ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

แพทย์อาวุโสเกือบ 100 คน รวมพลังแสดงจุดยืน ​ประกาศปฏิญญา​หนุน พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ วอนรัฐบาลผ่านกฎหมาย ชี้ ทุกภาคส่วนต้องร่วมกันเดินหน้า เตือนรัฐบาลได้ไม่คุ้มเสีย แฉ ธุรกิจยาสูบ ตัวบงการอยู่เบื้องหลังการคัดค้าน ตั้งสมาคมบังหน้าแฝงทั่วโลก เผย กฎหมายห้ามแบ่งขายเพื่อนบ้าน ลาว พม่า มาเลเซีย บังคับใช้แล้ว

เมื่อวันที่ 30 มีนาคม ที่โรงแรมเดอะ สุโกศล สมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ พร้อมด้วยเครือข่ายวิชาชีพแพทย์ จัดพิธีประกาศปฏิญญา “แพทย์และบุคลากรสาธารณสุขอาวุโสหนุนกฎหมายบุหรี่ใหม่เพื่อคุณภาพชีวิตคนไทย” นำโดย ศ.เกียรติคุณ พญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์ ประธานสมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่, ศ.เกียรติยศ นพ.สงคราม ทรัพย์เจริญ หัวหน้าแพทย์ประจำพระองค์ อดีตนายกแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์  ผู้เสนอกฎหมายให้พิมพ์ภาพคำเตือนข้างซองบุหรี่ เป็นคนแรกของประเทศไทย, นพ.หทัย ชิตานนท์ ประธานสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย และประธานภาคีกฎหมายบุหรี่โลก (2550-2551), ศ.เกียรติคุณ พญ.ชนิกา ตู้จินดา อดีตคณบดี คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล, นพ.มงคล ณ สงขลา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

ศ.นพ.อุดมศิลป์ ศรีแสงนาม อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข, นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ รองประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.), ศ.นพ.อมร ลีลารัศมี ประธานราชวิทยาลัยอายุแพทย์แห่งประเทศไทย, ศ.นพ.วินิต พัวประดิษฐ์ คณบดีคณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี, นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ, ศ.เกียรติคุณ นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และคณะแพทย์และบุคลากรสาธารณสุขอาวุโสประมาณ 100 คน ร่วมแสดงจุดยืน​ประกาศปฏิญญา​เรียกร้องให้คณะรัฐบาลเห็นชอบสนับสนุนร่างพระราชบัญญัติความคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ

ศ.เกียรติคุณ พญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์

ศ.เกียรติคุณ พญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์ ประธานสมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ กล่าวว่า ร่างพ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. ... ถือเป็น 1 ในกฎหมายเร่งด่วนของกระทรวงสาธารณสุข 20 ฉบับ ที่ได้นำเสนอต่อรัฐบาล เพราะถือเป็นกฎหมายที่จำเป็นต้องปรับปรุงเนื่องจากมีความล้าหลังไม่เท่าทันต่อสถานการณ์ และประเทศไทยมีข้อผูกพันที่จะต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดของอนุสัญญาควบคุมยาสูบ องค์การอนามัยโลก ในการปกป้องคนไทยจากพิษภัยของยาสูบ  ซึ่งปัจจุบันเลยมาเป็นเวลา 4 เดือนแล้ว แต่ร่างกฎหมายก็ยังไม่ได้รับการบรรจุเข้าที่ประชุมครม. เพื่อพิจารณา และจากที่มีการเสนอความเห็นว่ากฎหมายอาจมีผลกระทบต่อโชห่วยและชาวไร่ยาสูบนั้น ในความเป็นจริงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นนั้นจะมีน้อยมาก เพราะเนื้อหากฎหมายเป็นไปเพื่อควบคุมการทำการตลาดที่กระทบต่อเด็กและเยาวชน ​ที่จะกลายเป็นนักสูบหน้าใหม่

