ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เส้นแบ่งที่ยังไม่ชัดเจน ? การเข้าไปแทรกแซง NHS คืออุบัติเหตุที่เฝ้ารอจะเกิดขึ้น ภาพประกอบโดย เบนจามิน เอลลิส , CC BY

เดอะ คอนเวอร์เซชั่น : ระบบบริการสุขภาพแห่งชาติของสหราชอาณาจักรคือสมรภูมิหลักของการรณรงค์หาเสียงในเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้นในปีนี้ อย่างไรก็ตาม นักการเมืองทั้งหลายจะต้องระมัดระวัง ความคิดริเริ่มทุกๆ ข้อที่จะเข้าไปแทรกแซงกับระบบสาธารณสุขของประเทศ ไม่ว่าจะทำไปเพื่อคะแนนเสียงหรือเพื่อเหตุผลทางอุดมการณ์ก็ตาม

ในปี 2014 (พ.ศ.2557) กองทุนคอมมอนเวลท์ (The Commonwealth funds) สถาบันวิจัยเชิงนโยบายที่ตั้งอยู่ในนิวยอร์กและวอชิงตัน ดีซี ได้ตีพิมพ์รายงานฉบับหนึ่งเกี่ยวกับสถานะของระบบสาธารณสุขของสหรัฐอเมริกา โดยใช้ฐานข้อมูล (ส่วนใหญ่) ในปี 2011 (พ.ศ.2554) ในรายงานฉบับดังกล่าวระบุว่า ระบบบริการสุขภาพแห่งชาติ หรือ NHS ของสหราชอาณาจักร คือระบบสาธารณสุขที่ดีที่สุดในโลก (พิจารณาเฉพาะกลุ่มประเทศอุตสาหกรรม 11 ประเทศ) และสามารถเบียดระบบสาธารณสุขของสวิสเซอร์แลนด์ให้ตกไปอยู่ในอันดับที่ 2 ได้ ส่วนระบบสาธารณสุขของสหรัฐอเมริกานั้นถูกระบุว่าเป็นระบบสาธารณสุขที่แย่ที่สุดใน 11 ประเทศที่เข้าร่วมจัดอันดับ ทั้งนี้นอกจาก 3 ประเทศข้างต้นแล้วประเทศที่เข้าร่วมพิจารณาในครั้งนี้ ได้แก่ ออสเตรเลีย แคนนาดา ฝรั่งเศส เยอรมัน เนเธอร์แลนด์ นิวซีแลนด์ นอร์เวย์และสวีเดน

ในปี 2012 (พ.ศ.2555) สหราชอาณาจักรมีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพต่อหัวประชากรอยู่ที่ประมาณ 3,647 ดอลล่าร์ ในขณะที่สหรัฐอเมริกามีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพราว 8,895 ดอลล่าร์ต่อคน (อัตราแลกเปลี่ยน ณ เดือนธันวาคม 2012 (พ.ศ.2555) อยู่ที่ประมาณ 2,289 ปอนด์ และ 5,582 ปอนด์ต่อคน) นั่นหมายความว่า ระบบของสหรัฐฯ มีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่สูงกว่าสหราชอาณาจักรเกือบ 2.5 เท่าตัว ในขณะที่มีผลลัพธ์ด้านสุขภาพด้อยกว่าอย่างเห็นได้ชัด ยกตัวอย่างเช่น อายุขัยเฉลี่ยเมื่อแรกเกิดของสหรัฐซึ่งน้อยกว่าสหราชอาณาจักรถึง 3 ปี ในขณะที่อัตราตายของมารดาในสหรัฐฯ สูงกว่าในสหราชอาณาจักรถึง 3.5 เท่าตัว     

นอกจากนี้ คุณประโยชน์ของ NHS ยังไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในด้านเศรษฐกิจเท่านั้น เพราะระบบสุขภาพที่คนส่วนใหญ่สามารถใช้บริการได้ฟรีนี้ มีความเป็นประชาธิปไตยมากกว่าระบบการให้บริการที่เป็นไปตามกลไกของตลาด

