ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผอ.รพ.สมเด็จพระยุพราชปัว เผยได้ประโยชน์จากกองทุนคืนสิทธิรักษาคนไร้สถานะไม่มาก เหตุมีคนไร้สถานะใน อ.ปัวกว่า 100 คนเท่านั้น จึงไม่มีนัยยะต่อสภาพคล่องของ รพ. แต่มีปัญหาแบกต้นทุนรักษาคนจนต่างชาติจนติดลบทุกปี วอนปรับระบบจัดสรรงบขั้นต่ำตามจำนวนเตียงบวกด้วยเงินเหมาจ่ายรายหัวประชากรในพื้นที่ แก้ปัญหา operating cost สูงเกินรายได้

นพ.กิติศักดิ์ เกษตรสินสมบัติ

นพ.กิติศักดิ์ เกษตรสินสมบัติ ผู้อำนวยการ รพ.สมเด็จพระยุพราชปัว จ.น่าน กล่าวถึง ผลการดำเนินงานของกองทุนให้สิทธิขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขให้กลุ่มบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ หรือ กองทุนคืนสิทธิฯ ตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 23 มี.ค. 2553 ว่า ในส่วนของ รพ.สมเด็จพระยุพราชปัว ได้ประโยชน์จากกองทุนนี้ไม่มากนัก เนื่องจากกลุ่มคนไร้สถานะใน จ.น่านมีเพียง 1,000 กว่าคน ในอำเภอที่มีคนกลุ่มนี้มากที่สุดมีเพียง 300 คน หรือที่ อ.ปัวเอง มีเพียง 100 กว่าคน ส่วนใหญ่เป็นชาวไทยภูเขาที่ไม่ได้รับสัญชาติไทย อาการป่วยก็เป็นการเจ็บป่วยทั่วไป ดังนั้นงบประมาณที่ได้จากกองทุนนี้ ปีที่ผ่านมาได้ในหลักหมื่นบาท จึงไม่มีนัยยะสำคัญต่อสภาพคล่องของโรงพยาบาล

นพ.กิติศักดิ์ กล่าวอีกว่า ปัญหาของ รพ.สมเด็จพระยุพราชปัว จะต่างจากโรงพยาบาลในพื้นที่ห่างไกลอื่นๆ เพราะปัญหาของที่นี่เป็นเรื่องของการให้บริการคนสัญชาติลาวที่มารักษาแล้วไม่มีกำลังที่จะจ่ายค่ารักษาพยาบาลได้ คนลาวในพื้นที่ที่ติด จ.น่าน อยู่ในโซนที่ยากจนที่สุดของลาว ที่ผ่านมา ทางโรงพยาบาลสามารถเก็บเงินค่ารักษาพยาบาลได้เพียง 30% เท่านั้น ส่วนที่เหลือเป็นการให้ความด้วยเหลือรักษาด้วยเหตุผลทางมนุษยธรรม โดยต้องใช้งบประมาณอุดหนุนคนกลุ่มนี้ประมาณปีละ 2 ล้านบาท และหากดูงบย้อนหลัง 10 ปี จะติดลบกว่า 7-10 ล้านบาท

“โรงพยาบาลในจังหวัดน่าน 10 กว่าแห่ง ติดลบทุกปี ปีก่อนติดลบสะสมกว่า 40 ล้านบาทจนมีปัญหาสภาพคล่อง สั่งซื้อยาไม่ได้ ดีที่ได้รับงบช่วยเหลือมา 32 ล้านบาท ทำให้แก้ปัญหาสภาพคล่องไปได้มาก”นพ.กิติศักดิ์ กล่าว

นพ.กิติศักดิ์ กล่าวว่า ยิ่งในอนาคต หากเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน แนวโน้มผู้ป่วยชาวลาวที่เดินทางเข้ามารับการรักษาก็จะยิ่งมีแนวโน้มมากขึ้น ระยะยาวหากไม่มีการแก้ปัญหาระหว่างประเทศ ปัญหาก็จะยิ่งทวีความรุนแรง 

ขณะเดียวกัน รพ.สมเด็จพระยุพราชปัว ไม่ได้จัดอยู่ในพื้นที่ทุรกันดาร จึงไม่ได้รับค่า Hardship ขณะที่รายได้หลักมาจากงบเหมาจ่ายรายหัวของระบบหลักประกันสุขภาพ แต่ประชากรในพื้นที่มีเพียง 45,000 คน ซึ่งหากจะให้อยู่ได้ ควรมีเตียงประมาณ 60 เตียง แต่ของ รพ.สมเด็จพระยุพราชปัว มีถึง 90 เตียง จึงมี operating cost เกินกว่ารายได้โดยตลอด

นพ.กิติศักดิ์ เสนอว่า อยากให้มีการจัดสรรงบประมาณแบบ Minimum operating cost โดยจัดสรรงบขั้นต่ำตามจำนวนเตียงของโรงพยาบาลก่อน จากนั้นจึงค่อยจัดสรรงบบวกเพิ่มตามจำนวนรายหัวประชากรในพื้นที่และตามประสิทธิภาพการรักษา ไม่เช่นนั้นโรงพยาบาลในลักษณะนี้จะไม่มีโอกาสได้ลงทุนพัฒนาบริการทางการแพทย์เลย

“พอคิดตามจำนวนรายหัว บางโรงพยาบาลที่มีประชากรเยอะ ก็มีเงินมาพัฒนาบริการ ส่วนโรงพยาบาลบางแห่งมีประชากร 8,000 คน แต่มี 30 เตียง แบบนี้ก็จบตั้งแต่ไม่เริ่มต้นแล้ว ดังนั้นผมเสนอให้จัดสรรงบขั้นต่ำ ให้ดูว่ามีเตียงเท่าไหร่ก็จัดสรรขั้นต่ำมาให้ แล้วมีประชากรอีกเท่าไหร่ก็บวกเพิ่มไป ถ้าจัดงบตามรายหัวอย่างเดียว ถึงจะเท่าเทียมแต่ก็ไม่เป็นธรรม” นพ.กิติศักดิ์ กล่าว