ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ.เร่งพัฒนาสถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ ให้เป็นสถาบันเฉพาะทางระดับชาติ เพื่อพัฒนารูปแบบการดูแลสุขภาพรักษาโรคในผู้สูงอายุโดยเฉพาะ จากผลสำรวจล่าสุดในปี 2557 ไทยมีผู้สูงอายุ 10 ล้านกว่าคน ร้อยละ 95 มีปัญหาด้านสุขภาพ 

ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ให้สัมภาษณ์ว่า ในวันที่ 13 เมษายนทุกปีเป็นวันผู้สูงอายุแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดระบบการดูแลสุขภาพกลุ่มผู้สูงอายุ จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี 2557 โดยไทยมีผู้สูงอายุ 10,014,699 คน และมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นปีละประมาณ 500,000 คน โดยส่วนใหญ่ร้อยละ 95 มีโรคเรื้อรังประจำตัว โรคที่เกิดจากความชรา หรือปัญหาด้านสุขภาพจิต โดยเฉพาะโรคซึมเศร้า และคาดการณ์ว่าในปี 2568 ไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Ageing Society) มีผู้สูงอายุมากกว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศ จึงต้องเร่งเตรียมการรองรับเพื่อให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความสุขในครอบครัว

ในปี 2558  นี้กระทรวงสาธารณสุข มีเป้าหมายดำเนินการจัดระบบดูแลสุขภาพใน 4 เรื่อง ได้แก่ 1.ตรวจคัดกรองจัดบริการทันตกรรม เนื่องจากผลสำรวจพบผู้สูงอายุไม่มีฟันเคี้ยวอาหารประมาณ 250,000 คน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดภาวะขาดสารอาหารบำรุงร่างกาย โดยจัดทำฟันเทียมทั้งปากในโครงการฟันเทียมพระราชทาน และฝังรากฟันเทียมให้ฟรี  2.จัดระบบดูแลระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ เน้นให้ผู้สูงอายุได้รับการดูแลในชุมชนแทนนอนในโรงพยาบาล โดยฝึกอบรมผู้จัดการการดูแลผู้สูงอายุ (Care Manager) เป้าหมาย 500 คน และฝึกอบรมผู้ดูแลผู้สูงอายุในชุมชน (Care Giver) เป้าหมาย 2,500 คน

3.จัดทีมหมอครอบครัว (Family Care Team) ประกอบด้วยสหวิชาชีพ เป็นผู้ดูแล ให้คำปรึกษาและเยี่ยมบ้านทุกครอบครัว ทุกพื้นที่ ทั้งในเมืองและชนบท  ขณะนี้มีแล้ว 15,000 ทีม และจะเพิ่มให้ได้ 30,000 ทีมในสิ้นปีนี้ ทีมหมอครอบครัวจะทำหน้าที่สนับสนุน  สร้างเสริมสุขภาพ  ป้องกันโรคในผู้สูงอายุ  เยี่ยมบ้านผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียง และการส่งต่อเพื่อรับการรักษาในโรงพยาบาล ในรายที่จำเป็น และ4.เตรียมความพร้อมด้านสุขภาพของประชาชนวัยกลางคน เพื่อเตรียมเข้าสู่วัยสูงอายุโดยไร้โรคภัย ซึ่งจะมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นปีละประมาณ 5 แสนคน

นอกจากนี้ ได้เตรียมการตามแผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2545 – 2564 ประกอบด้วย 3 ยุทธศาสตร์ คือ 1.การเตรียมความพร้อมของประชากรเมื่อวัยสูงอายุที่มีคุณภาพ สร้างครอบครัวที่อบอุ่นแข็งแรง 2. ด้านส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ ส่งเสริมการจัดตั้งชมรมผู้สูงอายุในทุกจังหวัด ทุกตำบล เพื่อให้มีกิจกรรมร่วมกัน เช่นการออกกำลังกาย จัดตั้งคลินิกผู้สูงอายุในโรงพยาบาลในสังกัดทุกระดับจำนวน 818 แห่ง และ 3.ด้านระบบการคุ้มครองทางสังคมสำหรับผู้สูงอายุ ส่งเสริมให้วัดเป็นศูนย์กลางของชุมชนและจัดสถานที่ให้เอื้อต่อผู้สูงอายุ โดยให้โรงพยาบาลทุกแห่ง จัดทำห้องน้ำที่

นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า กรมการแพทย์ ได้วางแผนพัฒนาสถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ ให้เป็นสถาบันเฉพาะทางระดับชาติ เพื่อพัฒนาวิชาการด้านการดูแลรักษาโรคในผู้สูงอายุโดยเฉพาะ ซึ่งต้องอาศัยความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษ เนื่องจากผู้สูงอายุมักมีปัญหาร่วมหลายระบบจากความเสื่อมของร่างกาย เพื่อรักษาสุขภาพดีให้อยู่กับผู้สูงอายุได้นานที่สุด ในการจัดระบบการดูแลจะแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือกลุ่มปกติ กลุ่มที่เริ่มไม่แข็งแรง และกลุ่มที่ติดเตียง ซึ่งในแต่ละกลุ่มต้องการการดูแลแตกต่างกันตามสภาพร่างกายของผู้อายุ เช่นกลุ่มที่ยังแข็งแรง ต้องการข้อมูลข่าวสารทางสุขภาพ สถานที่ออกกำลังกาย และการร่วมกิจกรรมกลุ่ม ในกลุ่มที่เริ่มไม่แข็งแรงมีข้อจำกัดทางร่างกาย ต้องการระบบบริการในโรงพยาบาลที่เอื้อต่อการเข้าถึง และดูแลอย่างครบถ้วนกับสภาพปัญหาที่เผชิญหลายระบบ เช่น กลั้นปัสสาวะไม่ได้ กระดูกพรุน ข้อเสื่อม เพื่อชะลอความเสื่อมให้เกิดช้าที่สุด ไม่ให้กลายเป็นผู้สูงอายุที่ต้องพึ่งพิงผู้อื่น