ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์ : หมอวินัยแจงข้อกล่าวหาปปท.-ดีเอสไอเรื่องเก่า เตรียมจับมือลงเอ็มโอยูร่วมกันภายใน 1 เดือน รับข้อเสนอปรับบทบาทตัวเองหลังโดนหน่วยบริการท้วง

เมื่อวันที่ 19 มี.ค. ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสปสช. เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 18 มี.ค. ที่ผ่านมา ได้หารือกับ นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) รักษาการปลัดสธ. แล้วว่า ทั้ง สธ.และสปสช. จะร่วมมือกันทำงานต่อไป รวมถึงจะผลักดันตัวเลขงบเหมาจ่ายรายหัวปี 2559 ตามตัวเลขที่สปสช.ได้เสนอไปก่อนหน้านี้ เพื่อพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้ดียิ่งขึ้น ทั้งนี้ ยืนยันว่า สปสช.ไม่ได้เกี่ยวข้องกับกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีคำสั่งให้ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดสธ. ไปช่วยราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรีก่อนหน้านี้

นพ.วินัย กล่าวอีกว่า การตรวจสอบงบประมาณหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ผ่านมาถูกตรวจสอบทั้งจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ในเรื่องการใช้เงินของสำนักงานสาขา ที่อาจไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ ซึ่งขณะนี้ดำเนินการแก้ไขตามคำแนะนำของสตง.เรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างการนำเสนอบอร์ดสปสช. รวมถึงผ่านการตรวจสอบจากกรมสอบสวนคดีพิเศษในเรื่องการได้รับผลตอบแทนการซื้อยาจากองค์การเภสัชกรรม และยังผ่านการตรวจสอบจากคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ในเรื่องที่สตง.ทักท้วง ซึ่งเรื่องดังกล่าวเมื่อชี้แจงแล้ว ก็ไม่มีการทำหนังสือแจ้งให้ชี้แจงอีก และในการตรวจสอบของดีเอสไอนั้น ก็ไม่ได้ทักท้วงในประเด็นทุจริตหรือใช้จ่ายเงินฟุ่มเฟือยแต่อย่างใด

และล่าสุดสปสช. ได้รับหนังสือจาก สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เพื่อขอให้ชี้แจงในข้อสงสัยที่มีผู้ร้องเรียน โดยส่วนใหญ่เป็นประเด็นที่ได้รับการตรวจสอบ และได้ชี้แจงไปก่อนหน้านี้แล้ว

นพ.วีระวัฒน์ พันธ์ครุฑ รองเลขาธิการสปสช. 1. ผลตอบแทนการซื้อยาจาก อภ. ข้อเท็จจริง คือ สปสช. ไม่เคยได้รับผลประโยชน์ตอบแทนเป็นเงินจากการซื้อยาแต่อย่างใด การซื้อยาที่ผ่านมา สปสช.ซื้อจาก อภ. และจ่ายเงินภายในเวลาที่ อภ.กำหนด ตามระเบียบการใช้เงินสนับสนุนกิจการภาครัฐของ อภ.

ขณะที่ นพ.พีรพล สุทธิวิเศษศักดิ์ รองเลขาธิการสปสช. กล่าวว่า ประเด็นที่ 2 เรื่อง ความเข้าใจผิดเรื่องการตกแต่งบัญชี ข้อเท็จจริงคือ สปสช. ไม่เคยโอนเงินและเรียกให้โอนเงินกลับเพื่อประโยชน์ในการประเมินผลงานและโบนัสประจำปีของสำนักงาน โดยการจัดสรรเงินกองทุนของ สปสช.มี 2 รูปแบบใหญ่ๆ ได้แก่ การจัดสรรแบบเหมาจ่ายรายหัว และการจัดสรรตามผลงาน โดยการโอนเงินคืนของโรงพยาบาลนั้นเป็นการจ่าย่วงหน้า และโอนกลับมาปลายปี เพื่อหักกลบลบหนี้ หลังจากโรงพยาบาลได้นำเงินไปบริหารล่วงหน้า

ขณะที่ นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ กล่าวว่า ประเด็นที่ 3 ได้แก่ ความเข้าใจผิดเรื่อง การจ่ายเบี้ยประชุมนั้น ข้อเท็จจริงคือ คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือบอร์ดสปสช.นั้น ไม่ได้รับเงินเดือนแต่อย่างใด แต่ได้รับเบี้ยประชุมไม่เกินเดือนละ 1.2 หมื่นบาท ไม่ว่าจะมีการประชุมกี่ครั้ง ซึ่งเป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี

ส่วนประเด็นที่ 4. ความเข้าใจผิดเรื่อง การนำเงินกองทุนไปให้ รพ.เอกชน ข้อเท็จจริงคือ สปสช.ไม่เคยนำเงินกองทุนไปใช้สำหรับโครงการต่างๆ ของ รพ.เอกชนซึ่งไม่ใช่หน่วยบริการแต่อย่างใด เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้ สปสช. จ่ายค่าบริการสาธารณสุขให้แก่หน่วยบริการและเครือข่ายหน่วยบริการที่มาขึ้นทะเบียนกับ สปสช.เท่านั้น

นพ.ประทีป กล่าวอีกว่า สปสช. เตรียมนำเสียงทักท้วงจากหน่วยบริการ ในช่วงความขัดแย้งตลอด 2-3 ปืที่ผ่านมา มารับฟังและนำไปปรับปรุง โดยจะปรับจุดยืนเชิงยุทธศาสตร์ ด้วยการ Re Positioning ตัวเอง เริ่มตั้งแต่วิเคราะห์ปัญหาสุขภาพ และการจัดการเชิงระบบ เพื่อปรับโครงสร้างของหน่วยงาน รวมถึงกำลังคน เพื่อสรุปบทเรียนต่อไป โดยจะหารือทั้งกับผู้ให้บริการ อย่างสธ. รวมถึงภาคประชาชน

ทั้งนี้ มีรายงานว่า ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รมว.สธ. เตรียมให้ทั้ง 2 หน่วยงาน ลงนามในบันทึกความเข้าใจร่วมกัน (เอ็มโอยู) โดย นพ.วินัย และ นพ.สุรเชษฐ์ เป็นตัวแทน โดยจะมีการลงนามร่วมกันภายใน 1 เดือน รวมถึงให้ทั้ง 2 องค์กร แก้ปัญหาความเห็นต่าง และประเด็นที่ถูกทักท้วงก่อนหน้านี้ ให้จบภายใน 3 เดือน