ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เว็บไซต์มติชนออนไลน์ : ชมรม รพศ./รพท. เสนอ สนช.แก้ปัญหาขาดแคลนแพทย์ เผยทุกปีมีแพทย์บรรจุใหม่ลาออก 40% หรือ 600 คน ระบุ 2 ทางออก คัดนักเรียนจากชนบทเตรียมความพร้อมก่อนปริญญา และจัดโครงการพิเศษให้จนท.จบปริญญาตรีสุขภาพที่มีความพร้อมเรียนต่อยอดเป็นแพทย์ ส่วนข้อเสนอปฏิรูประบบสุขภาพ ไม่เห็นด้วยให้ รพ.ออกนอกระบบ แจงยังไม่ถึงเวลา แม้ รพ.บ้านแพ้วยังต้องออกมาให้บริการนอกพื้นที่เพื่อหางบประมาณ แต่หนุนเขตสุขภาพ หากจะออกนอกระบบก็ออกในรูปแบบเขตสุขภาพ

1 เม.ย.58 เว็บไซต์มติชนออนไลน์รายงานว่า นพ.ธานินทร์ สีวราภรณ์สกุล ประธานชมรมโรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไป (รพศ./รพท.) และผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา กล่าวภายหลังการเข้าหารือร่วมกับคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อเสนอแนวทางปฏิรูประบบสุขภาพ ว่า คณะกรรมาธิการฯได้เปิดโอกาสให้กลุ่มวิชาชีพ ชมรมต่าง ๆ เสนอแนะแนวทางการปฏิรูประบบสาธารณสุข โดยทางชมรมฯได้เสนอปัญหาความขาดแคลนแพทย์ในกระทรวงสาธารณสุข เนื่องจากปัจจุบันยังมีการลาออกของแพทย์เป็นจำนวนมากทุกปีเกือบร้อยละ 40 ของจำนวนแพทย์บรรจุใหม่ ซึ่งตกปีละประมาณ 600 คน

นพ.ธานินทร์ กล่าวอีกว่า ทางออกคือ ควรมีการคัดนักเรียนจากพื้นที่ชนบทจริง ๆ และเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่ระบบการเรียนระดับปริญญาให้มากขึ้นกว่าเดิม รวมทั้งจัดให้มีโครงการพิเศษรับเจ้าหน้าที่ที่จบปริญญาตรีด้านสุขภาพ และมีความพร้อมที่จะเรียนต่อยอดเป็นแพทย์ ซึ่งกลุ่มนี้มีข้อมูลว่ากลับภูมิลำเนาและคงอยู่ในพื้นที่นาน

นอกจากนี้ ต้องมียุทธศาสตร์ระดับชาติเพื่อผลิตแพทย์ให้ประเทศที่ชัดเจนตามความต้องการ โดยควรแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ แพทย์เฉพาะทางมีความเชี่ยวชาญระดับสูง สำหรับดูแลโรคซับซ้อน และแพทย์ที่ทำหน้าที่ในต่างจังหวัด มีผู้เชี่ยวชาญสาขาหลัก เพื่อรับส่งต่อดูแลผู้ป่วยที่ถูกส่งมาจากโรงพยาบาลในชุมชน โดยผู้เชี่ยวชาญกลุ่มนี้ดูแลผู้ป่วยได้เกือบร้อยละ 90 มีบางส่วนที่จะส่งต่อไปยังแพทย์กลุ่มแรกเท่านั้น

นพ.ธานินทร์ กล่าวว่า จริง ๆ แล้วก่อนหน้านี้ทางชมรมฯ เคยเสนอ สนช.ในเรื่องการปฏิรูประบบไปบ้างแล้ว อาทิ ควรปฏิรูประบบสุขภาพโดยใช้เขตสุขภาพเป็นหลัก พัฒนาให้มีประสิทธิภาพในกลุ่มจังหวัดของพื้นที่นั้น ๆ ทั้งเรื่องคุณภาพการบริการ และบุคลากรต่าง ๆ ส่วนเรื่องการออกนอกระบบ ทางชมรมฯมองว่ายังไม่ถึงเวลาที่จะเดินตามเหมือนโรงพยาบาลบ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร ที่กลายเป็นองค์การมหาชน เพราะแม้โรงพยาบาลบ้านแพ้วจะประสบความสำเร็จในการบริหารจัดการ แต่สิ่งหนึ่งที่เห็นชัด คือ ต้องออกให้บริการนอกพื้นที่ด้วย ซึ่งเป็นการหาทรัพยากรจากแหล่งอื่นนั่นเอง ดังนั้น หากโรงพยาบาลในสังกัดสธ.ออกนอกระบบหมด และต้องบริหารจัดการเอง หากทำดีมีประสิทธิภาพก็ดีไป แต่หากทำไม่ดีถึงขั้นล้มทีเดียว หากจะออกนอกระบบ ขอเสนอว่าควรจะพัฒนาในพื้นที่ให้มีประสิทธิภาพก่อน จากนั้นค่อยออกนอกระบบแต่เป็นในรูปแบบเขตสุขภาพ เพื่อที่จะได้อยู่ในรอดเป็นกลุ่มเป็นพื้นที่