ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สพฉ.ระบุการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินต้องยึดความปลอดภัยของทุกคน สนับสนุนนโยบายกระทรวงเรื่องรถพยาบาลใช้ความเร็วไม่เกิน 80 กม./ชม. เป็นไปตามหลักสากล เน้นให้มีหน่วยบริการที่ครอบคลุม สามารถเข้าถึงผู้ป่วยฉุกเฉินได้ทันกาลและไม่เสี่ยงอุบัติเหตุ

หลังจากการประกาศนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข เรื่องให้รถพยาบาลฉุกเฉิน ใช้ความเร็วไม่เกิน 80 กม./ชม. ส่งผลให้หลายฝ่ายเป็นห่วงว่าจะทำให้การรับส่งผู้ป่วยฉุกเฉิน ณ จุดเกิดเหตุ เพื่อนำส่งที่โรงพยาบาล เกิดความล่าช้า และไม่ทันกาล และจะส่งผลกระทบต่ออัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยฉุกเฉิน นั้น

นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า การประกาศนโยบายครั้งนี้เนื่องด้วยกระทรวงสาธารณสุขเล็งเห็นถึงความปลอดภัยทั้งในส่วนของผู้ป่วยฉุกเฉิน ผู้ปฏิบัติการทางการแพทย์ฉุกเฉินและประชาชนร่วมทางเป็นสำคัญ เพราะจากสถิติในปีที่ผ่าน รถพยาบาลฉุกเฉินเกิดอุบัติเหตุถึง 61 ครั้ง มีผู้บาดเจ็บ 130 ราย เสียชีวิตของบุคลากรและผู้ป่วยถึง 19 ราย ดังนั้นจึงต้องการทำให้รถพยาบาลลดความเสี่ยงลง และนโยบายนี้ถือเป็นการเพิ่มความคุ้มครองในเรื่องสวัสดิภาพในการทำงานให้บุคลากรทางด้านสาธารณสุขเพื่อความปลอดภัยบนถนนเมืองไทยที่มีความเสี่ยงสูง เหมือนที่บริษัทเอกชนกำหนดนโยบายเรื่องนี้เช่นกัน โดยกระทรวงสาธารณสุขได้มอบหมายให้ สพฉ. สำนักสาธารณสุขฉุกเฉิน (สธฉ.) และกรมควบคุมโรคเป็นแกนหลักในการรณรงค์เรื่องนี้

ทั้งนี้การขับรถพยาบาลเพื่อรับส่งผู้ป่วยฉุกเฉินจะต้องยึดถึงความปลอดภัยเป็นหลัก ซึ่งตามหลักสากลรถพยาบาลฉุกเฉินในต่างประเทศก็มีการจำกัดความเร็วไว้ที่ 80 กม./ชม. เช่นกัน นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยระบุว่า การขับรถด้วยความเร็วเกิน 80 กม./ชม. หากเกิดเหตุฉุกเฉินจะมีเวลาในการแก้ไขสถานการณ์เพียง 4 วินาที ในระยะทาง 100 เมตร แต่หากลดความเร็วลงจะมีเวลาแก้ไขสถานการณ์มากขึ้น และลดความรุนแรงของอุบัติเหตุได้

เลขาธิการ สพฉ. กล่าวสนับสนุนว่า นโยบายดังกล่าวจะไม่กระทบต่อการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉิน เนื่องจากปัจจุบันมีการขยายหน่วยบริการทางการแพทย์ฉุกเฉินให้มีความครอบคลุมเกือบทุกพื้นที่ ทั้งหน่วยบริการทางการแพทย์ฉุกเฉินจากกระทรวงสาธารณสุข องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชน โดยในปีนี้มีหน่วยบริการเพิ่มขึ้นคิดอีกร้อยละ 19.47 จากปีที่ผ่านมา และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้การเข้าถึงผู้ป่วยใช้เวลาสั้นลง นอกจากนี้บุคลากรที่เข้าช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินที่ผ่านการอบรมตามหลักสูตรมาตรฐานและมีประสบการณ์ สามารถดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“สิ่งสำคัญเพื่อให้การช่วยเหลือผู้ป่วยรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น คือผู้ใช้รถใช้ถนน จะต้องช่วยกันด้วย คือเมื่อเห็นสัญญาณไฟและได้ยินเสียงสัญญาณไซเรนก็ ควรหลีกทางหรือให้ทางรถพยาบาลฉุกเฉินเสมอ โดยให้คิดเสมอว่าคนที่อยู่บนรถพยาบาลอาจเป็นญาติของคุณ ซึ่งหากผู้ใช้รถใช้ถนนร่วมมือกัน เชื่อว่าอุบัติเหตุของรถพยาบาลฉุกเฉินจะลดลง และการช่วยเหลือผู้ปวยฉุกเฉินจะมีความรวดเร็วปลอดภัยมากยิ่งขึ้น” นพ.อนุชากล่าว