ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นักวิชาการทีดีอาร์ไอ แนะ แทนที่รัฐจะให้คนชั้นกลางสละสิทธิ 30 บาทให้คนจน กลับยิ่งต้องดึงให้เข้ามาใช้บริการในระบบให้มากขึ้นกว่าเดิม พร้อมเพิ่มเงินรายหัว-พัฒนาคุณภาพบริการให้มากขึ้น แจงผลวิจัยล่าสุด พบการคุมงบ 30 บาทตั้งแต่ต้น ส่งผลกระทบขับไล่ชนชั้นกลางออกจากระบบโดยไม่ตั้งใจ ชี้ต้องเพิ่มงบเพื่อเพิ่มคุณภาพบริการ ดึงคนชั้นกลางใช้ประกันสุขภาพตามสิทธิจะเป็นผลดีมากกว่า เชื่อไทยสามารถหาเงินเพิ่มงบบัตรทองได้

ดร.อัมมาร สยามวาลา 

ดร.อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีแนวคิดให้คนรวยหรือคนชั้นกลาง เสียสละสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ 30 บาทรักษาทุกโรค เพื่อนำเงินไปให้กับคนจนที่มีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์ว่า ในทางกลับกันรัฐควรต้องดึงคนชั้นกลางเข้าระบบให้มากขึ้น และปรับเพิ่มงบประมาณของ 30 บาทให้มากขึ้นตามไปด้วยซ้ำ

ดร.อัมมาร ขยายความว่า วัตถุประสงค์แรกเริ่มของระบบหลักประกันสุขภาพ ก็เพื่อจะให้สิทธิรักษาพยาบาลแก่ประชาชนทุกกลุ่ม อย่างไรก็ตาม จากการเก็บข้อมูลทำงานวิจัยชิ้นหนึ่ง โดยกำลังจะเผยแพร่ออกมาในเร็วๆนี้ ผลวิจัยระบุว่า การจำกัดควบคุมงบประมาณในระบบ 30 บาทมาตั้งแต่ต้น เป็นการขับไล่ชนชั้นกลางให้ออกไปจากระบบโดยไม่ตั้งใจ  เพราะด้วยการให้งบประมาณจำนวนน้อยแก่โรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ทำให้โรงพยาบาลส่วนใหญ่เกิดภาวะที่มีผู้ไปรับบริการอย่างหนาแน่นและต้องรอคิวยาว และจากการเก็บข้อมูลพบว่ามีแต่คนจนรายได้ต่ำเท่านั้นที่มาใช้บริการ ส่วนคนชนชั้นกลางหนีหมด เริ่มจากคนที่มีรายได้เกิน 15,000 บาท/เดือนจะเริ่มหนี ส่วนคนที่มีรายได้ 30,000 บาท/เดือน ก็ยิ่งไม่ใช้ เพราะไม่อยากรอคิวนานทั้งวันเพื่อมาพบหมอแค่ 2 นาที ทั้งๆ ที่วัตถุประสงค์ของระบบ 30 บาทก็ต้องการให้คนชั้นกลางได้รับบริการด้วย

“สรุป 10 กว่าปีที่ผ่านมา คนไทยเหมือนได้บริการสุขภาพเท่ากันแต่วิธีการเข้าถึงบริการต่างกันไป 3 วิธี 1.คนรวยใช้เงิน 2.อำมาตย์ใช้เส้น 3.คนจนใช้เวลาแลกกับการเข้าถึงบริการ ซึ่งดูเหมือนจะไม่เสียเงิน แต่จริงๆ ก็เสียเวลาที่จะเอาไปใช้หาเงินเหมือนกัน”ดร.อัมมาร กล่าว

ดร.อัมมาร กล่าวว่า ข้อมูลที่ได้บ่งชี้ชัดเจนว่าคนชั้นกลางส่วนใหญ่ไม่ใช้ 30 บาท ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว แทนที่จะผลักออก รัฐควรต้องปรับการจ่ายงบประมาณให้เพิ่มขึ้นในการพัฒนาคุณภาพบริการ เพื่อดึงคนชั้นกลางกลับเข้ามาสู่ระบบด้วยซ้ำ เพราะคนเหล่านี้ก็เป็นคนไทยที่ควรมีสิทธิเหมือนคนจนและควรได้รับบริการที่ดีกว่านี้ การปรับเพิ่มงบประมาณเพื่อดึงชนชั้นกลางเข้าระบบ จะเป็นผลดีแก่คนกลุ่มนี้ด้วยเพราะค่ารักษาพยาบาลจะยิ่งแพงขึ้นทุกวันๆ

“แต่ถ้าดูความพร้อมของรัฐที่จะให้ระบบ 30 บาท ได้งบประมาณที่พอเพียง ก็ถือว่ายังไม่พร้อม ถ้าเราไปดูค่าใช้จ่ายของข้าราชการ รวมไปถึงพ่อแม่ข้าราชการ และข้าราชการที่เกษียณอายุ รัฐบาลทุ่มเงินรายหัวให้หมื่นกว่าบาท แต่พอเป็นระบบ 30 บาท ได้เงินรายหัว 3,000 กว่าบาท ก็มาบ่นว่าใช้เยอะจัง ไม่มีเงินพอ มาหาทางตัดงบต่างๆนานา ซึ่งการจำกัดงบ 30 บาท มันเป็นข้อผิดพลาดในชุมชนสาธารณสุขอย่างที่กล่าวมาแล้ว” นักวิชาการทีดีอาร์ไอ กล่าว

ดร.อัมมาร กล่าวอีกว่า เชื่อว่าเงินงบประมาณที่เพิ่มขึ้นในระบบหลักประกันสุขภาพนั้น สามารถทำได้หลายทาง ถ้าประเทศไทยมีฐานะยากจนจริงๆ จะไม่ว่าอะไรเลย แต่ถ้าขนาดเอาเงินไปถมโครงการประชานิยมต่างๆ เป็นแสนล้านยังหาได้ ทำไมถึงจะหาเงินมาเพิ่มในระบบ 30 บาทไม่ได้ หรือหากจะบ่นเรื่องต้นทุนรายหัวเพิ่ม แต่ต้นทุนโดยรวมในระบบสุขภาพที่เพิ่มขึ้นจากเงินเดือนของหมอ ทำไมไม่เห็นบ่นกัน

“ถ้าจะหางบประมาณมาเพิ่มให้ 30 บาทมันก็หาได้ ผมเชื่อว่าถ้าเพิ่มงบรายหัว แล้วดึงคุณภาพบริการที่ให้คนจนทุกวันนี้มาให้ขึ้นมาถึงจุดที่คนชั้นกลางรับได้ ก็จะเป็นประโยชน์กับทั้ง 2 ฝ่าย” ดร.อัมมาร กล่าวทิ้งท้าย