ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เผยโรคลิชมาเนีย เกิดจากโดนริ้นฝอยทราย (sand fly) กัด ซึ่งในประเทศไทยพบว่าเป็นสายพันธุ์ที่แตกต่างจากในประเทศอื่นๆ โดยสายพันธุ์ไทยมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Leishmania siamensis แนะประชาชนสวมใส่เสื้อผ้าให้มิดชิดเมื่อเข้าไปในสถานที่ที่คาดว่ามีริ้นฝอยทราย และดูแลบ้านให้เรียบร้อยปลอดจากสัตว์ฟันแทะ

นพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่าโรคลิชมาเนียเกิดจากการกัดของริ้นฝอยทราย (Sand fly) เพศเมียที่มีเชื้อลิชมาเนีย ทั้งนี้เชื้อก่อโรคลิชมาเนียเป็นโปรโตซัวในตระกูล ลิชมาเนีย (Leishmania) ก่อโรคได้ทั้งในคนและสัตว์อีกหลายชนิด เช่น หนู สุนัข แมว ม้า วัว กระรอกและกระแต เป็นต้น ซึ่งลิชมาเนียมีมากกว่า 20 ชนิดที่สามารถทำให้เกิดโรคในคนได้ ทั้งนี้ถือว่าเป็นโรคอุบัติใหม่ในประเทศไทย เนื่องจากมีสารพันธุกรรมแตกต่างจากเชื้อลิชมาเนียในประเทศอื่นที่มีรายงานมาก่อน ทำให้เชื่อว่าเป็นสายพันธุ์ใหม่ หรือสายพันธุ์ไทยซึ่งให้ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Leishmania siamensis โดยอาการแสดงของโรคลิชมาเนียสายพันธุ์ใหม่นี้มีทั้งอาการที่แสดงออกทางอวัยวะภายใน (Visceral leishmaniasis) แสดงอาการทางผิวหนัง (Cutaneous leishmaniasis) และแสดงอาการทั้งอวัยวะภายในร่วมกับอาการทางผิวหนัง เช่น มีไข้เรื้อรัง เป็นๆ หายๆ ท้องอืด ตับม้ามโต ต่อมน้ำเหลืองโต ผิวหนังคล้ำและเกิดรอยโรคที่ผิวหนัง จากข้อมูลล่าสุดพบว่ามีเชื้อลิชมาเนีย 2 ชนิด ระบาดในประเทศไทย คือ ลิชมาเนียสายพันธุ์ไทย (L. siamensis) และลิชมาเนียที่พบในผู้ป่วยในเกาะมาร์ตินีก (Martinique Island) ซึ่งมีชื่อว่า L. martiniquensis และยังมีรายงานว่าพบการติดเชื้อในวัวและม้าในประเทศเยอรมัน สวิตเซอร์แลนด์ และสหรัฐอเมริกา โดยแสดงอาการที่ผิวหนังในสัตว์ด้วย

นพ.อภิชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมาโรคลิชมาเนียมีการระบาดในประเทศต่างๆ ไม่ต่ำกว่า 74 ประเทศ เช่น ประเทศแถบตะวันออกกลาง เมดิเตอร์เรเนียน แอฟริกา อเมริกากลาง และตอนเหนือของอเมริกาใต้ สำหรับประเทศไทยมีรายงานการพบโรคลิชมาเนีย 2 ช่วงคือ ในช่วงปี 2503-2529 เป็นการรายงานโรคในผู้ป่วยไทยที่เดินทางเข้าไปในแหล่งระบาดของโรคโดยเฉพาะผู้ที่ไปทำงานในประเทศ แถบตะวันออกกลาง และช่วงที่ 2 ตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปัจจุบันมีรายงานโรคลิชมาเนียที่เกิดกับผู้ป่วยในประเทศไทยที่ไม่เคยเดินทางออกนอกประเทศมาก่อน โดยพบทั้งในผู้ป่วยที่มีระดับภูมิคุ้มกันปกติ และผู้ป่วยที่มีระดับภูมิคุ้มกันบกพร่องโดยเฉพาะผู้ป่วยเอดส์ และผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยยาสเตียรอยด์ ซึ่งสามารถพบผู้ป่วยได้ทั้งภาคใต้ ภาคกลาง และภาคเหนือ และพบผู้ป่วยชาวพม่าเดินทางมารับการรักษาในประเทศไทยอีกด้วย

สำหรับการป้องกันนั้น 1.ควรสวมใส่เสื้อผ้ารัดกุมมิดชิดขณะเข้าไปทำงานหรือพักค้างคืนในพื้นที่ที่คาดว่ามีริ้นฝอยทรายอาศัยอยู่ 2.ทายากันยุงในบริเวณผิวหนังที่อยู่นอกร่มผ้าโดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณขาและแขน 3. นอนกางมุ้งที่ชุบด้วยสารกำจัดแมลง 4.ฉีดพ่นสเปรย์กำจัดยุงและแมลงภายในบ้าน 5.ปรับปรุงดูแลบริเวณบ้านให้เป็นระเบียบเรียบร้อยและทำให้ปลอดจากสัตว์ฟันแทะ เช่น หนู กระรอก กระแต ซึ่งเป็นเป็นแหล่งรังโรคที่สำคัญ 6.หลีกเลี่ยงการเลี้ยงสัตว์ในบริเวณที่พักอาศัยและให้สารกำจัดแมลงบนตัวสัตว์ตามคำแนะนำของสัตวแพทย์” อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กล่าว