ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

Business Insider UK : ติดตามต่อตอนที่ 2 กับรายงาน เปรียบเทียบระบบสุขภาพ ‘สหรัฐฯ-อังกฤษ’ เสรี vs เป็นธรรม ที่ได้นำเสนอไปแล้วในตอนที่ 1 (ดู ที่นี่) บทสรุปสุดท้ายจากการเปรียบเทียบด้วยประสบการณ์ใช้บริการจริงของ ‘จิม เอ็ดวาร์ด’ ทั้งในสหรัฐอเมริกา และอังกฤษ ในโรคเดียวกัน สิ่งที่เขาค้นพบคือ ระบบการรักษาแบบ NHS ดีกว่าระบบสาธารณสุขโดยภาคเอกชนของอเมริกา NHS เป็นบริการที่ฟรี ไม่มีงานเอกสารยุ่งยาก การบริการตรวจรักษาในวันนัดก็รวดเร็วมาก และแน่นอน เราพบข้อเท็จจริงที่ว่าระบบ NHS ครอบคลุมประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียม ในขณะที่ระบบของอเมริกาให้บริการตามความสามารถในการจ่ายของประชาชน นอกจากนี้งบประมาณไปหลายสิบล้านดอล์ล่าห์ที่ลงทุนไปกลับทำให้ประชากรเพียงบางกลุ่มเท่านั้นที่สามารถเข้าถึงบริการสาธาณสุขได้

โดยทั่วไปแล้ว ไม่มีงานเอกสารสำหรับ NHS

ในสหรัฐอเมริกา การดูแลรักษาคนไข้มีงานเอกสารที่เกี่ยวข้องมากมาย และบอกได้เลยว่าการจัดการเอกสารเรียกเก็บค่ารักษานี้คือด้านที่เลวร้ายที่สุดของระบบสาธารณสุขของสหรัฐ หากคุณเจ็บป่วยร้ายแรงเกินกว่าที่แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไปจะรักษาได้ คุณจะต้องเจอกับเอกสารมากมายทั้งแบบฟอร์ม บิล และจดหมาย คุณอาจสามารถจ่ายบิลได้เองนานหลายเดือน  แต่ถ้ายาวนานเป็นปีๆ แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่คุณจะจัดการแก้ไขจุดผิดพลาดในเอกสารเรียกเก็บเงินได้เองทั้งหมด มันเป็นงานที่เครียดมากๆ และเพราะเหตุนี้ผมเลยโยนภาระทั้งหมดไปให้บริษัทประกันสุขภาพเอกชน

ในขณะที่ระบบของ NHS แทบจะไม่ใช้เอกสารอะไรเลย สิ่งที่ต้องทำมีเพียงกรอกแบบฟอร์มเพื่อแจ้งข้อมูลแก่แพทย์ว่าผมเป็นใครและอาศัยอยู่ที่ไหน เพียงเท่านี้จริงๆ ส่วนเอกสารอื่นๆ ที่คนไข้อย่างผมจะได้รับก็คือจดหมายแจ้งเตือนการนัดหมายครั้งหน้าแล้วก็มีข้อความเตือนอีกหนึ่งครั้ง นี่คือสิ่งที่เอกสารมากมายในระบบสาธารณสุขของสหรัฐอเมริกาไม่เคยทำได้ และมันทำให้ผมอารมณ์ดีได้อย่างไม่น่าเชื่อ 

มาตรฐานการดูแลรักษาที่เหมือนกัน

 นี่ผมกำลังจะหูหนวกงั้นรึ ?  อาจจะ...หรืออาจจะไม่... ผมรู้สึกเสียสมดุลในการได้ยินไปในช่วงหน้าร้อนในปี 2014 (พ.ศ.2557) ซึ่งแพทย์ชาวอเมริกันได้วินิจฉัยว่าผมเป็นโรคตะกอนหินปูนในหูชั้นในหลุด ซึ่งมันทำให้ผมรู้สึกมึนและเวียนศีรษะเล็กน้อยแม้ว่าจะมีสติสัมปชัญญะครบถ้วนสมบูรณ์

