ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นสพ.มติชน - ความขัดแย้งทางความคิดในวงการแพทย์และสาธารณสุขที่คุกรุ่นในขณะนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่า "นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์" รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นอีกคนหนึ่งที่ถูกผู้ใต้บังคับบัญชาจำนวนหนึ่งวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่าเป็นต้นเหตุของปัญหา อันเนื่องมาจากเป็นคนของกลุ่มแพทย์ตระกูล ส. ที่เข้ามาอยู่เบื้องหลังการบริหารงานของ นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการ สธ. ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร อ่านบทสัมภาษณ์พิเศษ "มติชน" นับจากบรรทัดนี้

ท่านเข้ามาบริหารในช่วงที่ สธ. เกิดวิกฤตทางความคิด ?

อย่าพูดแบบนั้นเลยครับ เพราะระบบสุขภาพในประเทศไทยมีความเห็นแตกต่างกันมาตลอด แต่ยังสามารถขับเคลื่อนไปได้ อย่างสมัย ศ.นพ.เสม พริ้งพวงแก้ว เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการ สธ. ท่านเสนอให้นำแพทย์สายส่งเสริมและสายรักษามาทำงานร่วมกัน เพราะหากแยกกัน จะทำให้เกิดการแย่งชิงงบประมาณ ด้วยเหตุที่ว่าแพทย์สายส่งเสริมจะพัฒนาได้น้อยกว่าแพทย์สายรักษา ศ.นพ.เสมใช้เวลาในการรวมกันของ 2 สาย ท่ามกลางความขัดแย้งมากมาย จนสุดท้ายเกิดเป็นสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) และบ่อเกิดอื่นๆ อีกมากมาย เมื่อ ศ.นพ.เสมพ้นตำแหน่งไป ความขัดแย้งก็ยังมี ไม่ใช่ไม่มี เพียงแต่ สป.สธ.ยังอยู่ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ประเทศไทยได้วางรากฐานระบบสาธารณสุขไว้แล้ว ลองคิดดูว่า หากสุดท้ายทะเลาะกัน และกลับไปเหมือนเดิม เมืองไทยคงไม่เป็นเช่นนี้

หมายความว่าความเห็นต่างเป็นเรื่องปกติ ?

ผมว่าเป็นเรื่องธรรมดา อยู่ที่น้ำหนักจะมากหรือน้อย ยกตัวอย่าง นพ.อมร นนทสุต อดีตปลัด สธ. ผู้วางรากฐานสาธารณสุขมูลฐาน จนเกิดเป็นอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ขึ้น ซึ่งก่อนหน้านี้มีความขัดแย้งมากในเรื่องนี้ เพราะหลายคนมองว่าเป็นหมอเถื่อน หลายวิชาชีพก็โต้แย้งกัน แต่จุดสำคัญคือ ข้อโต้แย้งมีน้ำหนักเพียงพอหรือไม่ ซึ่ง นพ.อมรยืนยันและทำให้เห็นว่าระบบอาสาสมัครไม่ใช่หมอเถื่อน จนความขัดแย้งหายไปในที่สุด และเกิดระบบ อสม.จนทุกวันนี้ เช่นเดียวกับระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ช่วงที่เกิดโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ขณะนั้นก็มีข้อโต้แย้งมาก มีคนคิดว่าแล้วคนมีเงินจะเข้าถึงบริการได้หรือไม่ จะลดความเหลื่อมล้ำได้จริงแค่ไหน ประสิทธิภาพการรักษาจะเป็นเช่นไร แต่สุดท้าย 12 ปีที่ผ่านมา ทำให้เห็นว่าระบบดี ทำให้คนเข้าถึงบริการสุขภาพมากขึ้น นี่คือความจริง

เราจะผ่านพ้นวิกฤตนี้อย่างไร ?

