ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปช.เสนอ 5 มาตรการรับมือสังคมผู้สูงวัย เร่งจัดระบบการออม ขยายอายุเกษียณทั้งรัฐและเอกชน ส่งเสริมครอบครัวมีลูกเพิ่ม ป้องกันแม่วัยใส กระจายธุรกิจไปท้องถิ่น เพื่อไม่ต้องย้ายถิ่นฐาน

เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์รายงานว่า เมื่อวันที่ 7 เม.ย. ที่ประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้มีการพิจารณารายงานของคณะกรรมการปฏิรูประบบรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทย เรื่องข้อเสนอการปฏิรูประบบเพื่อรองรับสังคมสูงวัย หลังจากที่คณะกรรมาธิการ(กมธ.)ปฏิรูปสังคม ชุมชน เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการและผู้ด้อยโอกาส ร่วมกับคณะกมธ.ปฏิรูประบบสาธารณสุข คณะกรรมาธิการปฏิรูปการเศรษฐกิจ การเงินและการคลัง และคณะกมธ.ปฏิรูปการปกครองท้องถิ่นของสปช. ทำหน้าที่ศึกษาและพิจารณาแล้วเสร็จ

นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง สมาชิกสปช. ในฐานะประธานคณะกรรมการปฏิรูประบบรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทย กล่าวว่า ในปัจจุบันสังคมไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย ไม่ใช่เฉพาะผู้สูงอายุ แต่รวมถึงโครงสร้างประชากรไทยที่กำลังจะมีสัดส่วนผู้สูงอายุมากขึ้นถึง 10 %ของจำนวนประชากรตั้งแต่ปี 2543 และในอีก 7 ปีข้างหน้า หรือปี 2565 จะมีจำนวนผู้สูงอายุถึง 20 %ของจำนวนประชากร ซึ่งจะเป็น 2 เท่า ในเวลา 22 ปี ขณะที่คนวัยทำงานก็ลดน้อยลง คนที่พร้อมมีบุตรเกิดปัญหามีบุตรยาก ส่วนแม่วัยใสที่ไม่มีความพร้อมกลับมีลูกมาก ซึ่งหากไม่มีการปฏิรูปจะเกิดผลกระทบต่อคุณภาพประชากร ภาษีอากรของประชาชน และเกิดวิกฤตทางการคลังในอนาคต

ทั้งนี้ การปฏิรูปนั้นไม่ใช่การแก้ปัญหาอย่างเดียว จะต้องให้ความสำคัญกับผู้สูงวัย โดยสังคมต้องตระหนักว่า ผู้สูงอายุไม่ใช่ภาระของสังคม แต่เป็นคลังปัญญา ประสบการณ์ที่จะช่วยสังคมได้

สำหรับข้อเสนอที่นำไปสู่การปฏิรูปเพื่อสร้างมาตรการรองรับปัญหาจะต้องมี 5 ด้าน ประกอบด้วย 1.สร้างการการออมเพื่อเป็นหลักประกันแก้ผู้สูงอายุ 2.ขยายเกณฑ์เกษียณอายุทั้งราชการและภาคเอกชน 3.ส่งเสริมการกระจายธุรกิจไปยังในท้องถิ่น เพื่อไม่ต้องย้ายถิ่นฐาน 4.ออกแบบส่งเสริมครอบครัวมีลูกเพิ่มขึ้น และป้องกันแม่วัยใสที่ไม่มีความพร้อมในการมีบุตร และ 5.การปรับสภาพแวดล้อม สนับสนุนอุปกรณ์แก่ผู้สูงอายุ สนับสนุนอาชีพ สถานที่รองรับผู้สูงอายุและเด็ก

ต่อมาที่ประชุมมีมติเห็นด้วยกับรายงานข้อเสนอการปฏิรูประบบเพื่อรองรับสังคมสูงวัยด้วยคะแนน 208 เสียง และไม่เห็นด้วย 1 เสียง โดยจะส่งเรื่องไปให้กับคณะรัฐมนตรีได้พิจารณาต่อไป