ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมควบคุมโรค แจงมาตรการให้รถพยาบาลใช้ความเร็วไม่เกิน 80 กม./ชม. ขณะนำส่งผู้ป่วย เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยและเจ้าหน้าที่ ชี้ในรถพยาบาลมีอุปกรณ์ช่วยชีวิตระหว่างนำส่งพร้อม 

นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีมาตรการองค์กรเพื่อความปลอดภัยทางถนน ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ในข้อที่ให้รถพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขใช้ความเร็วไม่เกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมงในขณะนำส่งผู้ป่วย  แต่ขณะเดินทางไปรับผู้ป่วยสามารถใช้ความเร็วได้ตามที่กฎหมายกำหนด เมื่อรับผู้ป่วยแล้วหรือส่งต่อผู้ป่วย (refer) ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ให้การดูแลรักษาพยาบาลในระหว่างนำส่งอยู่บนรถแล้ว จึงไม่ต้องเร่งรีบ ให้ใช้ความเร็วไม่เกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมงและปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่และผู้ป่วย รวมถึงเพื่อความสะดวกในการให้การรักษาพยาบาลบนรถด้วย 

ส่วนสาเหตุของการจำกัดความเร็วของรถพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขนั้น จากสถิติในปี 2557 ที่ผ่านมา พบว่ารถพยาบาลฉุกเฉินเกิดอุบัติเหตุ  61 ครั้ง มีเจ้าหน้าที่และผู้ป่วยบาดเจ็บ 130 ราย เสียชีวิตถึง 19 ราย ส่วนใหญ่เกิดอุบัติเหตุช่วงเดินทางกลับจากส่งผู้ป่วยแล้วกว่าร้อยละ 45 จากข้อมูลชี้ให้เห็นว่ารถพยาบาลที่ออกไปรับผู้ป่วย เป็นผู้ป่วยวิกฤติอันตรายเพียงร้อยละ 10-15 ปัจจัยสำคัญของการเกิดอุบัติเหตุคือการใช้ความเร็ว หากเพิ่มความเร็วเท่ากับเพิ่มความเสี่ยง เพราะเมื่อความเร็วเพิ่มขึ้น ระยะหยุดที่ปลอดภัยจะลดลง อาจจะไปถึงจุดหมายเร็วขึ้น 5-10 นาที แต่อัตราเสี่ยงเพิ่มขึ้นร้อยละ 25-50   

นพ.โสภณ กล่าวต่อว่า เพื่อให้มาตรการดังกล่าวประสบความสำเร็จ และการนำส่งผู้ป่วยด้วยความรวดเร็ว ปลอดภัย มีประสิทธภาพมากยิ่งขึ้น ขอให้ประชาชนทั่วไปที่กำลังใช้รถบนถนนให้ความร่วมมือหลีกทางให้รถพยาบาลฉุกเฉินที่เปิดสัญญาณไฟและไซเรนขอทาง เพื่อนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลให้ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที และเป็นการป้องกันอุบัติเหตุที่อาจจะเกิดกับรถพยาบาล ขอให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าใจถึงความจำเป็นในการจำกัดความเร็วรถพยาบาลฉุกเฉินในขณะที่มีผู้ป่วยอยู่ภายในรถ เพื่อความปลอดภัยของทุกคนบนรถพยาบาล หากประชาชนพบเห็นผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุ ขอให้โทรแจ้งขอความช่วยเหลือจากทีมแพทย์กู้ชีพ โทร 1669 หรือมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422