“​เหล่าแพทย์อาวุโส ​มีความเป็นห่วง ถึงความพยายามของบริษัทบุหรี่  ที่ใช้กลยุทธ์เตะถ่วงทำให้การพิจารณากฎหมายล่าช้า เพื่อให้การพิจารณากฎหมายไม่ทันในสมัยของรัฐบาลนี้ และ​ด้วยสำนึกในหน้าที่ที่จะต้องปกป้องประชาชนโดยเฉพาะเด็กไทยจากการเสพติดบุหรี่ ตามกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงให้ไว้เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2547 ในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม ความว่า “เห็นมีการรณรงค์ให้เลิกสูบบุหรี่  แล้วก็ห้ามขายบุหรี่ให้แก่เด็กต่ำกว่า 18  ที่จริงเด็กอายุ 50 ก็ควรจะห้าม”  ทั้งนี้ พบว่า ​7  ใน 10 คนของเด็กไทยที่เคยสูบบุหรี่จะติดบุหรี่จะติดไปตลอดชีวิต ดังนั้น พวกเราเหล่าแพทย์และบุคลากรสาธารณสุขอาวุโสจึงมีมติที่จะร่วมกันผลักดัน (ร่าง) พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับนี้ จนกว่าจะได้รับการพิจารณาจากคณะรัฐมนตรี และดำเนินการตามขั้นตอนเพื่อตราออกมาเป็นกฎหมาย เพื่อประโยชน์ของประชาชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งเยาวชนคนรุ่นใหม่ และเพื่อสุขภาพที่ดีและคุณภาพชีวิตที่ดีของคนไทยทั้งประเทศ เพราะกฎหมายนี้คงจะไม่สามารถผลักดันออกมาได้ในรัฐบาลปกติ เนื่องจากการคัดค้านของบริษัทบุหรี่” พญ.สมศรี กล่าว​

นพ.สงคราม ทรัพย์เจริญ

นพ.สงคราม ทรัพย์เจริญ หัวหน้าแพทย์ประจำพระองค์ ผู้เสนอกฎหมายให้พิมพ์ข้อความคำเตือนข้างซองบุหรี่เป็นครั้งแรกของประเทศไทย เมื่อพ.ศ. 2517 กล่าวว่า การทำงานเพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนเกิดอันตรายจากบุหรี่ เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน ในอดีตการทำงานเรื่องบุหรี่ถูกต่อต้านอย่างมาก การใส่คำเตือนลงในซองบุหรี่ ผ่านการชี้แจงหลายครั้งให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าใจว่า จำเป็นต้องเตือนให้ประชาชนทราบถึงพิษภัยของบุหรี่ ช่วยกันป้องกันไม่ให้ประชาชนสูบบุหรี่ และหาทางให้ประชาชนเลิกสูบบุหรี่ไปพร้อมๆ กัน ซึ่งกว่าจะผลักดันเป็นกฎหมายสำเร็จ ต้องทำงานอย่างหนัก อาศัยความร่วมมือจากองค์กรทางการแพทย์เพื่อช่วยกันอธิบายเหตุผล และขอความร่วมมือจากรัฐบาลให้เห็นความสำคัญ ซึ่งสถานการณ์ขณะนี้เหมือนในอดีตที่มีแรงต่อต้านจากธุรกิจบุหรี่ แม้ว่ารัฐบาลจะห่วงว่าภาษียาสูบจะลดลง แต่ก็ไม่สามารถยอมปล่อยให้ประชาชนเกิดโรคจากบุหรี่ได้ เพราะรายได้ที่ได้มานั้นไม่คุ้มกับสุขภาพประชาชนที่ต้องเสียไป และสุดท้ายรัฐบาลก็ต้องรักษาคนเหล่านี้ที่ป่วยหนักด้วยโรคที่ไม่มีวันหาย

นพ.มงคล ณ สงขลา 

นพ.มงคล ณ สงขลา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า มาตรการควบคุมการบริโภคยาสูบ เป็นเรื่องระหว่างการปกป้องสุขภาพของประชาชนกับผลกำไรของธุรกิจยาสูบที่ไม่สามารถต่อรองกันได้ แต่ละปีบริษัทบุหรี่ข้ามชาติมีกำไร 3,000 ล้านบาทในประเทศไทย และก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพของคนไทยจำนวนมาก เป็นภาระต่อโรงพยาบาลทั่วประเทศ  ซึ่งผู้ป่วยก็ล้นโรงพยาบาลและงบประมาณรักษาพยาบาลก็ไม่เพียงพอจนเป็นปัญหาในทุกวันนี้อยู่แล้ว ซึ่งร่างพ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกส่วน รวมถึงสมาคมค้าปลีกก็เข้าร่วมในกระบวนการตลอด แต่สมาคมค้าปลีกคัดค้านทุกมาตรา หากรัฐบาลยอมตามคำคัดค้านของสมาคมผู้ค้าปลีก จะเป็นการนำมาตรการคุ้มครองสุขภาพไปแลกกับผลกำไรทางธุรกิจยาสูบ เช่น การห้ามแบ่งมวนขาย ที่พบว่าเยาวชนอายุ 15-17 ปี ร้อยละ 88.3 ซื้อบุหรี่ด้วยวิธีนี้ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักทำให้เด็ก ๆ ติดบุหรี่  ซึ่งขณะนี้มี 97 ประเทศทั่วโลก ได้ประกาศ​ห้ามแบ่งมวนขายแล้ว และในภูมิภาคนี้ ประเทศลาว เมียนมาร์​ มาเลเซีย สิงค์โปร บรูไน ก็มีมาตรการห้ามแบ่งขายเช่นกัน เพื่อป้องกันเยาวชนไม่ให้กลายเป็นนักสูบหน้าใหม่ เช่นนี้แล้วประเทศไทยจะยอมตามข้อเรียกร้องของบริษัทบุหรี่หรือ