ต้องดูว่าน้ำหนักของข้อโต้แย้ง และความพยายามที่จะขับเคลื่อนระบบไปข้างหน้า เราจะมองแค่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ได้ อย่างประเด็นที่มักถามว่า จะทำอย่างไรท่ามกลางความขัดแย้ง ก่อนอื่นต้องทราบก่อนว่า ปัจจุบันข้อโต้แย้งมี 2 เรื่อง คือ 1.ข้อโต้แย้งที่เป็นห่วงความคงอยู่ของหน่วยบริการภาครัฐ และ 2.ระบบหลักประกันสุขภาพฯ จะบริหารอย่างไร ดังนั้น หากเราสามารถทำให้เกิดความมั่นใจได้ว่า ระบบบริการยังคงอยู่ และจะก้าวหน้าต่อไป ทุกอย่างก็จะเดินหน้าไปด้วยกัน แต่แน่นอนว่า พูดวันนี้อาจไม่เห็นในเร็วๆ นี้ เหมือนเมื่อสมัย ศ.นพ.เสม และเหมือนเมื่อ 12 ปีที่แล้วก่อนจะมีกองทุนหลักประกันสุขภาพฯ หากมัวแต่กังวลเรื่องข้อโต้แย้งต่างๆ รัฐบาลไม่กล้าทำ ก็คงไม่มีวันนี้

ถ้ากังวลข้อโต้แย้งจะเดินหน้านโยบายสาธารณสุขไม่ได้ ?

ผมพูดตรงๆ ว่า ทั้งตัวรัฐมนตรีว่าการ สธ. และตัวผม ในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการ สธ. มีความตั้งใจ บริสุทธิ์ใจ และมีความรู้มากพอในการที่จะนำพาระบบเดินไปข้างหน้า ลองกลับไปดูประวัติศาสตร์ หากมีความตั้งใจ มีความรู้ ทำไมไม่เดินไปข้างหน้า แม้จะมีคนไม่เห็นด้วย แต่ผมเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ในระบบสุขภาพ ต่างต้องการเดินหน้าระบบ ไม่มีใครอยากติดอยู่กับความขัดแย้ง ดังนั้น นับจากนี้ ขอเรียกร้องให้บุคลากรสาธารณสุขทุกฝ่ายหันมาทำงานร่วมกันจะดีกว่า อย่างผมและรัฐมนตรีว่าการ สธ.ก็มี งานอีกมากมายที่จะขับเคลื่อน โดยหลักๆ จะมีการพัฒนาเรื่องหมอครอบครัว ให้เป็นทีมหมอครอบครัว เพื่อทำงานเชิงรุกประสานความช่วยเหลือประชาชนถึงครัวเรือน ทีมหมอครอบครัวที่เราจะเดินหน้า ตั้งใจให้ทำงานเป็นทีม ผมไม่อยากเห็นแค่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ดูแลประชาชนเชิงรุกเพียงฝ่ายเดียว เพราะสภาพทุกวันนี้ เมื่อพ้นออกจาก รพ.สต. โรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไป (รพศ./รพท.) มักไม่รับรู้ เราจึงต้องจัดเป็นทีม และต้องมีโรงพยาบาลชุมชนเข้ามาช่วย ส่วน รพศ./รพท.อาจต้องมีกลไกเข้ามาช่วยเหลือในการประสานงานกัน โดยหลักจะต้องมีเบอร์โทรศัพท์ติดต่อที่สะดวกและรวดเร็วที่สุดคอยประสานการทำงานร่วมกัน อย่างเวลามีปัญหาอะไร เหนือบ่ากว่าแรง ก็ให้ปรึกษากันได้

ผมยกตัวอย่าง ครั้งหนึ่ง ผมลงพื้นที่ไปโรงพยาบาลสารภี จ.เชียงใหม่ มีเจ้าหน้าที่โพสต์ข้อความว่า "แจกเบอร์ มีชาวบ้านโทรมาตอน 5 ทุ่ม เพื่อไปฉีดกลูโคสให้ และชาวบ้านก็ฟื้น เรื่องนี้เราทำมานานแล้ว" ผมเติมว่า ถ้าเป็นทีมหมอครอบครัว และบังเอิญว่าเคสนี้กำลังจะแย่ และไม่ใช่แค่น้ำตาลลด แต่มีปัญหาเส้นเลือดสมอง หมอครอบครัวถ้าเป็นทีมจะปรึกษาหมอที่โรงพยาบาลใหญ่ทันที และจะทำให้รู้ว่าต้องดูแลอย่างไร ตรงนี้หากเป็นทีมจะเกิดการประสานงาน และช่วยเหลือประชาชนได้อย่างตรงจุดมากขึ้น จะเห็นว่าเรากำลังทำงาน และนี่คือตัวอย่างนโยบายที่เรากำลังจะเดินหน้ากัน

มั่นใจว่านับจากนี้สามารถเดินหน้านโยบายได้ ?

