ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพเห็นด้วยกับการตรวจสอบ สปสช. โดยเฉพาะจาก สตง.ซึ่งตรวจสอบทุกปี ส่วนการตรวจสอบจากหน่วยงานอื่น สปสช.ก็ต้องเปิดกว้างด้วย แต่ตั้งข้อสังเกตการตรวจสอบ สปสช.ที่ผ่านมามีความซ้ำซ้อน หวั่นมีธงมุ่งแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ลดอำนาจบอร์ด สปสช. ทำลายหลักการระบบหลักประกันสุขภาพ แยกผู้ซื้อ-ผู้ให้บริการ

น.ส.สุรีรัตน์ ตรีมรรคา ผู้ประสานงานกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวถึงการตรวจสอบการบริหารของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการของทางคณะกรรมการตรวจสอบการใช้งบประมาณของ สปสช. ที่แต่งตั้งโดยนายกรัฐมนตรี ว่า ในฐานะที่เป็นผู้ติดตามการบริหารในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเห็นว่า การบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติของ สปสช.ได้ดำเนินการไปตามแนวนโยบายและทิศทางที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) มีมติ ซึ่ง บอร์ด สปสช.นี้มีองค์ประกอบทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทำให้การบริหารเป็นไปอย่างครอบคลุม นับเป็นข้อดีและเป็นจุดแข็ง แต่ขณะเดียวกันที่ผ่านมา สปสช.ก็ถูกมองว่าเป็นการบริหารที่ใช้เงินนำมากไป เพื่อมุ่งให้เป็นไปตามเป้าหมาย ตรงนี้เป็นปัญหาและต้องแก้ไข โดยต้องเน้นการทำงานแบบเครือข่ายภาคีและเน้นความร่วมมือกันมากขึ้น ทั้งในระดับพื้นที่และส่วนกลาง

ส่วนกรณีที่ สปสช.บริหารโดยมีการนำงบประมาณไปให้หน่วยงานอื่นที่ไม่ใช่หน่วยบริการ ซึ่งเป็นประเด็นหนึ่งที่ถูกร้องเรียนให้ตรวจสอบนั้น น.ส.สุรีรัตน์ กล่าวว่า มองว่าเป็นเรื่องของการตีความและเป็นการตีความที่แคบเกินไป โดยมองว่าการจัดบริการสุขภาพต้องเป็นการดำเนินการเฉพาะหน่วยบริการสาธารณสุข (สธ.) เท่านั้น ซึ่งตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2545 ไม่ได้ระบุว่าต้องเป็นหน่วยบริการของ สธ.หรือหน่วยบริการที่เกี่ยวกับการพยาบาลเท่านั้น เพราะงานส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคอาจดำเนินการโดยหน่วยงานอื่นได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นองค์กรสาธารณประโยชน์ องค์กรเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือแม้แต่ภาคประชาชน ดังนั้นการที่ สปสช.มีการจัดสรรงบประมาณให้องค์กรเหล่านั้นเพื่อทำงานสร้างเสริมนำซ่อมสุขภาพจึงเป็นทิศทางที่ทำได้ ไม่ได้ทำนอกเหนือไปจากกฎหมายระบุ แต่ที่ผ่านมากลับมีความพยาพยามชี้ว่า การดำเนินการในเรื่องนี้ของ สปสช.เป็นใช้เงินบริหารผิดประเภท

“การมองว่าสร้างนำซ่อมสุขภาพเป็นบทบาทจำกัดแค่ สธ. ถือเป็นมุมมองที่ไม่ครอบคลุม เพราะขณะนี้ทิศทางสุขภาพทั่วโลก แม้แต่องค์การอนามัยโลกเองยังระบุว่า การดูแลสุขภาพโดยประชาชนเป็นทิศทางหลักด้านสุขภาพ มีเพียงบริการสุขภาพบางเรื่องที่อาจต้องให้หน่วยบริการทำ ดังนั้นในแง่ของการสร้างนำซ่อมจึงต้องมีการตีความให้กว้างขึ้น” ผู้ประสานงานกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าว