แพทย์ในสหรัฐอเมริกาที่รักษาผมบอกว่า อาการในลักษณะเช่นนี้ไม่มีการรักษาที่เฉพาะเจาะจงและเมื่อเวลาผ่านไปสักระยะส่วนใหญ่อาการจะหายไปได้เอง สำหรับตัวผมก็สามารถรับมือกับอาการดังกล่าวนี้ได้เป็นอย่างดีและไม่ได้รู้สึกว่าเป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตสักเท่าไร       

แพทย์ของผมในประเทศอังกฤษก็บอกกับผมเช่นนั้นเหมือนกัน แต่คุณหมอแนะนำเพิ่มเติมว่าผมอาจจะเป็นโรคมีเนียหรือน้ำในหูไม่เท่ากัน และคุณหมอต้องการส่งตัวผมไปพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อตรวจเช็คอย่างละเอียด จริงๆ แล้วอาการน้ำในหูไม่เท่ากันไม่ใช่โรคแต่เป็นกลุ่มอาการ คือ เวียนศีรษะ มีเสียงดังในหู และการได้ยินลดลง ผมได้รับการบอกกล่าวเหมือนเดิมอีกครั้งคืออาการนี้ไม่มีวิธีการรักษาและเป็นอาการที่พบได้ยาก

เหตุการณ์นี้ทำให้ผมสติแตกไปเล็กน้อย แม้ว่าผมจะเคยชินกับระบบของสหรัฐอเมริกาซึ่งมุ่งเน้นการป้องกันเป็นอย่างมาก  แพทย์ส่วนใหญ่จะตรวจเช็คอาการมากเกินความจำเป็น เพราะกลัวว่าจะถูกคนไข้ฟ้องร้องหากทำพลาดอะไรไปและพวกเขายังจะได้รับค่าตอบแทนที่เพิ่มขึ้นจากการตรวจเช็คที่มากขึ้นอีกด้วย แต่นี่แพทย์ในประเทศอังกฤษต่างหากที่แนะนำให้ผมมาเข้ารับการตรวจรักษาเฉพาะทาง

...ที่สำคัญคือมันฟรี… ด้วยเหตุนี้ผมก็เลยตอบตกลง

โรงพยาบาล Guy's and St. Thomas' ที่สามารถมองเห็นได้จากหน้าต่างในห้องครัวของผม

การรอคอยอันแสนนาน ในระบบการรักษาของ NHS

หลังจากนั้น ผมได้นัดหมายเพื่อพบกับแพทย์เฉพาะทางที่ The Guy's and St. Thomas' ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่ตั้งอยู่ในกรุงลอนดอน   

ในสหรัฐอเมริกา ผมสามารถไปพบแพทย์เฉพาะทางได้ภายในเวลาเพียง 2-3 วัน ข้อดีในเรื่องนี้ทำให้ระบบของอเมริกาได้ไปหนึ่งคะแนน แต่ในอังกฤษ พวกเขาบอกผมว่า “ให้มาพบแพทย์ได้ในเดือนมกราคม” ตอนนั้นเพิ่งจะปลายเดือนพฤศจิกายน หมายความว่าผมต้องรอนานกว่า 6 สัปดาห์ ผมช็อคมากเพราะตอนนี้หูของผมกำลังจะหนวกแล้วนะ นี่มันอะไรกัน ?!

