ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อีกมุมมองต่อประเด็น ย้าย ‘นพ.ณรงค์’ ผอ.รพ.พนา แนะลองถอยกลับมาดูที่เหตุแห่งปัญหา ให้ความเป็นธรรมแก่ นพ.รัชตะบ้าง เชื่อไม่เหลือทางเลือกอื่นแล้ว ที่ผ่านมาทั้งเชิญคุย เชิญประชุม แต่ นพ.ณรงค์ก็ไม่เข้าหลายครั้ง แจงตำแหน่งปลัด ต้องเป็นมือทำงาน รมต.สามารถสั่งงานได้ ด้านโพสต์ความเห็น บอกคนสา’ สุขให้กำลังใจปลัดสธ. แต่ไม่ควรด่า อ.รัชตะ ชี้การทำงาน รมต.ให้นโยบาย ปลัดปฏิบัติ ไม่ใช่ทำนโยบายแข่ง ยันไม่เถียงความดี แต่มีปัญหาเรื่องบริหาร ขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชา

หลังจากนายกรัฐมนตรีมีคำสั่งย้าย นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ให้ไปช่วยราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11 มี.ค.ที่ผ่านมา กลุ่มบุคลากรสาธารณสุขจำนวนหนึ่งได้แสดงความไม่เห็นด้วยกับคำสั่งดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกความเห็นต่างที่ดูเหมือนว่าจะสนับสนุนการตัดสินใจครั้งนี้ และได้มีการเผยแพร่ข้อความดังกล่าวทาง Social Media สำนักข่าว Health Focus เห็นว่ามีหลายประเด็นที่น่าสนใจ จึงขอนำมาเผยแพร่ต่อดังนี้ ซึ่งมีทั้งความเห็นที่เปิดเผยชื่อ และไม่เปิดเผยชื่อ

เริ่มที่ นพ.ปฐมพงศ์ ปรุโปร่ง ผอ.รพ.พนา จ.อำนาจเจริญ ที่มีการเผยแพร่ข้อความทางไลน์ ดังนี้

“วันสองวันนี้เราหลายคนอาจจะอินกับข่าวการเมืองของกระทรวงสาธารณสุขมาก

ส่วนหนึ่งก็เห็นใจท่านปลัดณรงค์ อีกด้านหนึ่งเราลองถอยมาดูภาพต่างๆ ที่เกิดขึ้นว่าเป็นอย่างไร

ว่ากันตามบทบาทหน้าที่

1.รัฐมนตรี : ฐานะเจ้ากระทรวงเป็นผู้รับผิดชอบนโยบายจากคณะรัฐมนตรี ที่ดูภาพการบริหารประเทศ เจ้านายใหญ่คือ นายกรัฐมนตรี ที่ต้องรับผิดชอบการบริหารงานทั้งประเทศ ต่อประชากรไทยทุกคน

2.ปลัดกระทรวง : ฐานะหัวหน้าส่วนราชการประจำดูแลข้าราชการประจำ เป็นผู้ที่ต้องรับนโยบายหรือคำสั่งจากรัฐมนตรีแปลงสู่การปฏิบัติ เพื่อให้นโยบายเกิดผล โดยเจ้านายใหญ่ คือรัฐมนตรีว่าการ

แล้วมองภาพการปฏิบัติงานตั้งแต่มี รัฐมนตรี ศ.นพ.รัชตะ เข้ามา ท่านมาจากอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ไม่มีพื้นฐานมาจากนักการเมืองใดๆ เลย

แต่เมื่อท่านเข้ามารับตำแหน่ง มามอบนโยบาย ท่านปลัดก็ไม่เข้าฟัง หรือบางครั้งก็เชิญ จนท.สาสุขแต่งกากีเพื่อแสดงพลังมวลชนข่มท่านรัฐมนตรีซะงั้น หรือออกนโยบายคู่(แข่ง)กับรัฐมนตรีบ้าง และก็หลายรอบที่รัฐมนตรีเชิญท่านปลัดประชุม ท่านก็ไม่เข้าประชุม แต่เท่าที่ดูท่านรัฐมนตรีท่านนิ่งมาก เป็นผู้ใหญ่ ไม่ตอบโต้ จนอาจมีเสียงกองเชียร์รอบข้างว่าควรปลดปลัดหลายครั้ง แต่ท่านก็อดทน นิ่ง สมกับเป็นอาจารย์ผู้ใหญ่จริงๆ

หากดูฝั่งท่านปลัดท่านก็มั่นใจในพลังท่านมาก ฮึกเหิมเชิญประชุมระดม จนท.สาสุข มาได้ตลอด โดยเฉพาะระยะหลัง เรียกประชุม จนท.สาสุข ที่กระทรวงฯ เกือบทุกวันอังคาร นัยว่าเพื่อกดดันรัฐมนตรีไม่ให้นำเรื่องการโยกย้ายปลัดเข้าครม. แต่เรื่องนี้ นายกฯ พลเอกประยุทธ์ คงรู้เรื่องปัญหาในกระทรวงฯดี ท่านเลยมาในมุก ไม่ย้าย ไม่ปลดท่านปลัด แต่สั่งให้มาช่วยราชการสำนักนายกรัฐมนตรี หากเราจะให้ความเป็นธรรมแก่ อ.รัชตะบ้าง ว่าท่านไม่เหลือทางเลือกอื่นแล้ว ที่จะทำงานสนอง ครม., นายกฯ ได้ ทั้งเชิญคุย เชิญประชุมแก่ท่านปลัดหลายครั้งแล้ว ก็เลยเหลือทางเลือกสุดท้ายให้ท่านจริงๆ 

