 2557 พบว่ามีเลือดอยู่ในคลังประมาณ 1,700,000 ยูนิต แต่ยังน้อยกว่าความต้องการใช้เลือดที่มีปริมาณราว 2,000,000 ยูนิตต่อปีถึง 3,000,000 ยูนิต โดยค่าเฉลี่ยปกติการบริจาคเลือดของคนไทยจะมีจำนวน 600-1,000 คนต่อวัน ซึ่งถ้าจะให้เพียงพอต่อความต้องการ อย่างแท้จริงต้องมีบริจาค 2,000 คนต่อวัน

เมื่อปริมาณเลือดหมุนเวียนในระบบการรักษาพยาบาลในเมืองไทยไม่เพียงพอ ทำให้ปัจจุบันแพทย์ตามโรงพยาบาลจำเป็นต้องตัดสินใจเลือกคนไข้ ด้วยการมอบเลือดให้กับคนที่มีอาการหนักและรอไม่ได้ก่อนเป็นอันดับแรก ทว่าสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้นนั้นกลับพบว่ามีคนไข้ระดับวิกฤตเกิดขึ้นทุกวัน ดังนั้นการบริจาคเลือดจึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญต่อชีวิตเป็นอย่างมาก

พญ.สร้อยสอางค์ กล่าวว่า กรณีคนไข้ฉุกเฉินที่ประกาศรับเลือดอย่างเร่งด่วนถือเป็น "เลือดฉุกเฉิน" ไม่สามารถนำมาซัพพอร์ตคนไข้ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากแพทย์ไม่มีทางรู้ได้ว่าจะมีคนเข้ามาบริจาคทันท่วงทีหรือไม่ เรียกว่าเป็นเรื่องของดวง เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงจึงควรจะมีเลือดสต๊อกเอาไว้จะดีกว่า

สถานการณ์ขาดแคลนเลือดในปัจจุบันพบว่า กรุ๊ป O และ กรุ๊ป A กำลังกลายเป็นเลือดที่มีปัญหาขาดแคลน หลายคนตั้งคำถามว่าถ้ากรณีจวนตัวจริง สามารถนำเข้าเลือดจากต่างประเทศได้หรือไม่ ?

พญ.สร้อยสอางค์ ให้คำตอบว่า แทบไม่มีทางเป็นไปได้เลย เพราะแต่ละประเทศก็มีเลือดใช้ในคลังของตัวเองไม่ค่อยพออยู่แล้ว อีกทั้งเรื่องของกรุ๊ปเลือดก็เป็นจุดสำคัญที่ต้องพิจารณา เรียกได้ว่าเลือดประเทศใครก็ใช้ในประเทศนั้น

"สภากาชาดไทย อยากจะให้คนไทยคิดว่าการบริจาคเลือดเป็นเรื่องของคนดี เป็นเรื่องที่ควรทำให้เป็นกิจวัตร เพื่อช่วยเหลือเพื่อนร่วมโลกด้วยกันเอง"

ส่วนกรณีไม่รับบริจาคเลือดของเพศที่ 3 จนเกิดเสียงต่อว่าต่อขานเรื่องความไม่เท่าเทียมในฐานะมนุษย์คนหนึ่งนั้น สภากาชาดไทย ยืนยันว่าเคารพในความมีน้ำใจของกลุ่มเพศที่ 3 และมองอย่างเท่าเทียมกันเสมอมา เพียงแต่เรื่องของการบริจาคเลือดเท่านั้นที่ต้องขอเว้นเอาไว้ รวมทั้งอยากให้เข้าใจระเบียบบังคับดังกล่าว เนื่องจากมีการศึกษาและเก็บข้อมูลเป็นเวลานานพบว่า "เพศที่ 3 เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อโรคสูง"

ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้ทั่วโลกมีข้อบังคับเรื่องการรับบริจาคเลือดของเพศที่ 3 อย่างเข้มงวด เพียงแต่ไม่ใช่แค่เพศที่ 3 เท่านั้นที่เป็นกลุ่มเสี่ยง เพราะในความเป็นจริงแล้วยังมีกลุ่มอื่นๆ อีก เช่น ทหารเกณฑ์ ที่มีความเสี่ยงเรื่องไวรัสตับอักเสบบี เป็นต้น ส่วนสาเหตุที่ต้องห้ามไม่ให้คนกลุ่มนี้บริจาคเลือด เป็นเพราะไม่ต้องการโยนความเสี่ยงเหล่านี้ไปเป็นภาระกับคนไข้ที่ต้องการรับเลือด

พญ.สร้อยสอางค์กล่าวว่า "กลุ่มเสี่ยง" อาจจะเป็นคำที่ฟังแล้วแสลงหู แต่ยังไงก็ขอให้เข้าใจสภากาชาดไทยในเรื่องนี้ด้วย

ทว่านอกเหนือจากบุคคลในกลุ่มเสี่ยงแล้ว สภากาชาดไทยและโรงพยาบาลทั่วไปพร้อมใจรับเลือดของทุกคนอยู่แล้ว เพื่อเป็นการขจัดวิกฤตการณ์เลือดชอร์ตให้หมดจากประเทศไทย สามารถเดินทางไปบริจาคเลือดได้ที่ สภากาชาดไทย ถนนอังรีดูนังต์ หรือตามหน่วยรับบริจาคทั่วประเทศ

เช็กความแข็งแรงจาก'กรุ๊ปเลือด'

จากการพูดคุยกับ พญ.สร้อยสอางค์ พิกุลสด ผู้อำนวยการศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย เกี่ยวกับการบริจาคโลหิต ทำให้ได้สถิติที่น่าสนใจเกี่ยวกับหมู่เลือดและความแข็งแรงของคนไข้มาเล่าสู่กันฟัง

เมื่อมองตามสถิติของสภากาชาดไทยในช่วง ที่ผ่านมา พญ.สร้อยสอางค์ กล่าวว่า นอกจากหมู่เลือด O Rh+ จะเป็นกลุ่มใหญ่สุดที่พบในเมืองไทยถึง 37 เปอร์เซ็นต์แล้ว ยังนับเป็นหมู่เลือดที่เจ็บไข้ได้ป่วยมากสุดในช่วงนี้อีกด้วย รองลงมาในระดับที่ไล่เลี่ยกัน คือหมู่เลือด A Rh+ ทำให้ตอนนี้มีความต้องการเลือดทั้ง 2 หมู่ในปริมาณมาก เช่นเดียวกับกลุ่ม O Rh- และ A Rh- กรุ๊ปเลือดหายากหรือ "กรุ๊ปเลือดพิเศษ" ที่มีจำนวน 0.3 เปอร์เซ็นต์ในคนไทย แตกต่างจาก Rh+ ที่เป็นกลุ่มคนจำนวนมากถึง 99.7 เปอร์เซ็นต์ ปัจจุบันมีการติดค้างเลือดชนิดนี้เฉลี่ย 10 ยูนิตต่อวัน

"สำหรับหมู่เลือด AB พบว่ามีคนไข้เข้ารับการรักษาและต้องการเลือดอยู่ประมาณ 7 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่หมู่เลือด B เป็นกลุ่มที่นับว่าแข็งแรงมากสุดในช่วงนี้ก็ว่าได้ เนื่องจากไม่ค่อยพบว่ามีคนป่วยต้องการเลือดมากเท่ากับหมู่อื่นๆ ข้างต้น แต่เรื่องแข็งแรงหรือหมู่ไหนต้องการเลือดมากที่สุด ขึ้นอยู่กับช่วงเวลาด้วยนะ ไม่ได้หมายความว่าเลือดกลุ่มไหนแข็งแรงกว่า เพียงแต่ช่วงนี้เป็นกลุ่ม O กับ A ที่พบบ่อยกว่าเท่านั้น" พญ.สร้อยสอางค์อธิบาย

ที่มา : หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 9 - 11 มี.ค. 2558