เรื่องกลับกลายเป็นว่า การรอคิวเพื่อเข้ารับรักษาในระบบ NHS คือเรื่องจริง ผมปลอบใจตัวเองว่า เจ้าหน้าที่คงพิจารณาแล้วเห็นว่าอาการของผมไม่ได้ร้ายแรงหรือมีความเสี่ยงต่อชีวิต ก็เลยเลื่อนให้เคสของผมให้ไปเป็นคิวท้ายๆ ซึ่งผมค่อนข้างผิดหวังมาก มิหนำซ้ำในที่สุดแล้วผมจำเป็นต้องขอเลื่อนการนัดหมายออกไปเนื่องจากต้องไปทำงานต่างประเทศในช่วงนั้นพอดี การเลื่อนนัดในอังกฤษก็ทำได้ยากสุดๆ ผมต้องโทรไปติดต่อหลายครั้งเพราะต้องหาจังหวะดีๆ ถึงจะได้คุยกับเจ้าหน้าที่รับนัดของโรงพยาบาล จริงๆ แล้วโรงพยาบาล Guy's and St. Thomas' ควรจัดให้มีบริการลงเวลานัดพบแพทย์ผ่านทางระบบอินเตอร์เน็ท แทนที่จะให้ติดต่อผ่านทางเจ้าหน้าที่รับโทรศัพท์ซึ่งส่วนมากไม่ทราบตารางการนัดหมายที่ถูกต้องล่าสุด

ปัญหาอยู่ที่ระบบการนัดหมายอีกแล้ว การจองคิวตรวจรักษาขึ้นอยู่กับการจัดลำดับความสำคัญของผู้ให้บริการไม่ใช่คนไข้อย่างเราๆ เหตุการณ์นี้นับเป็นบทเรียนครั้งใหญ่ในการใช้บริการของ NHS และมันง่ายกว่าเยอะถ้าไปรักษาตามวันเวลาที่เจ้าหน้าที่บอกในตอนแรก

คนสูงอายุในอังกฤษค่อนข้างหยาบคายจริงๆ

ในสหรัฐอเมริกา เมื่อถึงวันที่ได้รับการนัดหมาย ผมจะต้องนั่งรอเพื่อพบแพทย์เฉพาะทางประมาณ 1 ชั่วโมง ผมเคยคิดเล่นๆ ว่า การที่นิตยสารไทมส์และนิวส์วีคกลายเป็นนิตยสารชื่อดังในอเมริกานั่นอาจเป็นเพราะมันคือสิ่งจำเป็นสำหรับคนไข้ขี้เบื่อที่ต้องนั่งรอพบแพทย์เป็นเวลานานนั่นเอง ในระบบสาธารณสุขของสหรัฐอเมริกา ผมบอกได้เลยว่า คนไข้ที่ไปพบแพทย์ในวันที่ได้รับนัดหมายไม่มีทางที่จะได้รับบริการในทันที  

สำหรับ NHS เมื่อถึงวันที่ได้รับการนัดหมาย ผมใช้เวลารอเพียงไม่กี่นาทีเท่านั้น ซึ่งคงต้องยกเครดิตให้กับเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาล St. Thomas แม้ว่าพวกเขาจะถูกคนไข้เหวี่ยงวีนอยู่ตลอด จากประสบการณ์ในการไปพบแพทย์ทั้งสองครั้ง  ผมสังเกตเห็นว่าผู้สูงอายุมักจะต่อว่าเจ้าหน้าที่อย่างโกรธเกรี้ยว (และหยาบคาย) เมื่อถูกแจ้งให้ทราบว่าต้องรอพบแพทย์สัก 15-20 นาที ในฐานะที่เป็นชาวอเมริกันผมแทบจะกลั้นหัวเราะไว้ไม่อยู่ รอแค่ 15 นาทีเพื่อพบแพทย์แบบฟรีๆ ! ยังไม่ได้ ท่าทางรถโรลส์รอยซ์คันนี้คงยังวิ่งได้เร็วไม่พอสินะ !

