ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สาธารณสุข จัดหน่วยบริการทำขาเทียมเคลื่อนที่ถึงชุมชนในจังหวัดชลบุรี แม่ฮ่องสอน นครศรีธรรมราช และพิจิตร ตั้งเป้าใส่ขาเทียมผู้พิการขาขาดฟรี 600 ราย เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุ 60 พรรษา ขณะนี้ทั่วประเทศมีคนพิการ 1.5 ล้านกว่าคน สาเหตุจากอุบัติเหตุ และเบาหวาน ตั้งเป้าบริการทำขาเทียมให้คนขาขาดครบ 100 เปอร์เซ็นต์ภายในปี 2559  

เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2558 ที่ ศาลาประชาคม อ.เมือง จ.ชลบุรี ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดโครงการส่งเสริมศักยภาพคนพิการขาขาด มอบขาเทียมและอุปกรณ์เครื่องช่วยความพิการแก่คนพิการ และให้สัมภาษณ์ว่า ในปี 2558 นี้ กระทรวงสาธารณสุขได้จัดโครงการส่งเสริมศักยภาพคนพิการขาขาด เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุครบ 60 พรรษาในวันที่ 2 เมษายน 2558 โดยจัดบริการเคลื่อนที่ด้วยรถโมบาย ซึ่งได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ พระราชทานให้แก่ศูนย์สิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ เมื่อพ.ศ.2549 ให้บริการฟรีเบ็ดเสร็จที่จุดเดียวถึงชุมชน หมู่บ้าน ใน 4  จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี นครศรีธรรมราช แม่ฮ่องสอนและพิจิตร เพื่อลดข้อจำกัดด้านการเดินทางให้แก่ผู้พิการ บริการประกอบด้วยการขึ้นทะเบียนคนพิการ ทำขาเทียม และซ่อมแซมอุปกรณ์ช่วยความพิการ ตั้งเป้าทำขาเทียมจำนวน 600 ราย  ใช้งบประมาณ 10  ล้านบาท โครงการจะสิ้นสุดในเดือนพฤษภาคมนี้

กระทรวงสาธารณสุข ได้เร่งพัฒนาระบบบริการผู้พิการให้ทั่วถึง เพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพให้ช่วยเหลือตนเองได้มากที่สุดตามศักยภาพ  เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีข้อจำกัดมากกว่ากลุ่มอื่น การสำรวจโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติล่าสุดในปี 2555 พบทั่วประเทศมีคนพิการ 1.5 ล้านกว่าคน ร้อยละ 80 อยู่ในชนบท ได้รับการจดทะเบียนตามพ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิต 1.4 ล้านกว่าคน เกือบร้อยละ 50 เป็นผู้พิการทางการเคลื่อนไหวและเป็นผู้สูงอายุ โดยมีคนพิการขาขาดระดับข้อเท้าขึ้นมาประมาณ 40,000 คน แนวโน้มเพิ่มขึ้นจากความเสื่อมจากภาวะสูงวัย อุบัติเหตุ และโรคเรื้อรัง โดยเฉพาะเบาหวานมีผู้ถูกตัดขาระดับข้อเท้าขึ้นมาเพิ่มปีละกว่า 3,500 คน 

ศ.นพ.รัชตะ กล่าวต่อว่า ในปีนี้มีนโยบายให้ทีมหมอครอบครัวร่วมกับ อสม.ออกดูแลผู้พิการทุกคนในหมู่บ้านชุมชน ให้ได้รับการขึ้นทะเบียน เพื่อรับสิทธิต่างๆ ตามกฎหมาย ทั้งการศึกษา อาชีพ สาธารณสุข และตั้งเป้าใส่ขาเทียมให้ผู้พิการขาขาดที่ยังไม่มีขาเทียม ซึ่งคาดว่ามีประมาณ 10,000 คน ให้ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ภายในปี 2559 นี้ พร้อมทั้งจะเพิ่มตำแหน่งนักกายอุปกรณ์อีก 187 อัตรา จากเดิมที่มีประมาณ 200 คนเพื่อกระจายบริการให้เพียงพอ และพัฒนาทักษะการผลิตเครื่องช่วยความพิการให้มีคุณภาพมากขึ้น    

นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า หน่วยบริการเคลื่อนที่ จ.ชลบุรี นับเป็นแห่งที่ 3 ของโครงการในปีนี้ บริการตั้งแต่วันที่ 24-30 มีนาคม 2558 ได้ผลิตขาเทียม 129 ราย  ซ่อมขาเทียม 22 ราย ผลิตแขนเทียม 3 ราย  และมอบอุปกรณ์ช่วยผู้พิการที่ขาขาดแต่ไม่สามารถใช้ขาเทียมได้แก่ ไม้เท้า 24 ชิ้น รถเข็น 23 คัน รถโยก 2 คัน อบรมการออกเอกสารรับรองความพิการให้บุคลากร 100 คน และออกเอกสารรับรองความพิการแก่คนพิการที่ยังไม่เคยมีบัตรประจำตัวคนพิการหรือทำบัตรหาย  ทั้งนี้ ศูนย์สิรินธรเพื่อการฟื้นฟูฯ กรมการแพทย์ ได้บริการออกหน่วยเคลื่อนที่ฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว ตั้งแต่พ.ศ.2548 - 2557 รวม 45 ครั้งใน 36 จังหวัด ผลิตขาเทียม 3,201 ขา ซ่อมอุปกรณ์ช่วยความพิการ 2,220 ชิ้นมอบรถนั่งคนพิการ  ไม้เท้า ไม้ค้ำยัน  14,193 ชิ้น