ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หนังสือพิมพ์ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ : ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา "ศึกหมอ" ที่ทำท่าจะบานปลายและยืดเยื้อก็เข้าสู่สภาวะสงบนิ่ง(ชั่วคราว) เนื่องจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีคำสั่งให้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง และการใช้งบประมาณของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในช่วงที่ผ่านมาว่ามีการใช้จ่ายฟุ่มเฟือยหรือไม่

ส่งผลให้ประชาคมสาธารณสุขมีมติว่าจะยังคงไม่ยื่นหนังสือถึง"บิ๊กตู่" เพื่อให้ทราบถึงปัญหาระบบสาธารณสุขที่แท้จริง เพราะพอใจที่นายกฯ สั่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ สปสช.ด้วย แสดงให้เห็นว่านายกฯ ได้ให้ความใส่ใจต่อปัญหาด้านสาธารณสุข

ก่อนหน้านี้ ประชาคมสาธารณสุขและโรงพยาบาลต่างๆ ล้วนแต่แสดงความเห็นว่าเรื่องนี้ไม่เป็นธรรมต่อ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ.ที่ถูกสั่งย้ายไปช่วยราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี ระหว่างรอผลการสอบสวนข้อเท็จจริง ซึ่งเป็นการตั้งสอบเพียงฝ่ายเดียว กรณีไม่เดินหน้าตามนโยบายรัฐบาล ไม่ให้ความร่วมมือกับรัฐมนตรี สธ.จนงานภายในกระทรวงไม่เดินหน้า รวมไปถึงการกล่าวหาการใช้งบประมาณบัตรทองของ สปสช.ที่อาจมีความไม่ชอบมาพากล ด้วยการออกมาแต่งชุดดำ และขึ้นป้ายคัดค้าน เรียกร้องถึงการมีธรรมาภิบาล เพื่อให้ข้าราชการที่ดีได้มีที่ยืน

จนกลายเป็นปรากฏการณ์ระดับประเทศที่หาได้ยาก ที่จะมีข้าราชการและบุคลากรในสังกัดออกมาแสดงออก เพื่อให้กำลังใจต่อผู้บังคับบัญชาถึงเพียงนี้

อย่างไรก็ตาม นี่เป็นเพียงการชะลอความ "ปริแยก" ในวงการเสื้อกาวน์ไว้ก่อนเท่านั้น

ที่ต้องจับตาดูกันช่วงนี้คือ ผลสอบปลัด สธ.และ สปสช.จะออกมาเป็นอย่างไร

เริ่มแรกในส่วนของการตั้งคณะกรรมการสอบสวนฯปลัด สธ.นั้น จนบัดนี้คำสั่งที่ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงปลัด สธ.ผู้ถูกสอบสวนนั้นก็ยังไม่เห็นหนังสือคำสั่งดังกล่าว และยังไม่ทราบรายละเอียดเลยว่าจะสอบสวนในประเด็นรายละเอียดใดบ้าง เช่นเดียวกับกรรมการสอบก็ยังไม่เห็นหนังสือคำสั่ง แต่งตั้งเช่นกัน

หลายฝ่ายจึงตั้งข้อสงสัยว่าคำสั่งดังกล่าวถูกนำไปซ่อนไว้ใต้พรมตรงไหน เหตุใดจึงไม่กล้าเปิดเผยให้เห็น และที่หลายฝ่ายเป็นห่วงที่สุดคือ การสอบสวนจะประวิงเวลายืดเยื้อไปเรื่อยๆ จนกว่าปลัด สธ.จะเกษียณในช่วงปลายเดือน ก.ย.นี้หรือไม่

นอกจากนี้ ข้อกล่าวหาที่ว่าปลัด สธ.ไม่สนองตอบต่อนโยบายของรัฐมนตรี สธ. และงานในกระทรวงฯก็ไม่เดินหน้า จึงไม่แปลกที่เมื่อย้ายปลัด สธ.ไปช่วยสำนักนายกรัฐมนตรีแล้ว ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รมว.สาธารณสุข จะให้สัมภาษณ์ทันทีว่า การทำงานราบรื่นดี แต่สิ่งค้างคาใจผู้ปฏิบัติงานคือ รัฐมนตรี สธ.เร่งรัดให้เดินหน้านโยบาย 10 เรื่อง ซึ่งเกือบทั้งหมดล้วนเป็นนโยบายของปลัด สธ.ที่คิดที่ทำร่วมกันมากับผู้ปฏิบัติงานเพื่อแก้ปัญหาต่างๆ และเดินหน้ามาแล้ว 2-3 ปี

โดยเรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 16 มี.ค. ที่ผ่านมา ศ.นพ.รัชตะ ได้เรียกประชุมผู้บริหารระดับสูง สธ. และอธิบดีทุกกรม เป็นการส่วนตัวภายนอกกระทรวงหมอ เพื่อหารือถึงการทำงาน โดยเร่งรัดให้รีบเดินหน้านโยบาย 10 เรื่อง และวันที่ 17 มี.ค.ก็เรียกประชุมผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ร่วมกับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัด และ ผอ.รพ.ศูนย์/รพ.ทั่วไปทุกแห่ง เพื่อตอกย้ำให้เร่งรัดนโยบาย 10 เรื่องเช่นกัน

สำหรับนโยบายทั้ง 10 เรื่องนั้น ประกอบไปด้วย 1.เร่งรัดงานตามแนวพระราชดำริ และโครงการเฉลิมพระเกียรติพระราชวงศ์ทุกพระองค์ 2.เร่งรัดการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างงบลงทุนปี 2558 และงบกระตุ้นเศรษฐกิจให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 มี.ค.นี้ 3.เร่งรัดการพัฒนาระบบบริการตามเขตสุขภาพ (Service Plan) ทั้ง 10 สาขาให้มีความก้าวหน้า 4.พัฒนาหมอครอบครัว 5.พัฒนาการจัดเขตสุขภาพ เพื่อเป็นกลไกในการบริหารจัดการระบบสุขภาพ 6.เร่งรัดการสร้างเสริมสุขภาพตามกลุ่มวัย 7.พัฒนาการจัดระบบการดูแลผู้สูงอายุระยะยาว 8.พัฒนาและส่งเสริมระบบธรรมาภิบาล 9.อุบัติเหตุ และ 10.จัดการปัญหาขยะ

ทั้งนี้ นโยบายเกือบทั้งหมดนั้นล้วนเป็นงาน "รูทีน" ที่ ฝ่ายข้าราชการประจำดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว และบางเรื่องก็ไม่ได้อยู่ในนโยบาย 10 ข้อที่ ศ.นพ.รัชตะมอบให้แก่ข้าราชการประจำเมื่อมาดำรงตำแหน่งเป็นวันแรก โดยเฉพาะเรื่อง Service Plan 10 สาขา และการพัฒนาเขตสุขภาพ ไม่เคยพูดถึงมาก่อน

ทำให้หลายฝ่ายมองว่ารัฐมนตรี สธ. "หยิบยืม" นโยบายปลัด สธ.มาเป็นนโยบายของตัวเอง ซึ่งสวนทางกลับประเด็นสอบสวนปลัด สธ.ที่ว่าไม่สนองตอบต่อนโยบายรัฐมนตรีอย่างชัดเจน นอกจากนี้ ยังทำหน้าที่ซ้ำซ้อนกับ ฝ่ายข้าราชการประจำ เพราะแทนที่จะมอบนโยบายเพื่อให้ข้าราชการประจำนำไปแปลงเป็นแนวทางปฏิบัติว่าทำได้ ไม่ได้ ติดขัดตรงไหนอย่างไร แต่ด้วยความที่มีที่ปรึกษาเป็นมือเก๋ามีกึ๋น จึงกำหนดแนวทางปฏิบัติแบบเบ็ดเสร็จมาให้เลย

ขณะที่ฟาก สปสช.เองนั้น หลังจากกระทรวงหมอไร้เงาปลัดณรงค์ เมื่อวันที่ 19 มี.ค.ที่ผ่านมา ก็มีการแถลงข่าว โดยระบุชัดเจนว่าไม่เคยค้านนโยบายเรื่องเขตสุขภาพและ Service Plan ของ สธ. มีแต่สนับสนุน ทั้งที่ก่อนหน้านี้ก็ไม่เคยพูดชัดเจนเช่นนี้ และขณะนี้ก็กำลังเดินหน้างานด้วยกันอย่างราบรื่น

ทั้งนี้ นพ.ณรงค์ กล่าวว่า นโยบายทั้งหมดนั้นไม่ว่าใครจะนำไปเดินหน้าต่อก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะเป็นการนำไปช่วยแก้ปัญหา อย่างเรื่องเขตสุขภาพและ Service Plan จะช่วยแก้ปัญหาระบบสาธารณสุข ส่วนเรื่องพัฒนาการเด็ก สร้างเสริม สุขภาพตามกลุ่มวัย เป็นต้น ก็จะเป็นการไปช่วยเหลือประชาชน

สำหรับการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการใช้งบของ สปสช.นั้น แม้ประชาคมสาธารณสุขจะพอใจที่มีการตั้งสอบ แต่กลับมองว่าน่าจะเป็นการตั้งสอบ "แก้ขวย" เสียมากกว่า และ ยิ่งต้องจับตาเป็นพิเศษ เพราะนายกฯ ได้มอบให้นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ตั้งคณะกรรมการดังกล่าว จึงยิ่งน่าเป็นห่วง เพราะก่อนหน้านั้น นายยงยุทธ ยังให้สัมภาษณ์กับสื่อเองว่า สปสช.มีการตรวจสอบโดยสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) อยู่แล้ว พบเพียงการใช้เงินผิดวัตถุประสงค์เล็กน้อย ไม่ใช่เรื่องใหญ่ ทำให้คนในแวดวงสาธารณสุขกังวลว่า ผลการสอบจะออกมาเป็นเช่นไร

ส่วนข้อกังวลเรื่องการตั้งปลัด สธ.คนใหม่นั้น ซึ่งมีกระแสว่าจะตั้งก็ต่อเมื่อหาตำแหน่งให้ นพ.ณรงค์ ลงได้แล้วนั้น หลายคนเชื่อว่าไม่น่าจะเกิดขึ้น เพราะหากมีการดำเนินการเช่นนี้น่าจะเป็นการสร้างแรงกระเพื่อมขึ้นในวงการเสื้อกาวน์ขึ้นมาอีก และไม่เป็นผลดีต่อทุกฝ่าย แต่ที่น่าจับตาคือภายหลังปลัด สธ.เกษียณนั้น ผู้ที่จะมาเป็นปลัด สธ.คนใหม่ จะเดินหน้าสานต่องานที่ นพ.ณรงค์ และผู้ปฏิบัติงานร่วมกันทำมาตลอดหรือไม่

เพราะแค่เพียงการตั้ง นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รองปลัด สธ.ขึ้นมาเป็นรักษาการปลัด สธ.ในช่วงนี้ ทั้งที่มีอาวุโสน้อย โดยผลงานแรกของ นพ.สุรเชษฐ์ คือมาขยับเรื่องอำนาจของรองปลัด สธ.ใหม่ก่อนนั้น ก็สร้างความน่าเป็นห่วงไม่น้อย เมื่อมีการปรับ นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัด สธ.ซึ่งเปรียบเสมือนมือไม้ในการเดินหน้างานของปลัด สธ. ไม่ให้ดูแลงานด้าน สปสช.อีกต่อไป โดยให้ นพ.อำนวย กาจีนะ รองปลัด สธ.ดูแลแทน ก็กังวลว่าชะตากรรมของชาว สธ.จะเป็นอย่างไร

แต่ที่มีการคาดกันก็คือ ฝั่งแพทย์ชนบท อาจมีความพยายามในการดันคนของตัวเองขึ้นมาเป็นปลัด สธ.ให้ได้ ซึ่งถือเป็นความฝันอันสูงสุด เพราะที่ผ่านมาไม่เคยมีคนในสายของแพทย์ชนบทได้ขึ้นเป็นปลัด สธ.มาก่อน แต่ที่น่าจะลำบากก็คือ แพทย์ชนบทไม่ได้มีการวางทายาทไว้ในกระทรวงฯ ทำให้เติบโตไม่ทัน เพราะไปสวมบทมหาอำนาจนอกกระทรวงกันมากในองค์กรตระกูล ส. ทั้งหลาย และไม่คิดไม่ฝันว่าจะมีคนกล้าลุกขึ้นมาท้าชนเช่น นพ.ณรงค์ ที่เดินหน้าเรื่องค่าตอบแทนตามภาระงาน มาจนถึงการเสนอให้ปรับการจัดสรรงบบัตรทอง เพื่อแก้ปัญหาระบบการเงินการคลังที่ปัจจุบันโรงพยาบาลต่างขาดทุนกันย่อยยับ ซึ่งสุดท้ายก็ไม่พ้นถูกสั่งย้ายไปประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในที่สุด

อย่างไรก็ตาม ในระยะสั้นนี้ สิ่งที่ "บิ๊กตู่" ต้องเคลียร์เผือกร้อนลูกนี้คือ เร่งรัดผลสอบปลัด สธ. และ สปสช.ให้ออกมาแจ่มชัด และเป็นไปตามข้อเท็จจริง เพื่อลดแรงกระเพื่อมจาก ทุกฝ่าย ซึ่งสุดท้ายจะพบเจอหนทางในการแก้ปัญหาที่เหมาะสม ขอเพียงนายกฯ ต้องใส่ใจปัญหาระบบสาธารณสุขอย่างจริงจัง!!

ที่มา : หนังสือพิมพ์ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 21 - 27 มี.ค. 2558