ผมเคยถามเพื่อชาวอังกฤษคนหนึ่งซึ่งกำลังมีปัญหาด้านสุขภาพและต้องเข้ารับการรักษากับแพทย์หลายท่าน เขาบอกว่าคนสูงอายุมักจะบ่นว่าเจ้าหน้าที่ NHS อย่างนี้เป็นประจำอยู่แล้วแม้ว่าจะต้องรอเพียงแค่ 10 นาทีก็ตาม นั่นก็เพราะทุกคนต่างคาดหวังว่าจะได้รับบริการที่ตรงเวลาที่สุดนั่นเอง

สำหรับผมระบบของ NHS นั้นดีเยี่ยมเช่นเคย ภายใน 1 ชั่วโมง ผมได้พบกับแพทย์เฉพาะทางถึง 2 ท่าน คนหนึ่งทำการทดสอบ ส่วนอีกคนทำการวินิจฉัย นอกจากนี้ยังมีเจ้าหน้าที่ธุรการอีกคนคอยประสานงานเรื่องคิวและเอกสารให้โดยที่แพทย์ไม่ต้องเสียเวลาไปทำงานในส่วนนี้เลย จะว่าไปก็คล้ายกับกระบวนการทำงานที่มีประสิทธิภาพในโรงงานอุตสาหกรรมและดูเหมือนว่าจะเป็นงานที่หนักพอดูด้วย เพราะแพทย์ที่ตรวจผมคนหนึ่งเธอไม่สนใจที่จะพูดคุยอะไรกับผมเลย พอตรวจเสร็จก็บอกให้ผมออกจากห้องตรวจไปได้เลย นั่นอาจเป็นเพราะยังมีคนไข้รอต่อคิวอยู่อีกเป็นจำนวนมากก็เป็นได้ เมื่อลองเปรียบเทียบกับอเมริกา จะเห็นความแตกต่างได้อย่างชัดเจนเพราะแพทย์ชาวอเมริกันมักจะเต็มใจพูดคุยและให้เวลากับคนไข้นานเท่าที่พวกเขาต้องการ ซึ่งแน่นอนว่าเวลาทุกๆ นาทีที่แพทย์เพิ่มพิเศษให้แก่คนไข้แต่ละราย  ย่อมจะทำการบริการเกิดความล่าช้าต่อเนื่องตลอดทั้งวัน

ข่าวดี : หูของผมยังไม่หนวกและยังได้ยินเสียงทุกอย่างเป็นปกติ และพวกเขายังเอาชาร์ทการรักษาให้ผมดูด้วย สำหรับอาการหูอื้อรวมถึงเสียงที่ดังอยู่ในหูของผมตั้งแต่ปีที่แล้ว เกิดขึ้นจากการที่ผมไปร่วมการแสดงดนตรีแนวพังก์ร็อคหลายครั้งมากๆ ในช่วงวัยรุ่น   

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญของ NHS กล่าวว่าเธอค่อนข้างแน่ใจว่าร่างกายของผมไม่ได้มีความผิดปกติอะไร หรืออย่างน้อยไม่มีอาการอะไรที่ต้องได้รับการรักษา อย่างไรก็ตามเธอแนะนำให้ผมทำ MRI เพื่อดูสภาพของหูชั้นในด้วย จะเห็นได้ว่าในอังกฤษการตรวจเช็คเพื่อให้เกิดความมั่นใจสามารถทำได้อย่างเต็มที่และไม่มีการปฏิเสธที่จะให้การรักษา ในขณะที่แนวทางนี้เป็นวิถีทางที่ชาวอเมริกันหวาดกลัว อังกฤษกลับสามารถทำได้ด้วยกระบวนการรักษาที่เหมือนกันกับสหรัฐอเมริกา ด้วยจำนวนแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่ไม่แตกต่างกันและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ทันสมัยทัดเทียมกัน 