ระบบสุขภาพอยู่ได้ก็เพราะคุณภาพของคนในระบบ ในฐานะที่ผมทำงานด้านวิชาการมานานกว่า 15 ปี ผู้นำในกระทรวง ส่วนกลาง ทั้งข้าราชการประจำ และฝ่ายการเมืองในยุคแรกๆ ที่ผมทำงานนั้น เป็นผู้นำที่พาระบบเดินไปข้างหน้า หลังจากนั้น เราเจอผู้นำในกระทรวงที่ทำให้ระบบรวนเร แต่ก็ไม่ใช่ไม่ดีทั้งหมด ก็มีขึ้น มีลง แต่ที่ดีคือ เจ้าหน้าที่ของเราส่วนใหญ่ ซึ่งส่วนน้อยก็มีในเรื่องการวิ่งหานักการเมือง วิ่งเต้นตำแหน่ง แต่ส่วนใหญ่ยังมีจิตใจเพื่อประชาชน ยังพยายามมองหาข้อดีเพื่อเดินหน้า ซึ่งข้อดีๆ มีอยู่เยอะแยะ ดังนั้น หากทุกคนหันหน้า มาร่วมกันทำงาน ก็ไม่ใช่เรื่องยากที่จะร่วมกันผ่านพ้นปัญหาไปได้ ผมจึงไม่กังวลความขัดแย้งที่มีอยู่ เพราะคนส่วนใหญ่ ยังรอทำงาน

แสดงว่าฝ่ายที่ขัดแย้งเป็นส่วนน้อย ?

ผมไม่อยากพูดเช่นนั้น แต่เอาเป็นว่ายังมีคนส่วนหนึ่งอาจติดอยู่ในใจว่า คนกลุ่มนี้ดีจริงหรือไม่ ทำงานหรือไม่ เรื่องพวกนี้เป็นเรื่องธรรมดา ขอให้งานเป็นเครื่องพิสูจน์จะดีกว่า

ที่บอกว่าส่วนกลางยุคแรกนำระบบไปข้างหน้า แล้วปัจจุบันเป็นอย่างไร ?

ก็ยังไม่ถึงกับตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง แต่ผมว่าพลังมันลดลง พลังในการนำ ข้างล่างเริ่มลดลง แต่ข้างล่างก็พยายามหาโอกาสอยู่ ดังนั้น เมื่อผมมีโอกาส มาอยู่ส่วนกลาง ก็ต้องการนำพาสิ่งดีๆ ให้เกิดขึ้น

มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าท่านเป็นรัฐมนตรีเงา ?

เรื่องนี้ผมคงไม่ต้องพูด เพราะอย่างที่บอกรัฐมนตรีว่าการ สธ.มีความรู้ มีความสามารถ ผมเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการ สธ. พวกเราเน้นการทำงาน ใครจะเข้าใจผิดอะไรก็ไม่เป็นไร เราขอทำงาน เพราะปัจจุบันในสังคมนี้ความเชื่อและข้อเท็จจริงปนเปกันไปหมดอยู่แล้ว พวกคุณต้องแยกให้ออก ผมไม่ได้เป็นนักการเมือง และไม่เคยคิดอยากจะเป็น แต่ในเมื่อผมได้รับหน้าที่มาช่วยงานบริหาร สธ. จุดนี้ผมก็ต้องทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ดังนั้น การจะทำให้คนอื่นมั่นใจก็ต้องอยู่ที่ผลงานเท่านั้น

สุดท้าย นพ.สมศักดิ์กล่าวทิ้งท้ายไว้ให้คิดว่า ทุกคนต้องเข้าใจว่า "การเมือง" คืออะไร? การเมืองเป็นการต่อสู้ทางความคิด และมีเสมอทุกยุคทุกสมัย ไม่ว่าจะมีนักการเมืองจากการเลือกตั้งหรือไม่ก็ตาม

ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 6 เมษายน 2558