จะว่ากันตามบทบาทของข้าราชการประจำแล้ว ในหลักการบริหาร ตำแหน่งสูงสุดควรเป็นอธิบดี, ส่วนตำแหน่งปลัดควรเป็นคนของรัฐมนตรี ที่ต้องเป็นมือไม้ แขน ขา ให้ รัฐมนตรีสั่งงานได้ ที่สำคัญ เมื่อเปลี่ยนตัวรัฐมนตรี ปลัดก็ควรเปลี่ยนด้วย ยกเว้นรัฐมนตรีใหม่คิดจะใช้งานได้ก็อาจให้ทำหน้าที่ต่อ ก็ให้อยู่ต่อ แต่เรายึดติดตำแหน่งมากจึงฝังใจกับภาพว่าต้องอยู่ตำแหน่งสูงสุดจนเกษียณ

มาดูกระทรวงสาธารณสุขไทย กระทรวงที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีหมอมีพยาบาล เจ้าหน้าที่ต่างๆ มากมาย อยู่ในตึกใหญ่ๆ แต่โรงพยาบาลบึงโขงหลง จ.บึงกาฬ มีหมอสองคนที่เป็นหมอเฉพาะทาง ทั้งคู่เสียสละอยู่พื้นที่ห่างไกล และอีกหลายแห่งที่มีชะตากรรมเดียวกันหรือแย่กว่า ก็เลยคิดในแง่ว่า เป็นไปได้ไหมที่กระทรวงสาธารณสุขจะเล็กลง บทบาทหน้าที่ประสานนโยบายรัฐบาล ผ่าน ผู้ตรวจฯ, สสจ., สสอ.

ส่วนโรงพยาบาลต่างๆ ก็เป็นระบบเครือข่ายหน่วยบริการ อาจบริหารโดยบอร์ดเครือข่ายที่มีกรรมการจากหลายภาคส่วน, ที่ไม่ใช่ตัวแทนที่กระทรวงฯ ส่งไปบริหาร เหมือนคำว่าเขตบริการสุขภาพที่พยายามพูดกันบ่อยในตอนนี้ เชื่อว่าพื้นที่น่าจะมีคนที่อยู่เต็มกระทรวงฯ ลงไปทำงานบ้าง หากไปไม่ได้ก็ลาออกเพื่อตำแหน่งจะได้ว่าง พื้นที่ก็หาคนอื่นบรรจุในตำแหน่งแทน ครับ...นพ.ปฐมพงศ์ ปรุโปร่ง”

ทั้งนี้ จากกรณีข่าว รพ.พิจิตรขึ้นป้าย ขอปลัดสธ.คืนมา เอาอธิการบดีคืนไปนั้น ได้มีผู้เข้ามาแสดงความเห็นต่าง ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจ เช่น

1.“คนสาธารณสุข คุณรักหมอณรงค์ คนรามาก็เคารพอาจารย์รัชตะ คุณจะให้กำลังใจกัน แต่ก็ไม่ใช่ด่าอาจารย์รัชตะสาดเสียเทเสียขนาดนี้ ในฐานะที่เคยเป็นผู้ใต้บังคับบัญชา เป็นศิษย์ อาจารย์เป็นคนที่น่าเคารพเป็นแบบอย่างได้ จากที่เห็นมาตลอด หมอณรงค์เองก็คนอำเภอเดียวกัน...แต่ไม่ใช่จะใช้นกหวีดมาเป่าปรี๊ดๆ ห้ามคนมาแตะได้ การทำงานรัฐมนตรีให้นโยบาย ปลัดแปลงนโยบายสู่การปฏิบัติ ไม่ใช่มาทำนโยบายแข่ง มันก็เสียหายส่วนรวมเช่นนี้แหละ”

2.“ขออนุญาตลงข้อความอีกมุมมองไว้เตือนใจพวกเรา ที่ชอบขัดผู้บังคับบัญชานะครับ เห็นด้วยครับ ผมเป็นคนหนึ่งที่เห็นว่าปลัดคนนี้มีปัญหาทางการบริหาร รมต.ทำถูกแล้วครับ ลองคิดดูว่าถ้าในรพ.เรา จะทำอะไร หัวหน้าฝ่ายก็ไม่สนองนโยบาย ต้านหมด คงอยู่ด้วยกันยาก รมต.เรียกประชุมยังไม่เข้าประชุม มันจะอยู่ด้วยกันยังไง ถึงอย่างไร การเป็นข้าราชการที่ดีต้องเคารพผู้บังคับบัญชา

แล้วอาจารย์รัชตะแกเป็นนักการเมืองตรงไหน ผมเห็นแต่ปลัดนี่แหละเล่นการเมือง ตอนเถลิงอำนาจใหม่ๆ ก็ตั้งพรรคพวกตัวเองขึ้นสู่ตำแหน่งแบบข้ามหัวคน ไม่มีธรรมาภิบาล แบบว่าขอให้จบเชียงใหม่ก็พอ ที่ปรึกษารมต.ก็จบเชียงใหม่รุ่นเดียวกัน ก็ไม่แปลกที่จะลาออกประท้วงรมต. ไม่เถียงเรื่องความดีของปลัด แต่คนดีตัดสินใจไม่ดี มีกระบวนการทำงานไม่ดี ดื้อด้านไม่ฟังใครก็เหมือนคนโง่แล้วขยัน

อาจารย์รัชตะแกมีอะไรไม่ดีถึงจะไปไล่แก ไปด่าแก ตั้งแต่มีรมต.มาน่าจะคลีนที่สุดแล้วมั้ง เอาอะไรมาไล่แก การย้ายปลัดครั้งนี้เป็นเพราะเหตุผลทางการบริหาร ไม่ใช่เรื่องความชั่วความเลว ซึ่งปลัดเองก็ใช้วิธีนี้ในการบริหารเหมือนกัน”