ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมการแพทย์เตือนภัยเงียบโรคต้อกระจก หากทิ้งไว้รักษาไม่ทัน เกิดอาการแทรกซ้อน ปวดตารุนแรง อาจทำให้ตาบอดได้ แนะผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไปและผู้ป่วยเบาหวานตรวจตาอย่างน้อยปีละครั้ง

นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า โรคต้อกระจกเป็นภาวะที่เกิดจากเลนส์แก้วตามีการขุ่นมัวทำให้มองเห็นไม่ชัด เนื่องจากแสงผ่านเข้าไปยังจอประสาทตาได้น้อยลง สายตาจะเริ่มมัวลงอย่างช้า ๆ โดยไม่มีอาการปวดตา ซึ่งการมัวของสายตาจะขึ้นอยู่กับระดับความขุ่นมัวของเลนส์แก้วตา อาจมีการเห็นภาพเหลื่อมซ้อน เห็นแสงไฟเป็นแสงกระจาย   ถ้าขับรถในตอนกลางคืนทำให้ขับรถลำบาก หากทิ้งไว้โดยไม่รักษา จะเกิดอาการแทรกซ้อน ปวดตาอย่างรุนแรง และลุกลาม ซึ่งถ้ารักษาไม่ทัน อาจทำให้ตาบอดในที่สุด ทั้งนี้ โรคต้อกระจกสามารถพบได้ทุกเพศ ทุกวัย  ซึ่งพบว่าคนที่มีอายุมากกว่า 70 ปี จะมีความผิดปกติของสายตาที่เกิดจากต้อกระจกมากกว่าร้อยละ 50 ขึ้นไป   

อาการของโรคต้อกระจกจะมีสายตาค่อยๆ มัวลงเหมือนมีฝ้าหรือหมอกบัง เห็นภาพซ้อน บางรายอาจมีสายตาสั้นขึ้นเรื่อยๆ เปลี่ยนแว่นบ่อย จนแว่นตาก็ไม่สามารถช่วยได้ หรือเห็นสีต่างๆ ผิดเพี้ยนไปจากเดิม มัวมากตอนกลางวันหรือที่มีแสงจ้า เห็นชัดตอนกลางคืน หากมีอาการดังกล่าวควรพบจักษุแพทย์ เพื่อหาทางรักษาต่อไป สำหรับสาเหตุที่พบบ่อยที่สุด คือ ภาวะผู้สูงอายุ เมื่ออายุมากขึ้น เลนส์แก้วตาจะขุ่นเพิ่มขึ้น จึงมีผลให้การมองเห็นลดลง อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับดวงตา ได้รับการกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง โดนของมีคม สารเคมีหรือสารรังสี และเกิดจากโรคตาหรือโรคทางกายบางโรค เช่น โรคเบาหวาน การอักเสบ การติดเชื้อ หรือการรับประทานยาบางชนิด ตลอดจนเกิดจากความผิดปกติแต่กำเนิด เช่น โรคทางกรรมพันธุ์ จากการอักเสบติดเชื้อตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา เช่น มารดาเป็นหัดเยอรมัน

อธิบดีกรมการแพทย์กล่าวเพิ่มเติมว่า การรักษาโรคต้อกระจกทำได้โดยการสลายต้อกระจกหรือผ่าตัดและใส่เลนส์แก้วตาเทียม เพื่อปรับสายตาให้เห็นเป็นปกติ  อาจใช้ยาหยอดตา เพื่อช่วยชะลอความรุนแรงของโรคต้อกระจกในรายที่เป็นน้อยๆ หรือยังไม่พร้อมผ่าตัด สำหรับวิธีการดูแลดวงตาให้ห่างไกล โรคต้อกระจกคือ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อยวันละ 6 ชั่วโมง รับประทานอาหารที่มีโปรตีนสูง เช่น ปลา ตับสัตว์ ไข่ นม และเนย รวมทั้งอาหารประเภทวิตามินที่ได้จากผัก ผลไม้ เช่น ฟักทอง แครอท มะเขือเทศ มะละกอสุก กล้วย พักสายตาเป็นระยะเมื่อต้องใช้สายตาติดต่อกันเป็นเวลานาน  จัดสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสมในระหว่างการทำงาน เช่น ระยะการมองพอดีแสงสว่างเพียงพอ ผู้ที่ทำงานมีโอกาสเสี่ยงต่ออุบัติเหตุของดวงตา ควรสวมอุปกรณ์ป้องกันอันตรายต่อดวงตา สวมแว่นกันแดดเมื่ออยู่กลางแจ้งท่ามกลางแสงแดดจ้า ไม่จ้องมองดวงอาทิตย์โดยตรง การใช้ยาหยอดตาทุกชนิดควรปรึกษาแพทย์ ผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไปโดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ควรพบจักษุแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพดวงตาอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง