ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“นิมิตร์” เผยความคืบหน้าองค์กรใหม่คุม 3 กองทุนรักษาพยาบาล อยู่ระหว่างการศึกษารูปแบบต่างประเทศ พร้อมเดินหน้าร่าง กม.จัดตั้งองค์กร ชี้ต้องเป็นองค์กรอิสระ ไม่อยู่ภายใต้ สธ. และบริหารโดย บอร์ด ประกอบด้วยตัวแทนจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดสิทธิประโยชน์ การจ่าย และต่อรองราคาร่วมกัน เชื่อรัฐบาลร่วมผลักดัน เหตุเป็นช่องทางลดความเหลื่อมล้ำ 3 กองทุน หลัง ม.10-11 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติไม่คืบหน้า แต่ไม่ตรงเจตนารมณ์ภาคประชาชน อยากให้รวมกองทุนเดียว  

นายนิมิตร์ เทียนอุดม 

นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวถึงกรณีการจัดตั้งองค์กรกลางเพื่อเป็นกลไกในการกำหนดสิทธิประโยชน์และราคาค่ารักษาพยาบาลให้กับ 3 กองทุนรักษาพยาบาล คือ กองทุนสวัสดิการข้าราชการ กองทุนประกันสังคม และกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติว่า ประเด็นการลดความเหลื่อมล้ำในระบบรักษาพยาบาลให้มีมาตรฐานเดียวกัน เป็นเรื่องที่กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพและภาคประชาชนส่งเสียงเรียกร้องมาตลอดตั้งแต่รัฐบาลพรรคเพื่อไทย รัฐบาลประชาธิปัตย์ และรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มีนโยบายลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งเรื่องนี้ได้ถูกกำหนดไว้ในมาตรา 10 และมาตรา 11 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ในการรวมทุกกองทุนเข้าด้วยกันให้เหลือเพียงกองทุนเดียว แต่ที่ผ่านมาไม่สามารถทำได้ เนื่องจากทุกครั้งที่เริ่มขยับก็มักจะมีเสียงคัดค้านเสมอ ดังนั้นการตั้งองค์กรกลางเพื่อเป็นกลไกกำหนดสิทธิประโยชน์และค่ารักษาพยาบาลร่วมกันจึงเป็นทางออก 

นายนิมิตร์ กล่าวว่า ต้องบอกว่าเป็นเรื่องที่ยากมากที่จะทำให้กองทุนรักษาพยาบาลเหลือเพียงระบบเดียว ดังนั้นเมื่อ คสช.ตั้งคณะกรรมการประสาน 3 กองทุนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการรักษาพยาบาล ซึ่งมี ดร.อัมมาร สยามวาลา เป็นประธาน จึงมีการเสนอตั้งองค์กรใหม่นี้ขึ้นเริ่มจากผู้แทนจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โดยเป็นองค์กรรูปแบบเดียวกันในประเทศเบลเยี่ยม ทำหน้าที่กำหนดสิทธิประโยชน์ กำหนดราคา ที่รวมไปถึงการต่อรองราคา ให้กับกองทุนรักษาพยาบาลต่างๆ โดยส่งข้อเสนอให้รัฐบาลเป็นผู้พิจารณา

สำหรับความเหลื่อมล้ำในระบบรักษาพยาบาลที่เกิดขึ้นนั้น นายนิมิตร์ กล่าวว่า ความเหลื่อมล้ำเกิดขึ้นเริ่มตั้งแต่ที่มาของเงินกองทุน ซึ่งรัฐบาลให้การสนับสนุนงบประมาณแต่ละกองทุนที่ไม่เท่ากัน จึงกลายเป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำในระบบสุขภาพนี้ โดยกองทุนรักษาพยาบาลข้าราชการรัฐบาลได้จัดสรรงบที่ 12,000-15,000 บาทต่อคน ขณะที่ประกันสังคม รัฐสนับสนุนเพียงร้อยละ 0.8 ของรายได้ให้กับผู้ประกันตน ส่วนระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าอยู่ที่ประมาณ 3,000 บาทต่อคน ซึ่งข้อเสนอลดความเหลื่อมล้ำนี้แม้ว่าที่ผ่านมาทุกฝ่ายต่างเห็นด้วย แต่พอจะบริหารจัดการให้เหลือเพียงกองทุนเดียวกลับไม่มีใครสนับสนุน จึงต้องหาวิธีบริหารจัดการแทนด้วยการตั้งจัดตั้งองค์กรกลางเพื่อดำเนินการแทน

“ขณะนี้คณะทำงานอยู่ระหว่างการศึกษาว่าประเทศไทยควรใช้รูปแบบใดในการบริหารกองทุนรักษาพยาบาลเพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งนอกจากประเทศเบลเยี่ยมที่ สปสช.นำเสนอแล้ว ยังมีตัวอย่างจากประเทศฝรั่งเศส เยอรมัน และญี่ปุ่น ซึ่งทางคณะทำงานได้เชิญผู้เชี่ยวชาญจากประเทศเหล่านี้มาร่วมพูดคุยและให้ข้อมูลในวันที่ 1 เม.ย. นี้ เพื่อให้คณะทำงานพิจารณาหารูปแบบที่เหมาะสมกับประเทศไทยมากที่สุด” ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าว และว่า อย่างไรก็ตามการกำหนดสิทธิประโยชน์การรักษาพยาบาลที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ส่วนตัวมองว่าเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของการลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งในการปฏิรูประบบรักษาพยาบาล หากไม่แตะที่งบประมาณขาเข้ากองทุนรักษาพยาบาลที่ไม่เท่ากันที่เป็นต้นต่อสำคัญของปัญหาความเหลื่อมล้ำนี้ ปัญหาความไม่เท่าเทียมกันในระบบรักษาพยาบาลก็จะยังคงอยู่เช่นเดิม

นายนิมิตร์ กล่าวว่า สำหรับการจัดตั้งองค์กรกลางเพื่อกำหนดสิทธิประโยชน์และการจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้กับ 3 กองทุน แม้ว่าจะมีจุดแข็ง คือการกำหนดสิทธิประโยชน์แต่ละกองทุนให้เป็นมาตรฐานเดียว แต่ก็มีจุดอ่อนเช่นกันเพราะการจัดตั้งองค์กรใหม่นี้จะต้องมีการใช้งบในการบริหารจัดการเพื่อทำหน้าที่ใหม่นี้ ซึ่งเท่ากับว่าเราต้องมีค่าใช้จ่ายบริหารในระบบสุขภาพเพิ่มขึ้น และส่วนตัวมองว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่แพงเกินไป ขณะเดียวกันระบบยังเปิดช่องให้บางกองทุนสามารถกำหนดและให้สิทธิประโยชน์พิเศษสำหรับผู้มีสิทธิในระบบตนเองได้ที่จ่ายนอกเหนือจากสิทธพื้นฐานที่องค์กรกลางกำหนด ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ทำให้กังวลว่า อาจเป็นการลงทุนที่สูญเปล่า เพราะเท่ากับเป็นการเบี่ยงเบนวัตถุประสงค์การจัดตั้งองค์กรใหม่นี้

ผู้สื่อข่าวถามว่า เบื้องต้นรูปแบบองค์กรกลางใหม่นี้ควรเป็นอย่างไร นายนิมิตร์ กล่าวว่า องค์กรกลางที่จัดตั้งใหม่นี้ต้องเป็นอิสระ และต้องไม่อยู่ภายใต้กำกับของกระทรวงสาธาณสุข เพราะเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะเพราะจะมีปัญหาเรื่องประโยชน์ทับซ้อนได้ เนื่องจากกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้บังคับบัญชาโรงพยาบาลในสังกัดร่วม 800 แห่ง ยกเว้นกระทรวงสาธารณสุขจะมีการปรับรูปแบบการบริหารใหม่ที่ให้โรงพยาบาลเป็นอิสระ อย่างไรก็ตามเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำนี้ถือเป็นการปฏิรูประบบสุขภาพ โดยเริ่มที่การจัดตั้งองค์กรกลางก่อน เดินหน้าแบบค่อยเป็นค่อยไป ประนีประนอมแบบไทยๆ ซึ่งในอนาคตอาจรวมให้เป็นระบบเดียวกัน

นอกจากนี้ในการดำเนินงาน องค์กรกลางที่จัดตั้งใหม่นี้ต้องบริหารในรูปแบบคณะกรรมการ โดยสัดส่วนของผู้ที่เป็นกรรมการต้องมีการพิจารณาให้ดี หากยังคงใช้รูปแบบเดียวกับบอร์ดองค์กรอื่นๆ ที่มีข้าราชการประจำจากหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วมจำนวนมากก็อาจเป็นปัญหาได้ ทั้งนี้คณะกรรมการบริหารกองทุนถือเป็นหัวใจสำคัญของจัดทำกลไกกลางเพื่อกำหนดสิทธิประโยชน์รักษาพยาบาลร่วมกัน ซึ่งผู้แทนที่เข้าร่วมเป็นกรรมการนอกจากจะต้องไม่มีลักษณะที่เข้ามาปกป้องระบบตนเองแล้ว ยังต้องมีมาตรการดำเนินการกับกองทุนที่ไม่ดำเนินการตามที่องค์กรกลางกำหนด ซึ่งนี้ถือเป็นความยากซึ่งในการร่างกฎหมายต้องคิดให้ถึง

สำหรับความคืบหน้าในการจัดตั้งองค์กรกลางนี้ หลังจากที่ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาดำเนินการ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อร่างกฎหมายในการจัดตั้งองค์กรใหม่ โดยได้ประชุมร่วมกันในทุกเดือน และหลังจากร่างกฎหมายเสร็จสิ้นจะส่งเข้า ครม.พิจารณา ซึ่งขึ้นอยู่กับรัฐบาลว่าจะเลือกช่องทางโดยส่งไปยังรัฐสภา หรือออกเป็นพระราชกฤษฎีกาโดยใช้อำนาจรัฐ ส่วนจะใช้เวลานานแค่ไหนนั้น ความเห็นส่วนตัวเห็นว่าการออกกฎหมายในยุคนี้ไม่นานถ้ารัฐบาลต้องการเดินหน้า

“การจัดตั้งองค์กรลางเพื่อทำให้กองทุนรักษาพยาบาลเป็นมาตรฐานเดียวกัน มีแนวโน้มว่ารัฐบาลน่าจะเห็นด้วย เนื่องจากเป็นของเสนอคณะกรรมการประสานร่วม 3 กองทุน ที่รัฐบาลแต่งตั้งเอง เพื่อลดความเหลื่อมล้ำการรักษาพยาบาลให้กับประชาชน แต่ทั้งนี้แม้จะมีการตั้งองค์กรกลางใหม่นี้ แต่ก็ยังไม่ตรงกับเจตนาของภาคประชาชน เนื่องจากยังเป็นทิศทางที่ยังคงให้มี 3 กองทุนรักษาพยาบาลอยู่ ขณะที่เป้าหมายสูงสุดของภาคประชาชนคือการรวมกองทุนรักษาพยาบาลทั้งหมดเป็นกองทุนเดียว มีการจ่ายค่ารักษาที่เป็นอัตราเดียว” ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้แต่ละกองทุนรักษาพยาบาลยังมีความเหลื่อมล้ำใดบ้าง นายนิมิตร์ กล่าวว่า นอกจากการสนับสนุนงบประมาณกองทุนรักษาพยาบาลของภาครัฐที่แตกต่างกันตามที่กล่าวไว้ข้างต้นแล้ว ยังมีความแตกต่างสิทธิการเข้ารับบริการ โดยผู้สิทธิสวัสดิการข้าราชการสามารถเข้ารักษายังโรงพยาบาลรัฐที่ใดก็ได้ ขณะที่ผู้มีสิทธิระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจะต้องเริ่มรักษาที่หน่วยบริการใกล้บ้านใกล้ใจ ทั้งที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และคลินิกเอกชนในเมือง ส่วนผู้มีสิทธิประกันสังคมจะต้องเข้ารักษายังหน่วยบริการที่ลงทะเบียนไว้เท่านั้น ทำให้เกิดความแตกต่างและเหลื่อมล้ำในการรับบริการที่ไม่เท่ากัน

นอกจากนี้ยังมีสิทธิการรักษาพยาบาลที่แตกต่าง อย่างเช่น กรณีการรักษาผู้ป่วยตับอักเสบซี ซึ่งผู้ป่วยในระบบประกันสังคมก่อนรับการรักษาจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการตรวจยืนยันเอง ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงถึง 10,000 บาท แต่ขณะที่ระบบสวัสดิการข้าราชการกลับเบิกได้ทั้งหมด เป็นต้น

ต่อข้อซักถามว่า ความเป็นไปได้ของการแก้ไขต้นตอของความเหลื่อมล้ำ โดยเฉพาะการให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณแต่ละกองทุนที่เท่ากัน เพราะที่ผ่านมาแต่ละกองทุนจะมีเหตุผลของผู้มีสิทธิ์ เช่น ข้าราชการเงินเดือนน้อยก็ควรได้รับการดูแลสวัสดิการที่ดี นายนิมิตร์ กล่าวว่า คงต้องดูข้อมูลในปัจจุบัน ซึ่งวันนี้หากบอกว่าข้าราชการเงินเดือนน้อย คำถามคือว่าจริงหรือไม่ เพราะวันนี้ต้องบอกว่าเงินเดือนข้าราชการที่ได้รับไม่น้อย ทั้งยังมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งต้องบอกว่าใกล้เคียงกับพนักงานลูกจ้างภาคเอกชนระดับกลาง แต่ที่ผ่านมาเราไม่อยากถกเถียงเรื่องนี้ และภาครัฐในฐานะนายจ้างของข้าราชการเป็นเรื่องที่ถูกแล้วต้องจัดสวัสดิการให้กับลูกจ้าง เพียงแต่ต้องไม่ไปเบียดบังสร้างความเหลื่อมล้ำให้กับคนอื่นๆ ในประเทศ ดังนั้นจึงควรที่จะเปลี่ยนวิธีคิดใหม่