ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หนึ่งในนโยบายสำคัญของเจ้ากระทรวงสาธารณสุขคนปัจจุบันอย่าง ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รมว.สธ. และ นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รมช.สธ.ที่เชื่อกันว่าอยู่ในยุคปฏิรูปคือ นโยบายทีมหมอครอบครัว ที่เริ่มเดินหน้ามาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2557 แรกเริ่มเดิมทีมีความมุ่งมั่นที่จะให้ ทีมหมอครอบครัวนี้ เป็นนโยบายพลิกฟ้า คว่ำแผ่นดิน ระบบสาธารณสุขของไทย ถึงขั้นเกือบจะระบุกันแล้วว่า นี่เป็นจังหวะก้าวที่สองของการปฏิรูประบบสุขภาพของไทย หลังจากเมื่อครั้งปฏิรูปยกที่หนึ่งไปแล้วเมื่อปี 2544 กับ 30 บาทรักษาทุกโรค ซึ่งก็คือ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่ทำให้คนไทยทุกคนมีประกันสุขภาพอย่างถ้วนหน้า

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาตัวนโยบายหมอครอบครัวแล้ว ถือเป็นนโยบายที่ดี โดยนัยยะของมันคือการปฏิรูประบบสุขภาพด้วยการส่งเสริมสุขภาพแบบปฐมภูมิ และไทยก็มีอังกฤษ หนึ่งในประเทศต้นแบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เป็นแม่แบบหมอครอบครัว

อย่างไรก็ตาม จากการเดินหน้ามา 6 เดือน สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับกันคือ นอกจากประกาศผลสำเร็จเรื่องสร้างทีมหมอครอบครัวแล้ว ยังไม่เห็นทิศทางว่าจะพัฒนาไปอย่างไรต่อ สำหรับประชาชนในเขตเมือง ได้ประโยชน์อย่างไรจากทีมหมอครอบครัวยังมองไม่เห็น ขณะที่ประชาชนในพื้นที่ชนบท อาจจะงงๆ กับหมอครอบครัว และทีมเยี่ยมบ้าน และยังไม่แน่ใจว่าถึงที่สุดแล้วปฏิบัติตัวอย่างไร และเมื่อผนวกเข้ากับความไม่มีเสถียรภาพของการบริการงานในกระทรวงสาธารณสุข ที่แม้จะเด็ดหัวตัวพ่ออย่าง นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ.ไปนั่งตบยุงที่สำนักนายกรัฐมนตรี และเดินสายออกพบปะเครือข่ายในบางเวลาอยู่ขณะนี้แล้ว แต่คลื่นใต้น้ำก็ยังกระเพื่อมไม่หยุดหย่อน

จึงเกิดเป็นคำถามด้วยความห่วงใย ว่าเมื่อการรับรู้เรื่องนโยบายยังไม่ชัด ขณะที่ฝ่ายปฏิบัติการก็ยังไม่ยอมรับ บ้างถึงขั้นแข็งข้อ แม้จะมีบางพื้นที่ที่เข้มแข็งก่อนมีนโยบายนี้เป็นต้นแบบคอยขับเคลื่อน เช่น โมเดลลำสนธิ จ.ลพบุรี และโมเดลแก่งคอย จ.สระบุรี แต่ก็ไม่แน่ใจว่าจะเดินหน้าได้จนถึงขั้นปฏิรูประบบสุขภาพไทยยกที่สองได้ และแน่นอน ท่ามกลางความห่วงกังวลของนโยบายนี้ ประการสำคัญ คือ เมื่อเจ้ากระทรวงทั้ง 2 คนพ้นอำนาจไปแล้ว ทีมหมอครอบครัวจะยั่งยืนหรือไม่ หรือเงียบหายไปตามเจ้าของนโยบาย เฉกเช่นเดียวกับนโยบายสาธารณสุขอื่นๆ ที่ผ่านมา

จากข้อสังเกตต่างๆ เหล่านี้ สำนักข่าว Health Focus จึงได้จัดทำรายงานพิเศษหรือซีรีส์ตอน ปฏิรูปสุขภาพยกสองด้วย หมอครอบครัว จะไปถึงฝัน หรือ แป้ก !

ตอนที่ 1 ‘หมอครอบครัว’ เหล้าเก่าในขวดใหม่ พิสูจน์ฝีมือ รมต.สธ. ต่อยอดระบบปฐมภูมิ

ตอนที่ 2 หนุนหมอครอบครัว เชื่อเป็นพลังเดินหน้าปฐมภูมิ แต่หวั่นไม่ยั่งยืน

 ต่อไปนี้เป็นตอนที่ 3 นโยบายหมอครอบครัว อืดเหมือนมวยไม่ยอมออกหมัด

อดีตผู้บริหาร สธ.ชี้นโยบายหมอครอบครัวอืดเหมือนมวยไม่ยอมออกหมัด ข้องใจ เหตุใดไม่เดินหน้านโยบายเป็นรูปธรรม ทั้งที่มีการปูทางไว้แล้ว ตามนโยบายนักสุขภาพครอบครัวที่โครงสร้างคล้ายกัน แต่ของใหม่เป็นแบบ Top-Down ขณะที่แบบเดิมเป็น Bottom up  แจงหากเปรียบเป็นมวย ต้องบอกว่าถึงยกที่ 7-8 แล้ว แต่ก็ยังไม่ยอมออกหมัดเสียที จี้ รมช.สมศักดิ์ กล้าสั่งกล้าทำเพราะไม่มี ‘นพ.ณรงค์’ คอยขวางแล้ว แนะต้องสั่ง รก.ปลัด ‘นพ.สุรเชษฐ์’ ให้เดินหน้าเต็มที่

