ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“นายกเทศมนตรีเมืองมหาสารคาม” หนุนโพลสำรวจ ปชช.พึงพอใจ “โครงการ 30 บาท รักษาทุกโรค” สูงสุด เหตุช่วยคนไทย 48 ล้านคนมีหลักประกันสุขภาพ เข้าถึงการรักษาอย่างทั่วถึง พร้อมแนะรัฐบาลเพิ่มงบประมาณ ยกคุณภาพรักษา เหตุเป็นโครงการประชาชนรับประโยชน์โดยตรง แถมช่วยหน่วยบริการลดภาวะกดดันบริการภายใต้ทรัพยากรจำกัด ด้าน “นายกสมาคมพนักงานเทศบาลฯ” ชี้เป็นโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน พร้อมระบุเหตุ กรมการปกครอง - อปท.มอบ สปสช.บริหารกองทุนรักษาพยาบาล อปท. เพราะบริหารกองทุนมีประสิทธิภาพ

จากกรณีที่สวนดุสิตโพลได้สำรวจความเห็นประชาชนต่อผลงานรัฐบาลรายกระทรวงที่ประชาชนชื่นชอบ โดยพบว่าในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข ผลงานที่ประชาชนพึงพอใจมากที่สุดคือ โครงการ 30 บาท รักษาทุกโรค ทั้งยังมีคะแนนความพึงพอใจที่ได้รับจากประชาชนสูงถึงร้อยละ 78.63 ซึ่งสูงกว่าผลงานอันดับหนึ่งของกระทรวงอื่นๆ

นพ.กิตติศักดิ์ คณาสวัสดิ์ นายกเทศมนตรีเมืองมหาสารคาม ในฐานะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กล่าวว่า จากผลสำรวจดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า โครงการ 30 บาท รักษาทุกโรค หรือ “โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” (บัตรทอง) ยังเป็นโครงการที่ครองใจชาวบ้านมาอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 14 ปี หลังเริ่มดำเนินโครงการเมื่อปี 2545 และเชื่อว่าจะยังคงได้รับความพึ่งพอใจอย่างต่อเนื่องต่อไป เนื่องจากเป็นโครงการที่ทำประโยชน์ให้กับประชาชนโดยตรง ทำให้ประชาชน 48 ล้านคนทั่วประเทศมีระบบหลักประกันสุขภาพรองรับ เข้าถึงการรักษาพยาบาลได้อย่างทั่วถึง จากที่แต่เดิมมีประชาชนจำนวนไม่น้อยที่เข้าไม่ถึงการรักษา รวมถึงมีประชาชนจำนวนไม่น้อยที่ต้องประสบภาวะล้มละลายจากภาระค่ารักษาพยาบาลนี้ 

นพ.กิตติศักดิ์ กล่าวว่า ผลงานที่เกิดขึ้นนี้ ส่วนหนึ่งมาจากการดำเนินงานของ “สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)” รวมถึงการบริหาร “กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” ในรูปแบบ “คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” ประกอบด้วยผู้แทนทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ส่งผลให้มีการพัฒนาสิทธิประโยชน์การรักษาพยาบาลต่างๆ ภายหลังระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าอย่างต่อเนื่อง ตรงความต้องการประชาชน ทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาอย่างทั่วถึง ไม่ว่าจะเป็นการดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง ผู้ป่วยโรคมะเร็ง และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เป็นต้น พร้อมกันนี้ยังได้ร่วมกับผู้ให้บริการหน่วยงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงกลาโหม และ กทม. รวมถึงภาคเอกชน เป็นต้น    

“วันนี้ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศไทยค่าเฉลี่ยยังไม่ถึง 4% ของจีดีพี ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำกว่าหลายประเทศในอาเซียนที่มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 5% และเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มประเทศ OECD หรือ องค์กรเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 9.3% ดังนั้นค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของไทยจึงถือว่าต่ำมาก ซึ่งรวมถึงงบประมาณในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ขณะที่มีการกำหนดสิทธิประโยชน์การรักษาพยาบาลหลากหลายและต้องได้มาตรฐาน ทั้งยังครอบคลุมประชากรทั่วประเทศ จึงทำให้เกิดปัญหาในระบบบริการอย่างมาก ดังนั้นรัฐบาลจึงควรให้ความสำคัญเพิ่มงบประมาณในส่วนนี้ ซึ่งนอกจากเป็นการเพิ่มคุณภาพการรักษาพยาบาลให้กับประชาชนแล้ว ยังเป็นการช่วยหน่วยบริการที่ต้องทำงานภายใต้ทรัพยากรที่จำกัด และเป็นสาเหตุความขัดแย้งในระบบสาธารณสุขขณะนี้” นายกเทศมนตรีเมืองมหาสารคาม กล่าวและว่า ทั้งนี้เพื่อให้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เป็นระบบรักษาพยาบาลที่สมกับได้รับการชื่นชมจากต่างประเทศ 

นพ.กิตติศักดิ์ กล่าวว่า นอกจากผลงานด้านการรักษาพยาบาลแล้ว การดำเนินงาน สปสช. ยังให้ความสำคัญต่องานสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค โดยจับมือร่วมกับ อปท. ในการสนับสนุนการจัดตั้ง “กองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่น” หรือ “กองทุนสุขภาพตำบล” ปัจจุบันมี อปท.ทั่วประเทศร่วมสนับสนุนงบประมาณจัดตั้งกองทุนนี้ ซึ่งได้สร้างความตื่นตัวให้ อปท.และชาวบ้านในการหันมาใส่ใจดูแลสุขภาพตนเองเพิ่มขึ้น   

ด้าน นายสรณะ เทพเนาว์ นายกสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย และสมาชิกสภาผฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) กล่าวว่า กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นกองทุนรักษาพยาบาลที่เป็นประโยชน์กับประชาชนอย่างมาก เพราะช่วยให้เข้าถึงการรักษาอย่างทั่วถึง และจากศักยภาพการบริหารของ สปสช.ที่ได้ดำเนินสิทธิประโยชน์ต่างๆ ภายใต้งบประมาณที่จำกัด ซึ่งที่ผ่านมากรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย และ อปท. จึงได้ลงความเห็นร่วมกัน เพื่อให้ สปสช.ช่วยบริหารกองทุนรักษาพยาบาลข้าราชการพนักงานส่วนท้องถิ่น และได้ดำเนินการต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 โดยได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ช่วยข้าราชการและพนักงานส่วนท้องถิ่นเข้าถึงการรักษาเพิ่มขึ้น

“สาเหตุที่กรมการปกครอง และ อปท.มอบให้ สปสช.เดินหน้าบริหารกองทุนรักษาพยาบาล อปท. เพราะ สปสช.มีประสิทธิภาพในการบริหารกองทุนรักษาพยาบาล ซึ่ง 14 ปี ของการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นผลงานที่พิสูจน์ฝีมือการดำเนินงานได้ดี นอกจากนี้ สปสช.ยังมีโครงข่ายเชื่อมโยงกับหน่วยบริการทั่วประเทศที่เอื้อต่อการเข้าถึงการรักษาของข้าราชการและพนักงานส่วนท้องถิ่น” นายสรณะ กล่าว