ในอังกฤษคนไข้จ่ายค่าบริการในอัตราที่ถูกกว่าอย่างเห็นได้ชัด

แล้วผมต้องเสียค่าบริการเท่าไหร่เมื่อใช้บริการของ NHS ? คำตอบก็คือ “ศูนย์ปอนด์” ผมไม่ต้องจ่ายเลยแม้แต่เพนนีเดียวสำหรับบริการสาธารณสุขชั้นนำระดับโลก แน่นอนว่าไม่มีอะไรที่ได้มา “ฟรี” หรอก แต่จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลกระบุไว้ว่า ค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขต่อหัวประชากรของอังกฤษ (เป็นเงินที่ได้มาจากการจัดเก็บภาษีและบริหารจัดการโดยรัฐบาล) มีจำนวนน้อยกว่าของสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้ ชาวอเมริกันต้องเสียค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพราว 8,362 ดอล์ล่าร์ต่อคนต่อปี ในขณะที่ชาวอังกฤษจ่ายเพียง 3,480 ดอล์ล่าร์ สิ่งนี้คือความล้มเหลวของระบบ

อัตราค่าบริการในระบบ NHS  

แพทย์เยี่ยมบ้าน : 0 ปอนด์

แพทย์เฉพาะทาง : 0 ปอนด์

การตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการ: 0 ปอนด์

การตรวจด้วยเครื่องสนามแม่เหล็กแรงสูง (เอ็ม อาร์ ไอ): 0 ปอนด์

รวมเป็นเงิน : 0 ปอนด์

อัตราค่าบริการในระบบของสหรัฐอเมริกา

แพทย์เยี่ยมบ้าน  : 100 ดอลล่าห์

แพทย์เฉพาะทาง :  150 ดอลล่าห์

ทดสอบการได้ยิน  :  72 ดอลล่าห์

การตรวจด้วยเครื่องสนามแม่เหล็กแรงสูง (เอ็ม อาร์ ไอ) : 1,000 ดอลล่าห์

รวมเป็นเงิน :  1,372 ดอลล่าห์ (คนไข้ต้องจ่ายเป็นเงินสดทั้งหมด หรือโดยมาก ประกันจะจ่ายให้ร้อยละ 90 และคนไข้ต้องจ่ายเองราวร้อยละ 10 ทั้งนี้อัตราค่าบริการดังกล่าวมาจาก Healthcare Bluebook)

เสียใจด้วยอเมริกา…โดยรวมแล้วการรักษาของ NHS ดีกว่าจริงๆ  

ท้ายที่สุดแล้ว ผมชอบระบบสาธารณสุขแบบ NHS มากกว่าระบบสาธารณสุขโดยภาคเอกชนของอเมริกา ถึงแม้ว่าจะมีความสะดวกสบายในการนัดเวลาเพื่อใช้บริการ แต่เมื่อพิจารณาแล้วพบข้อเท็จจริงที่ว่า NHS เป็นบริการที่ฟรี ไม่มีงานเอกสารยุ่งยาก การบริการตรวจรักษาในวันนัดก็รวดเร็วมาก ผมให้ NHS ชนะขาดลอย    

และแน่นอน เราพบข้อเท็จจริงที่ว่าระบบ NHS ครอบคลุมประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียม ในขณะที่ระบบของอเมริกาให้บริการตามความสามารถในการจ่ายของประชาชน นอกจากนี้งบประมาณไปหลายสิบล้านดอล์ล่าห์ที่ลงทุนไปกลับทำให้ประชากรเพียงบางกลุ่มเท่านั้นที่สามารถเข้าถึงบริการสาธาณสุขได้ (นโยบายโอบามาแคร์พยายามจะแก้ไขปัญหานี้  แต่นับว่าก็ยังตามหลัง NHS อยู่หลายก้าวเมื่อเปรียบเทียบกับมาตรฐานของระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า)

ชาวอเมริกันคิดว่าพวกเขามีระบบสาธารณสุขที่ดีที่สุดในโลก แต่เชื่อผมเถอะ สหายชาวอเมริกันเอ๋ย จริงๆ แล้วมันไม่ใช่เลย