นพ.หทัย ชิตานนท์ ประธานสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย และประธานภาคีกฎหมายบุหรี่โลก (2550-2551) กล่าวว่า การคัดค้านร่างพ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ ที่เกิดขึ้น เป็นกลุ่มองค์กรที่จัดตั้งบังหน้าโดยทุนของบริษัทบุหรี่ข้ามชาติ มีวิธีการคือ นำเงินมาจัดตั้งองค์กร คือ สมาคมผู้เพาะปลูกยาสูบนานาชาติ มีสำนักงานอยู่ในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก รวมทั้งในไทยมีสำนักงานอยู่ที่อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ บริษัทบุหรี่สนับสนุนเงินให้แก่สมาคมเหล่านี้ เพื่อชี้นำ ชี้แนะ การจัดกิจกรรมที่มีการให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องต่อสาธารณะ รวมถึงออกข่าวผ่านสื่อมวลชน อาทิ การต่อต้านอนุสัญญาควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก ต่อต้านรัฐบาลไทยไม่ให้ขึ้นภาษีบุหรี่ และคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ ฉบับนี้ด้วย ซึ่งไม่ใช่ในประเทศไทยประเทศเดียว ประเทศอื่นๆ ก็มีการดำเนินการคัดค้านกฎหมายควบคุมบุหรี่ด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ ยืนยันว่า รายละเอียดกฎหมายไม่มีมาตราใดที่เกี่ยวข้องหรือส่งผลกระทบต่อชาวไร่ยาสูบ

นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ รองประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวว่า ​ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูป ได้เน้นระบบสุขภาพเชิงรุก ตั้งแต่ระดับชุมชน ตำบล อำเภอ เพื่อสร้างเสริมสุขภาพ ควบคุม และป้องกันโรค มากกว่าการรักษา การที่สมาคมการค้ายาสูบไทย TTTA และ ธุรกิจบุหรี่ อ้างว่ากฎหมายนี้ทำร้ายโชห่วย ​ชาวไร่ยาสูบ เป็นการให้ข้อมูลที่สร้างความเข้าใจผิดต่อสังคมอย่างไม่รับผิดชอบ คาดการณ์ว่ากำไรของค้าปลีกจากการขายยาสูบโดยเฉลี่ยจะลดลงไม่ถึงร้อยบาทต่อเดือน ในขณะที่บริษัทบุหรี่ข้ามชาติจะมีรายได้ลดลงปีละร้อยห้าสิบล้านบาท จึง​ใช้ร้านค้าปลีก โชห่วยเป็นข้ออ้าง ส่วนชาวไร่ยาสูบ ในความเป็นจริงอีกนานกว่าปริมาณการสูบบุหรี่จะลดลงจากการออกกฎหมายนี้ จนกระทบต่อชาวไร่และรัฐบาลมีทางออกให้ปลูกพืชอื่นทดแทนได้ สิ่งสำคัญที่ธุรกิจยาสูบไม่เคยพูดถึง คือ ​มีคนไทยตายปีละ 50,000  คน เจ็บป่วยอีกหลายล้านคน รัฐต้องสูญเสียงบประมาณมหาศาลในการรักษาโรคที่เกิดจากบุหรี่

ในขณะที่บริษัทบุหรี่ยังกำไรอย่างต่อเนื่อง และยังพบว่าคนไทยที่จนที่สุด1,400,000 คน ที่มีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 2,000 บาทที่ติดบุหรี่ต้องเสียเงินค่าบุหรี่ถึง 540 บาทต่อเดือน แทนที่จะนำไปใช้ในเรื่องที่มีประโยชน์อย่างอื่น ซึ่งถือเป็นการทำร้ายคนจนอย่างร้ายแรง ​จึงอยากถามว่า ที่บริษัทบุหรี่อ้างว่ากฎหมายฉบับใหม่นี้ทำร้ายโชห่วย แล้วทุกวันนี้บริษัทบุหรี่ทำร้ายสังคมไทยอย่างไร เคยมีสำนึกบ้างไหม ปัจจุบัน​สถาบันสิทธิมนุษยชนทั่วโลกเรียกร้องให้ธุรกิจเอกชนออกมารับผิดชอบต่อสังคมแทนการกอบโกยเอาแต่กำไรดังเช่นที่ผ่านมา ซึ่งกรณีของธุรกิจบุหรี่การแสดงความรับผิดชอบที่ถูกต้องที่สุด คือการปฏิบัติตามกฎหมาย และไม่ออกมาแทรกแซงกระบวนการออกกฎหมายควบคุมยาสูบ