ต่อข้อซักถามว่า ที่ผ่านมามีการตรวจสอบ สปสช.จากหลายหน่วยงาน รวมทั้งมีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการบริหาร สปสช.มองเรื่องนี้อย่างไร น.ส.สุรีรัตน์ กล่าวว่า การเข้าตรวจสอบการบริหาร สปสช. โดย สตง.เป็นหลักการที่เห็นชอบอยู่แล้ว และมีการตรวจสอบเป็นประจำทุกปี ซึ่งการตรวจสอบของ สตง.จะยึดหลักเกณฑ์ว่า การใช้จ่ายงบประมาณของ สปสช. เป็นไปตามมติบอร์ด สปสช.และเป็นไปตามบทบาท สปสช.ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และหลักเกณฑ์การใช้งบประมาณหรือไม่ หากไม่เป็นไปตามนั้นจะมีการท้วงติงเพื่อให้มีการปรับการบริหารให้เป็นไปในทิศทางที่ถูกต้อง ดังนั้นการตรวจสอบของ สตง.จึงเป็นสิ่งที่ถูกต้องและต้องดำเนินการต่อไป ขณะที่การตรวจสอบโดยหน่วยงานอื่นๆ ที่รับข้อร้องเรียนนั้น สปสช.ต้องเปิดกว้างต่อการตรวจสอบของหน่วยงานเหล่านี้เช่นกัน

อย่างไรก็ตามสำหรับการตรวจสอบ สปสช.ในช่วงที่ผ่านมา มองว่ามีการตรวจสอบที่ซ้ำซ้อน เพราะว่าได้มีการยื่นร้องเรียนไปที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และมีการรับเรื่องไว้แล้ว แต่ยังมีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการบริหาร สปสช.เพิ่มเติมอีก นอกจากการตรวจสอบของ สตง. ข้างต้น ซึ่งมองแล้วไม่แน่ใจว่ามีธงอะไรกันไว้ เป็นไปได้ว่าอาจมีความพยายามในแก้ไขกฎหมายหรือลดอำนาจบอร์ด สปสช. เนื่องจากการทำงานของ สปสช.ไม่เหมือนองค์กรอื่นที่เป็นการใช้มติบอร์ดในการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นหลัก ซึ่งกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพมองว่าอาจนำไปสู่การทำลายหลักการของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่เป็นการแยกผู้ซื้อผู้ให้บริการในที่สุด

น.ส.สุรีรัตน์ กล่าวว่า บอร์ด สปสช. ตามกฎหมายกำหนดให้มีองค์ประกอบผู้มีส่วนได้เสียในระบบทั้งหมด คือ ผู้ให้บริการ ผู้ซื้อบริการ และผู้รับบริการ นอกจากนี้ยังมีผู้ทรงคุณวุฒิ เรียกว่าเป็นบอร์ดที่มีความหลากหลาย ซึ่งในฐานะภาคประชาชนเป็นห่วงว่า หากมีการปรับโครงสร้างอาจส่งผลกระทบต่อระบบได้ รวมถึงการบริการประชาชน แต่หากจะมีการปรับโครงสร้างบริหาร สปสช.จริง มองว่าจุดที่ควรปรับแก้ไขคือสัดส่วนคณะกรรมการที่เป็นผู้แทนหน่วยงานราชการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นผู้แทนปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงกลาโหม และกระทรวงมหาดไทย เป็นต้น เพราะส่วนใหญ่ไม่มีความรู้เรื่องระบบหลักประกันสุขภาพ ทำให้ไม่สามารถแสดงความเห็นในการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพได้ ซึ่งการตั้งคณะกรรมการในรูปแบบนี้เป็นการลอกมาจากอดีตที่นำผู้แทนส่วนราชการต่างๆ มาใส่ทั้งหมด จึงควรมีการปรับเปลี่ยนโดยให้มีแต่เฉพาะผู้แทนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็เพียงพอแล้ว