ประชาธิปไตยในธรรมเนียมปฏิบัติของ NHS

ในระบบเศรษฐกิจการตลาด (Market Economy)การวัดคุณค่าของแต่ละบุคคลมักจะพิจารณาจากความมั่งคั่งหรือทรัพยากรทางด้านการเงินของคนๆ นั้น แม้ว่าจะมีเหตุผลมาสนับสนุนแง่คิดดังกล่าว แต่ถ้ามองในระดับบุคคลแล้ว ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และการมีคุณภาพชีวิตที่ดีก็มีความสำคัญเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ในความสำคัญในธรรมเนียมปฏิบัติของ NHS ก็คือ การตระหนักถึงแนวคิดที่ว่าต้องรักษาชีวิต และสร้างเสริมคุณภาพชีวิตโดยพิจารณาจากความจำเป็นของคนไข้เป็นสำคัญ ไม่ใช่ให้บริการตามความสามารถในการจ่ายค่ารักษา ด้วยเหตุนี้จะเห็นได้ว่า NHS มีลักษณะเป็นองค์กรเพื่อสังคมมากกว่าองค์กรที่ใช้รูปแบบการบริหารงานแบบภาคเอกชน

ค่าใช้จ่าย ? ล้อเลียนโดยใช้คาเรคเตอร์จากการ์ตูนเรื่อง "พีนัทส์"  ภาพโดย Jarawee S., CC BY-NC-SA

อย่างไรก็ตาม NHS ก็มีข้อเสียอยู่ประการหนึ่ง ตามหลักตรรกวิทยาเชิงเศรษฐศาสตร์ง่ายๆ ที่กล่าวว่า ผู้บริโภคจะมีความต้องการที่ไร้ขีดจำกัดเมื่อไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการใช้บริการ อย่างไรก็ตาม สำหรับแนวทางแก้ไขความต้องการด้านสาธารณสุขที่ไม่รู้จักพอนี้ จะไม่ใช่วิธีเรียกเก็บค่าบริการหรือสร้างความไม่เท่าเทียมกันแต่อย่างใด (โชคดีที่เป็นเช่นนั้น) เราทุกคนต่างก็มีวิธีที่จะต้องร่วมจ่าย และต้องกล้าพอที่จะตรวจสอบ รวมทั้งติดตามประสิทธิภาพทางสังคมของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าอีกด้วย

การตรวจสอบว่าสิ่งใดคือประสิทธิภาพทางสังคมและอะไรที่ไม่ใช่ คือหน้าที่ของ The National Institute of Health and Clinical Excellence (NICE) แม้ว่าในบางครั้งการตัดสินใจของ NICE อาจแลดูแข็งกร้าวไปบ้าง แต่นั่นก็เป็นเพราะพวกเขาต้องใส่ใจในสุขภาพของพวกเรารวมถึงทุกคนในครอบครัว และต้องไม่ปล่อยให้ความต้องการที่ไม่รู้จักพอทำลายระบบสาธารณสุขของประเทศลง

มันไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีอย่างนั้นหรือ ?

ในบางครั้งได้เกิดข้อถกเถียงที่มาจากนักเศรษฐศาสตร์แนวตลาดเสรีซึ่งพยายามชี้ให้เห็นว่า การแข่งขันและทางเลือกในระบบสาธารณสุขนั้นจะผลักดันค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพให้ลดต่ำลงในขณะที่ประสิทธิภาพเพิ่มสูงขึ้น มุมมองดังกล่าวนี้ได้รับความสนใจจากนักการเมืองชาวอังกฤษเป็นอย่างมาก แต่ถ้าถามชาวอังกฤษหรือชาวอเมริกันซึ่งเป็นคนธรรมดาทั่วๆ ไปแล้ว ไม่ว่าพวกเขาจะต้องจ่ายเงิน 2,289 ปอนด์ต่อคนต่อปีผ่านทางการเสียภาษีเพื่อสนับสนุนให้เกิดบริการสาธารณสุขที่ดีที่สุดในโลก หรือจะต้องจ่ายเงินกว่า 5,582 ปอนด์ต่อคนต่อปีจากรายได้หลังหักภาษีเพื่อสนับสนุนระบบตลาดสุขภาพที่มีประสิทธิภาพต่ำ อย่างไรก็ตามเราเชื่อว่าพวกเขาจะต้องเลือกเพ็กเกจสุขภาพที่มีประสิทธิภาพแต่ราคาถูกกว่าแน่ๆ

