ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผู้ช่วยปลัด สธ.ชี้ ปรับบทบาท รพช.เป็นโอพีดีทำได้ยากในทางปฏิบัติ ชี้ปิดตึกผู้ป่วยในกระทบชาวบ้าน คนในพื้นที่ไม่มีทางยอม แจงในทางกลับกัน สธ.มักถูกบีบให้เปิด รพ.ใหม่ตลอด ดังนั้นแนวคิดปัจจุบันจึงเน้นการจัดการโดยกระจายงานจากรพ.ใหญ่ๆ ไปให้ รพช.รอบพื้นที่แทน เช่น ที่จ.สงขลา ดำเนินการขณะนี้ ด้านผู้ตรวจเขต 12 ระบุ ปรับ รพช.ให้บริการคนไข้นอกเป็นเรื่องโดยธรรมชาติอยู่แล้ว แต่ไม่ถึงขั้นยุบส่วนผู้ป่วยใน ยก รพ.บางกล่ำ 2 ปีเห็นผล แก้ขาดทุน และใช้ศักยภาพทรัพยากรเต็มที่

นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์

นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า แนวคิดการปรับบทบาทโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) ขนาดเล็ก ให้เป็นส่วนต่อขยายบริการผู้ป่วยนอกแก่โรงพยาบาลใหญ่ในพื้นที่ใกล้เคียง และยุบส่วนที่ดูแลผู้ป่วยในเพื่อลดต้นทุนนั้น เป็นแนวคิดในอดีตที่สามารถทำได้ในทางทฤษฏี แต่ในทางปฏิบัติไม่สามารถทำได้เลยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

นพ.ธงชัย อธิบายว่า สาเหตุที่ไม่สามารถทำตามแนวคิดนี้ได้ เพราะแรงกดดันทางการเมืองของคนในพื้นที่ ตัวอย่างเช่น หากเป็นพื้นที่ที่ไม่มีโรงพยาบาลและต้องนั่งรถไปรับบริการในโรงพยาบาลอื่น คนที่เป็นนักการเมืองท้องถิ่น หรือ สส.ก็มักจะหาทางผลักดันให้สร้างโรงพยาบาลในพื้นที่นั้นๆ รวมทั้งประชาชนก็ต้องการให้มีโรงพยาบาลในพื้นที่ตัวเอง ต้องการไปรับบริการใกล้บ้าน กลายเป็นแรงกดดันให้ สธ.ต้องเปิดโรงพยาบาลใหม่ขึ้นโดยตลอด

นอกจากนี้ แม้แต่พื้นที่ใกล้เคียงโรงพยาบาลใหญ่ที่ประชาชนสามารถเดินทางไปรับบริการได้สะดวก ก็ยังมีแรงผลักดันให้ตั้งโรงพยาบาลขึ้นอีก ซึ่งที่ผ่านมา สธ.ก็พยายามคัดค้านอย่างเต็มที่แต่ก็ไม่เป็นผล เพราะจะถูกยกเหตุผลมาโต้แย้งว่าทำไมต้องคิดแต่เรื่องกำไรขาดทุน การรักษาพยาบาลเป็นบริการขั้นพื้นฐาน หรือว่ามองคนในพื้นที่นั้นเป็นประชากรชั้น 2 หรีออย่างไร ทำให้เหตุผลของสธ.ที่มองเรื่องกำไรขาดทุนกลายเป็นไม่มีน้ำหนักไป

ขณะเดียวกัน ในส่วน รพช.ที่มีอยู่แล้วจะยุบส่วนดูแลผู้ป่วยใน ก็ไม่เห็นว่าจะทำได้ เพราะปกติคนไข้มาที่โรงพยาบาลก็ไม่อยากจะไปนอนโรงพยาบาลอื่นต่อ การปิดส่วนดูแลผู้ป่วยในจะทำให้ชาวบ้านในชุมชนลำบากขึ้นและเชื่อว่าคนในพื้นที่คงไม่ยอม

นพ.ธงชัย กล่าวว่า ด้วยเหตุผลที่กล่าวมา แนวคิดให้ รพช.เป็นส่วนบริการผู้ป่วยนอกของโรงพยาบาลใหญ่จึงทำได้ยากในทางปฏิบัติ ในทางกลับกัน สธ.ก็ถูกบีบให้เปิดโรงพยาบาลใหม่ตลอดเวลา ดังนั้นแนวคิดปัจจุบันจึงเน้นการจัดการโดยกระจายงานจากโรงพยาบาลใหญ่ๆไปให้ รพช.รอบพื้นที่ ดังตัวอย่าง โรงพยาบาลบางกล่ำ โรงพยาบาลนาหม่อม หรือโรงพยาบาลสันทราย เป็นต้น ซึ่งผลที่ออกมาก็น่าพอใจเพราะโรงพยาบาลไม่ขาดทุน มีภาระงานเพิ่มขึ้น ประชาชนใช้บริการมากขึ้น เจ้าหน้าที่ก็มีความสุข รู้สึกมีคุณค่าในตัวเอง

ด้าน นพ.ธีรพล โตพันธานนท์ ผู้ตรวจราชการเขต 12 สธ.กล่าวว่า การปรับบทบาท รพช.เป็นส่วนให้บริการคนไข้นอก เป็นเรื่องที่เป็นไปโดยธรรมชาติอยู่แล้ว เพียงแต่ยังมีความจำเป็นต้องมีเตียงอยู่ ไม่ถึงขนาดยุบส่วนดูแลผู้ป่วยใน เพียงแต่วิธีการจัดการของสธ.จะเน้นต้องแชร์ทรัพยากรให้ใช้อย่างคุ้มค่า เกลี่ยงานให้ทำเพื่อให้ประชาชนได้ประโยชน์จากทรัพยากรที่มีอยู่ 

นพ.ธีรพล ยกตัวอย่างการปรับบทบาท รพช.คือที่โรงพยาบาลหาดใหญ่ เมื่อมีนโยบายเขตสุขภาพขึ้น ทางผู้อำนวยการโรงพยาบาลหาดใหญ่ก็ไปทาบทามโรงพยาบาลบางกล่ำที่มีอัตราการครองเตียงต่ำ แชร์ทรัพยากร ด้วยการเข้าไปช่วยลงทุนอุปกรณ์ต่างๆ ส่งแพทย์ไปช่วยวางระบบ และช่วยเทรนนิ่งบุคคลากร เพื่อให้โรงพยาบาลบางกล่ำเป็นศูนย์ฟื้นฟูและกายภาพบำบัด รวมทั้งกระจายผู้ป่วยจากโรงพยาบาลหาดใหญ่ไปทำการฟื้นฟูที่นี่ ไม่ถึง 2 ปีก็เห็นผล

"โรงพยาบาลบางกล่ำก็ไม่ขาดทุน ใช้เตียงเต็มที่ แล้วก็ขยายเรื่องการทำกายภาพบำบัดลงไปถึงชุมชน ตอนนี้ผมก็กระจายแนวคิดนี้ไปในเขต ให้โรงพยาบาลใหญ่จับคู่กับโรงพยาบาลเล็ก แต่ไม่ได้เจาะจงว่าแต่ละที่ต้องทำแบบไหน ให้ดูความเหมาะสมและศักยภาพ รพช.ที่จะต่อยอดได้ แต่เป้าหมายคือต้องมีอัตราการครองเตียงเกิน 70% และเลี้ยงตัวเองได้"นพ.ธีรพล กล่าว