แหล่งข่าวอดีตผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) วิจารณ์นโยบายหมอครอบครัวซึ่งมี นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รมช.สธ. เป็นหัวเรือใหญ่ในการขับเคลื่อนว่า ที่ผ่านมานโยบายดังกล่าวติดขัดกับปัญหาความไม่ลงรอยในการบริหารงานกับ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดสธ. ซึ่งถูกย้ายไปช่วยราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี ขณะที่ตัว นพ.ณรงค์เอง ก็ไม่ได้สนับสนุนแนวคิดเรื่องหมอครอบครัวด้วย ทำให้ไม่มีคนรับไปปฎิบัติ นโยบายดังกล่าวจึงไม่มีผลในรูปธรรมมากนัก

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ นพ.ณรงค์ ถูกย้ายออกไปกว่า 2 เดือนแล้ว ก็ไม่เข้าใจว่าเหตุใดจึงไม่เดินหน้านโยบายดังกล่าวเสียที ซึ่งถ้าหากเปรียบเป็นมวย ก็ต้องบอกว่ามาถึงยกที่ 7-8 แล้ว แต่ก็ยังไม่ยอมออกหมัดเสียที

แหล่งข่าว กล่าวว่า เหตุที่เปรียบเหมือนมวยยก 7-8 แล้ว ก็เพราะที่ผ่านมาได้เคยมีความพยายามผลักดันแนวคิดเรื่องหมอครอบครัวในยุค นพ.นิทัศน์ รายยวา รองปลัด สธ. เป็นตัวหลักในการเซ็ตอัพระบบ ใช้เวลาผลักดันอยู่ 2 ปี แต่สุดท้ายฝ่ายการเมืองก็ไม่รับลูก และ นพ.ณรงค์ ไม่สนับสนุน นโยบายจึงไม่เกิด

“หมอครอบครัว ถ้าทำได้มันจะดีมาก เพราะเหมือนมีหมอคอยดูแลประชาชน เหมือนมีทนายประจำบ้านเลย ตอนนั้นระบบที่วางไว้คือแต่ละหมู่บ้าน หรือเฉลี่ยประชากร 1,250 คน จะมีเจ้าหน้าที่ 1 คน ทำตัวเป็นหมอประจำครอบครัว อาจจะเป็นพยาบาลหรือวิชาชีพอื่นๆ ที่อยู่ในระบบสาธารณสุข ดูแลทั้งเด็ก วัยรุ่น วัยทำงาน คนท้อง ผู้พิการ และผู้สูงอายุ โดยมีแนวทางการดูแลต่างกันไปตามลักษณะของแต่ละกลุ่ม เช่น เด็ก ก็ดูแลเรื่องการฉีดวัคซีนป้องกันโรค วัยรุ่นก็ดูแลเรื่องการออกกำลังกาย การป้องการการเสพยาเสพติดและท้องก่อนวัยอันควร หรือคนวัยทำงานก็เน้นเรื่องโรคเบาหวาน ความดัน โรคหัวใจ และมะเร็งเป็นต้น โดยเจ้าหน้าที่ 11-12 คนก็จัดเป็น 1 กลุ่มและมีแพทย์เป็นหัวหน้าทีม 1 คน”

แหล่งข่าว กล่าวว่า การวางระบบแบบนี้ จะใช้หมอครอบครัวประมาณ 50,000 คน ต่อประชากร 60 ล้านคน ซึ่งถือว่าไม่มาก เพราะเฉพาะพยาบาลก็มีกว่า 200,000 คนแล้ว และจะใช้หมอที่เป็นหัวหน้าทีม 4,500 คน เท่านั้น

“เมื่อมีการรัฐประหารแล้วมีรัฐมนตรีคนใหม่ มีการประกาศผลักดันนโยบายหมอครอบครัว ซึ่งโครงสร้างการทำงานคล้ายๆ กับของเดิม แต่เป็นการทำงานแบบ Top-Down ขณะที่แบบเดิมเป็น Bottom up แต่ก็มาติดขัดที่ นพ.ณรงค์ ซึ่งถ้าปลัดสธ.คลิ๊กนิดเดียว นโยบายสำเร็จเลย เพราะในระดับปฏิบัติในชุมชน เขาก็พร้อมอยู่แล้ว ทีนี้เมื่อย้ายปลัดณรงค์ออกไปแต่ก็ยังไม่ทำอะไร ก็เหมือนเป็นมวยไม่ออกหมัด ซึ่งผมเสียดาย เพราะนโยบายนี้มีโอกาสประสบความสำเร็จสูง รัฐมนตรีต้องกล้าที่จะทำ กล้าออกหมัด กล้าที่จะสั่ง นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รักษาการปลัด สธ. เพราะทางคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ก็ดูจะขานรับกับเรื่องนี้อยู่แล้ว”แหล่งข่าว กล่าว

ตอนต่อไป ติดตาม ฝ่ายปฏิบัติชี้ อย่าเพิ่งหวังผล หลายพื้นที่ไม่พร้อม แนะเพิ่มคน-งบ