การแข่งขันในระบบบริการสุขภาพ ที่เมืองซานฟรานซิสโก ภาพโดย Ted Eytan, CC BY-SA

อันที่จริงแล้ว เราตั้งใจที่จะเฝ้าสังเกตความตั้งใจจริงของชาวอังกฤษ แม้ว่าคนทั่วไปที่มีโอกาสได้เห็นการดำเนินงานระบบสาธารณสุขทั้งของสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ ส่วนใหญ่จะชอบระบบของสหราชอาณาจักรมากกว่า (แสดงว่าประเด็นเรื่องการปรับลดภาษีไม่ใช่เรื่องที่สำคัญที่สุดเมื่อภาษีเหล่านั้นได้ถูกนำมาใช้เพื่อทำให้กระบวนการทำงานของรัฐมีประสิทธิภาพ ซึ่งประชาชนจำเป็นที่จะต้องพิจารณาถึงสิ่งที่จะได้รับจากเงินภาษีของเรา และสิ่งที่อาจะต้องสูญเสียไปหากมีการปรับลดภาษีลง)

คงจะโชคดีหากประชาชนชื่นชอบที่จะมีทางเลือกอันหลากหลายในการรักษาพยาบาล และก็คงไม่น่ามีอะไรที่น่ากังวลหรือจะต้องหาทางป้องกัน หากคนอังกฤษและชาวอเมริกันทั่วไปมีความสามารถในการจ่ายเงินอุดหนุนบริการสุขภาพแห่งชาติด้วยเงินภาษีของตัวเอง รวมทั้งสามารถซื้อแพ็คเกจประกันสุขภาพและสามารถไปใช้บริการในโรงพยาบาลเอกชนได้เอง  แต่นี่คือเค้ารางของปัญหาในการอภิปรายที่ยังไม่ได้รับการกล่าวถึงมากนัก แน่นอนว่าระบบ NHS มีค่าใช้จ่ายที่ถูกว่าระบบที่เน้นการพึ่งพาแต่ภาคเอกชนเป็นหลัก เพราะการดำเนินงานของ NHS นั้นมีประสิทธิภาพและยังช่วยควบคุมค่าใช้จ่ายในภาคเอกชนไม่ให้สูงเกินไป โดยเบี้ยประกันสุขภาพโดยเฉลี่ยสำหรับครอบครัวชาวอังกฤษทั่วไปจะอยู่ที่ 700 - 1,650 ปอนด์ ในขณะที่ครอบครัวชาวอเมริกันทั่วไป (ในปี 2014 –พ.ศ.2557) จะต้องจ่ายเบี้ยประกันราวๆ 23,215 ดอลล่าห์ (ประมาณ 14,000 ปอนด์)

ไม่ก้าวก่ายไม่แทรกแซง

บทความนี้ไม่ได้ต้องการที่จะบอกว่าภาคเอกชนไม่ควรมีบทบาทในมาตรการด้านสาธารณสุข แม้ว่าจะมีบริการตรวจรักษาบางอย่างที่ NICE พิจารณาแล้วเห็นว่าอัตราค่าบริการในปัจจุบันยังไม่เหมาะสมที่จะจัดให้เป็นบริการในระบบสุขภาพแห่งชาติได้ แต่ในทำนองเดียวกัน NHS ก็อาจทำสัญญาเพื่อซื้อบริการบางอย่างจากภาคเอกชนเพื่อให้บริการฟรีในระบบสุขภาพแห่งชาติได้ แต่อย่างไรก็ตาม ได้มีหลักฐานบางอย่างชี้ว่า การซื้อบริการจากภายนอกทำให้การพัฒนาคุณภาพบริการสาธารณสุขประสบความล้มเหลว และจากข้อขัดแย้งดังกล่าวนี้สะท้อนให้เห็นว่าเราควรจะต้องเพิ่มความระมัดระวังในการกำหนดนโยบายที่เกี่ยวกับ NHS ให้มากขึ้น และหากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขต้องการที่จะแก้ไขอะไร ( ทำไมจะต้องแก้ ?) พวกเขาอาจมองหาแนวปฏิบัติที่ดีจากระบบสาธารณสุขที่ดีที่สุดในลำดับรองลงมา (สวิสเซอร์แลนด์) แต่ก็คงทำอะไรไม่ได้มากไปว่านั้น "อะไรที่ไม่ได้เสีย ก็ไม่ต้องไปซ่อมมัน" จะเห็นได้ว่า คุณภาพชีวิตของพวกเราทุกคนขึ้นอยู่กับเรื่องง่ายๆ แค่นี้และมีความสอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจแล้ว นี่คือความจริง

เรื่องที่เกี่ยวข้อง