ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุข ส่งทีมแพทย์เมิร์ทชุดแรก รวม 19 คน เดินทางไปตรวจรักษาผู้ประสบภัยเนปาลแล้วเช้าวันนี้ โดยจะปฏิบัติร่วมกับทีมเมิร์ทแพทย์ทหารในนามรัฐบาลไทย มีอุปกรณ์การแพทย์ ยาและเวชภัณฑ์จำเป็นทำหน้าที่เป็นห้องฉุกเฉินเคลื่อนที่ รักษาผู้บาดเจ็บ โรคทั่วไป ผ่าตัดเล็ก และดูแลผู้ป่วยหนักก่อนส่งไปโรงพยาบาล

วันนี้ (29 เมษายน 2558) ที่สนามบินสุวรรณภูมิ จ.สมุทรปราการ นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข รักษาราชการแทนปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานวอร์รูม กระทรวงสาธารณสุข เดินทางไปส่งและให้กำลังใจทีมแพทย์สนามฉุกเฉินในภาวะภัยพิบัติ หรือเมิร์ท (Medical Emergency Response Team : MERT) ชุดแรกของกระทรวงสาธารณสุขไปประเทศเนปาล ด้วยสายการบินไทย TG 319 ว่า ทีมแพทย์เมิร์ทที่กระทรวงสาธารณสุข ส่งไปช่วยดูแลรักษาผู้ประสบภัยที่ประเทศเนปาลในวันนี้ จะประสานการทำงานกับสถานทูต กระทรวงสาธารณสุขเนปาล และทีมแพทย์ล่วงหน้าของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อออกปฏิบัติงานร่วมกับทีมแพทย์ของกระทรวงกลาโหม ซึ่งได้เดินทางไปแล้ววานนี้ (28 เมษายน 2558) สำหรับจุดหรือลักษณะการปฏิบัติงานจะกำหนดอีกครั้ง เมื่อไปถึงเนปาล ซึ่งอาจเป็นที่สถานทูต หรือที่โรงพยาบาล ตามความเหมาะสมและความต้องการของรัฐบาลเนปาล

นพ.สุรเชษฐ์ กล่าวต่อว่า ทีมแพทย์เมิร์ทชุดนี้ มี 19 คน ประกอบด้วย แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ฉุกเฉิน 4 คน ศัลยแพทย์ 1 คน พยาบาล 4 คน เจ้าหน้าที่เวชกิจฉุกเฉิน 6 คน เจ้าหน้าที่สื่อสาร 2 คน จิตแพทย์ 1 คน และแพทย์ด้านระบาดวิทยา 1 คน จากรพ.สุไหงโกลก จ.นราธิวาส รพ.พระนครศรีอยุธยา รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ จ.ปราจีนบุรี รพ.สุรินทร์ รพ.ราชวิถี รพ.เลิดสิน กรมการแพทย์ กรมสุขภาพจิต กรมควบคุมโรค และมูลนิธิร่วมกตัญญู โดยมี นพ.จรุงวิทย์ ปลื้มเปรมจิต จากโรงพยาบาลสุไหงโกลก เป็นหัวหน้าทีม และแบ่งหน้าที่ทุกคนอย่างชัดเจน สามารถพึ่งพาตนเองในการดูแลรักษาประชาชนได้ โดยไม่เป็นภาระกับรัฐบาลเนปาล

นพ.สุรเชษฐ์ กล่าวต่อไปว่า ได้มอบแนวทางการปฏิบัติงานว่า การทำงานครั้งนี้ ภารกิจหลักคือการรักษาพยาบาลผู้บาดเจ็บและผู้เจ็บป่วยในเนปาล ทำหน้าที่เป็นห้องฉุกเฉินเคลื่อนที่ โดยจะไปประกอบทีมกับทีมเมิร์ทของทหารในนามรัฐบาลไทย อย่างไรก็ดี ได้เน้นย้ำให้คำนึงถึงความปลอดภัยขณะที่ออกปฏิบัติงาน การติดต่อสื่อสารให้รายงานผลการปฏิบัติงานมายังกระทรวงสาธารณสุขและสถานทูตไทยในเนปาลทุกวัน เพื่อเป็นข้อมูลในการวางแผนการทำงานทีมที่จะส่งไปผลัดเปลี่ยนในระยะต่อไปเพื่อให้การปฏิบัติงานต่อเนื่อง เบื้องต้นกำหนดเวลาการทำงานผลัดละ 7 - 10 วัน

ทั้งนี้ ในการเดินทางครั้งนี้ เป็นไปตามมาตรฐานของทีมแพทย์เมิร์ท โดยเครื่องอุปโภคบริโภค อุปกรณ์การแพทย์ อาทิ เต็นท์ขนาดใหญ่ เครื่องปั่นไฟ เตียงภาคสนาม อุปกรณ์กู้ชีพฉุกเฉิน อุปกรณ์ช่วยเคลื่อนย้ายผู้ป่วย ยาและเวชภัณฑ์ น้ำหนักรวม 300 กิโลกรัม และจะส่งตามไปอีก 1.5 ตัน ในระยะแรกนี้จะเน้นการดูแลรักษาผู้บาดเจ็บ เจ็บป่วยทั่วไป ซึ่งส่วนใหญ่จะมีบาดแผล กระดูกหัก โดยล้างแผล เย็บแผล หรือการผ่าตัดเล็ก รวมไปถึงการรักษาผู้ป่วยหนักเบื้องต้น ก่อนส่งต่อไปยังโรงพยาบาล โดยวอร์รูมฯ กระทรวงสาธารณสุข จะประสานข้อมูลกับทีมแพทย์เมิร์ททุกวัน เพื่อส่งสิ่งสนับสนุนการปฏิบัติงานตามความต้องการ รวมทั้งวางแผนการจัดทีมแพทย์ในระยะต่อไป ซึ่งคาดว่าจะต้องการศัลยแพทย์มากขึ้น