ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รมว.สธ.เตรียมเสนอครม.พิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาสิทธิด้านการรักษาพยาบาลสาธารณสุขคนไร้รัฐไร้สัญชาติระยะเร่งด่วน โดยคืนสิทธิเพิ่มอีก 285,171 คน มีผลทันที เสนอของบประมาณในปี 2558 ให้โรงพยาบาลตามชายแดนวงเงิน 412 ล้านบาท ยันผู้รับบริการไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่าย พร้อมเสนอแผนยุทธศาสตร์จัดบริการสาธารณสุขให้กลุ่มคนไร้สถานะและสิทธิด้วย  

ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาคนไทยที่ยังไร้รัฐไร้สัญชาติและไร้สิทธิด้านการรักษาพยาบาลว่า จากการรับฟังความเห็นของหลายภาคส่วน โดยเฉพาะข้อเรียกร้องของเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุข ได้เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหา ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาทิ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย สภาความมั่นคงแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ สปสช. องค์กรเอกชน เช่น มูลนิธิชุมชนไท มูลนิธิพัฒนาชุมชนเขตภูเขา ขณะนี้ได้ข้อสรุปแนวทางการแก้ไขปัญหา ทั้งมาตรการระยะเร่งด่วน และระยะยาว เพื่อให้เกิดกลไกการแก้ไขปัญหาที่เป็นระบบและยั่งยืน โดยเตรียมเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในสัปดาห์หน้า 3 ประเด็น ประกอบด้วย

1.เสนอให้สิทธิหรือขยายสิทธิขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุข ให้บุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิเพิ่มเติมอีกจำนวน 285,171 คน ซึ่งเป็นกลุ่มที่ยังไม่ได้รับสิทธิหลักประกันสุขภาพ ตามมติครม.เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2553 ที่ได้จัดสรรให้คนไร้รัฐไร้สัญชาติไปแล้ว 457,409 คน เนื่องจากขณะนั้นยังอยู่ระหว่างการสำรวจ ประกอบด้วย ผู้ที่มีปัญหาสถานะและสิทธิรวมถึงบุตรที่กระทรวงมหาดไทยได้ขึ้นทะเบียน มีเลขประจำตัว 13 หลักแล้ว จำนวน 208,631 คน เด็กและนักเรียนที่กำลังเรียนอยู่ในประเทศไทย ซึ่งได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานด้านการศึกษาจากกระทรวงศึกษาธิการ อยู่ระหว่างการจัดทำทะเบียนและกำหนดเลขประจำตัว 13 หลัก อีกจำนวน 76,540 คน เพื่อให้ได้รับสิทธิด้านการรักษาพยาบาล รวมทั้งการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค มีผลทันทีตั้งแต่วันที่ ครม.มีมติอนุมัติ

2.เสนอของบประมาณรายจ่ายประจำปี 2558 วงเงิน 412 ล้านบาท เพื่อให้สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข จัดสรรให้โรงพยาบาล โดยเฉพาะที่อยู่ตามแนวชายแดน เพื่อจัดบริการขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขแก่บุคคลดังกล่าว

และ 3.เสนอกรอบยุทธศาสตร์การจัดการสถานะและสิทธิในการบริการสาธารณสุขของบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิในประเทศไทยในภาพรวมทั้งระบบ เพื่อใช้เป็นกลไกในการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนระยะยาว และเป็นการแสดงเจตนารมณ์ในการปฏิบัติตามพันธกรณีตามกฎหมายระหว่างประเทศ ในการจัดหลักประกันสุขภาพแก่ทุกคนบนแผ่นดินไทย ซึ่งขณะนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจัดทำร่างยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์ย่อย ได้แก่

1.ยุทธศาสตร์การจัดสรรหลักประกันสุขภาพสำหรับคนทุกคนบนแผ่นดินไทย

2.ยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาวิกฤตการคลังจากการให้บริการสาธารณสุขแก่บุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิในประเทศไทย

3.ยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหาของบุคคลที่มีสถานะและสิทธิที่ไร้หลักประกันสุขภาพอย่างครบวงจร

และ 4.ยุทธศาสตร์การพัฒนาและเชื่อมโยงระบบสาธารณสุขของไทยและต่างประเทศในการแก้ปัญหาสถานะและสิทธิในบริการสาธารณสุขของบุคคลในบริบทของประชาคมอาเซียน

นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวต่อว่า เมื่อ ครม.มีมติอนุมัติการดำเนินการทั้ง 3 ประเด็น จะสามารถช่วยให้ผู้ที่มีปัญหาสถานะและสิทธิได้รับสิทธิหลักประกันสุขภาพ ได้รับบริการสาธารณสุขขั้นพื้นฐาน โดยไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่าย เพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพ เพิ่มความเข้มแข็งระบบป้องกันควบคุมโรค ช่วยแก้ไขปัญหาการเงินการคลังโรงของพยาบาล โดยเฉพาะตามแนวชายแดน ที่ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในการบริการผู้ป่วยเหล่านี้ สูงถึงปีละ 400 - 500 ล้านบาท เจ้าหน้าที่สามารถปฏิบัติงานได้อย่างสบายใจ ไม่ต้องกังวลถึงเม็ดเงินค่าใช้จ่ายอีกต่อไป นอกจากนี้ การดำเนินการครั้งนี้จะเป็นการมองภาพอนาคตเกี่ยวกับการจัดการระบบการบริการสาธารณสุขที่ตั้งรับกับบริบทของประชาคมอาเซียนอีกด้วย