ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เว็บไซต์ ASTVผู้จัดการออนไลน์ : หมอจุฬาฯ หนุนแนวคิดนายกฯ คนรวยควักกระเป๋าค่ารักษาพยาบาลโรคที่จ่ายเองได้ ช่วยลดภาระงบประมาณบัตรทอง รพ.ขาดทุน แนะ รพ.ต้องชี้แจงภาวะจำเป็นต่อประชาชน อย่ากลัวเสียหน้า ย้ำต้องทำให้ประชาชนตื่นรู้เรื่องระบบบัตรทอง มีส่วนร่วมแก้ปัญหา เชื่อหากประชาชนเข้าใจก็พร้อมเสียสละ หวัง รบ.ชุดนี้ช่วยแก้ประชานิยม

30 เม.ย. 58 เว็บไซต์ ASTVผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า ศ.นพ.อภิวัฒน์ มุทิรางกูร คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เสนอแนวคิดให้คนรวยสละสิทธิ์ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) เพื่อช่วยเหลือคนจน ซึ่งภายหลังกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพออกมาปรับทัศนคติโดยให้เหตุผลว่าระบบบัตรทองไม่ใช่ระบบอนาถา แต่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของคนไทย ว่า จริงๆ แนวคิดของนายกฯ ไม่ใช่เรื่องที่ผิด แต่สะท้อนถึงนายกฯ เข้าใจว่าระบบบัตรทองยังเป็นปัญหาและมีความพยายามที่จะแก้ไข แต่ที่ตั้งข้อสงสัยคือ เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ซึ่งเป็นประธานบอร์ด สปสช.ด้วยนั้น เข้าใจถึงปัญหาหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาก็ยังไม่เห็นถึงแรงจูงใจในการแก้ปัญหางบประมาณรัฐสูงเกินไป รวมไปถึงกรณีโรงพยาบาลขาดสภาพคล่อง โดยพบว่าจะแก้ปัญหาโดยของบเหมาจ่ายรายหัวเพิ่มขึ้นตลอด ซึ่งสุดท้ายก็จะเป็นภาระต่องบประมาณประเทศ นั่นเป็นเพราะงบประมาณที่ได้มา สปสช.ไม่ได้เป็นผู้จัดหา แต่เป็นรัฐบาลและกระทรวงการคลัง

ศ.นพ.อภิวัฒน์ กล่าวว่า ข้อชี้แจงของ สปสช.ที่ไม่เห็นด้วยกับนายกฯ คือเป็นเรื่องของศักดิ์ศรีของมนุษย์ และติดขัดกับกฎหมายที่ว่าสิทธิดังกล่าวเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน ส่วนตัวมองว่าหากแนวคิดใดก็ตามที่เป็นทางแก้ปัญหาได้จริง และไม่ส่งผลกระทบ หากขัดกับกฎหมายก็สามารถแก้กฎหมายได้ สำหรับกรณีดังกล่าวมองว่าเบื้องต้นอาจใช้แนวทางการชี้แจงต่อประชาชนให้เข้าใจ เพราะการแก้ปัญหาระบบบัตรทองด้านหนึ่งที่ได้ผลดีคือ การทำให้ประชาชนเข้าใจปัญหาและมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา โดยบุคลากรทางการแพทย์ต้องชี้แจงข้อมูลข้อเท็จจริงให้ประชาชนทราบว่าโรงพยาบาลมีปัญหาอะไร ขาดทุนเพราะอะไร การเงินขาดสภาพคล่องอย่างไร เชื่อว่าประชาชนที่มีกำลังในการจ่ายค่ารักษา ซึ่งไม่ใช่โรคซับซ้อน มีค่าใช้จ่ายแพงๆ ก็ยินดีที่จะจ่ายเองมากกว่าใช้สิทธิ ประเด็นสำคัญคืออย่ากลัวว่าเป็นเรื่องเสียหน้า ที่ต้องยอมรับคือโรงพยาบาลหลายแห่งที่ไม่ขาดทุนก็เพราะมีเงินบริจาคจากประชาชน

"การแก้ปัญหาที่ยากที่สุดคือทำให้ประชาชนตื่นรู้ในเรื่องของระบบบัตรทอง ผมยืนยันว่าไม่ใช่ระบบบัตรทองไม่ดี เพราะเป็นโครงการที่มุ่งหวังให้คนไทยทั้งประเทศได้รับบริการทางการแพทย์อย่างทั่วถึง แต่หากไม่มีการปรับแนวทางการบริหาร สุดท้ายจะสร้างปัญหา จนเกิดความล่มสลายของสาธารณสุขของประเทศ เพราะที่ผ่านมาระบบนี้ให้สิทธิที่สุดโต่งเกินไป โดยเฉพาะการรักษาพยาบาลจนทำให้ประชาชนเพิกเฉยต่อการดูแลสุขภาพตนเอง โรงพยาบาลเกิดภาวะขาดทุน ซึ่งประชานิยมลักษณะนี้มองว่าต้องเร่งแก้ไขให้ได้ในรัฐบาลนี้ โดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง เพราะหากแก้ปัญหาไม่ได้ ต่อให้เป็นรัฐบาลที่เป็นผู้เริ่มโครงการก็คงไม่สามารถแก้ปัญหาได้" ศ.นพ.อภิวัฒน์ กล่าวและว่า นอกจากนี้ ต้องสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนรู้จักดูแลสุขภาพตัวเอง เช่น จำกัดจำนวนครั้งในการพบแพทย์โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย หรือปรับเพิ่มค่ารักษาในส่วนของพฤติกรรมเสี่ยงต่อการเกิดโรค เช่น เพิ่มจาก 30 บาท เป็น 300 บาท หรือ 3,000 บาท สำหรับผู้ป่วยรายใหม่จากการสูบบุหรี่ ดื่มสุรา ติดยาเสพติด มีไข่พยาธิไม้ใบในตับซ้ำซาก โดยประชาสัมพันธ์ เพื่อให้คนมีเวลาปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เป็นต้น