ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ข้อเขียนจาก นพ.ธีระ วรธนารัตน์ ทำนายสถานการณ์การรักษาใน รพ.รัฐ ว่า หากยังปล่อยให้มีสภาพแบบนี้ คือ กำลังคนสุขภาพที่ไม่มีทั้งขวัญและกำลังใจ งานหนัก ค่าตอบแทนต่ำ คน เงิน ของ ที่ไม่เพียงพอ และขาดแคลนไปทุกสิ่งเช่นนี้ ในอนาคตอีกไม่นาน ไทยคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเจอกับสถานการณ์ความเสื่อมถอยของระบบสุขภาพภาครัฐที่จะลดลงอย่างรุนแรง ขณะที่ธุรกิจอุตสาหกรรมสุขภาพพุ่งโตสวนทางไม่หยุดไปพร้อมกับธุรกิจประกันชีวิตที่หากินจากความเสื่อมถอยด้านคุณภาพของระบบสุขภาพภาครัฐ ซึ่งทั้งหมดเกิดจา “นโยบายที่แก้ไม่ถูกที่ ชี้ไม่ถูกจุด และการไม่ยอมรับสัจธรรมของชีวิตในระบบสุขภาพ และในสังคม”

นพ.ธีระ วรธนารัตน์  “โปรดอย่าว่า รพ.รัฐเลยครับ”

“วันเกิดคีน...2558

วันนี้ป๊าอ่านโพสของพี่สาวที่เคารพรักสุดๆ ท่านนึง ที่พาคุณพ่อไปตรวจที่ รพ.รัฐ ในวันแห่งความรัก และประสบสถานการณ์ที่หมอมาลงตรวจช้ามากเนื่องจากติดประชุม

ผู้ป่วยจำนวนมากมาเข้าคิวรอตั้งแต่เช้าตรู่ แต่กว่าหมอจะมาก็ 11โมงกว่า แถมตรวจโดยใช้เวลา 1 นาทีด้วย

มีพี่ๆ น้องๆ ไปคอมเมนท์แสดงความเห็นใจ และให้กำลังใจอย่างมากมาย รวมถึงป๊าด้วย เนื่องจากป๊าเกาะติด และเข้าใจสถานการณ์เช่นนี้ดีพอสมควร และพยายามช่วยกันหาทางพัฒนาระบบเช่นกัน...

มีบางคนก็คอมเมนท์ในทำนองที่ว่า นี่แหละสิ่งที่ รพ.รัฐให้ประชาชน...

ป๊าคิดว่าแนวคิดดังกล่าวไม่ตรงกับความจริง จึงเขียนตอบไปดังนี้...

........................................

ผมหมอธีระจากจุฬาฯ ครับ

โปรดอย่าว่า รพ.รัฐเลยครับ

สถานการณ์ดังกล่าวเราพบได้เป็นปกติตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เพราะนโยบายที่แก้ไม่ถูกที่ ชี้ไม่ถูกจุด และการไม่ยอมรับ "สัจธรรม" ของ "ชีวิต" ในระบบสุขภาพ และในสังคม

ณ ปัจจุบัน นโยบายจำนวนมากก็ยังถูกเข็นออกมาโดยดำเนินตามความเชื่อและแนวทางฝรั่ง โดยมิได้ดูว่า ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชีวิตของกำลังคนด้านสุขภาพเช่นไร เน้นดูแต่การปกป้องสิทธิ ทำให้เสมอภาค ลดค่าใช้จ่ายทุกวิถีทาง และเพิ่มคุณภาพ/ความปลอดภัยผ่านกลไกด้านระเบียบ เกณฑ์ และการขันน็อตระบบตรวจสอบ

หมอ พยาบาล เภสัชกร ทันตแพทย์ รวมถึงพี่น้องในระบบสุขภาพนั้น ส่วนใหญ่ทำงานกันสายตัวแทบขาดภายใต้กฎเกณฑ์ และทรัพยากรในระบบที่มีอยู่

รัฐ (โดยเฉพาะคนสร้างและบังคับใช้นโยบาย) ต้องยอมรับสัจธรรมเสียทีว่า

หนึ่ง กำลังคนสุขภาพนั้น "มีชีวิตจิตใจ" และควรได้รับการดูแล "ชีวิตและจิตใจ" ให้สามารถทำงานอย่างมีสมดุลในชีวิตอย่างมีความสุข และได้รับการดูแลเอาใจใส่ครอบครัวของเขาและเธอ

สอง ทรัพยากรพื้นฐานในระบบรัฐ ทั้งคน เงิน ของ ไม่เพียงพอที่จะให้บริการตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนทุกคนอย่างมีมาตรฐานและคุณภาพ ทั้งนี้ระบบประกันคุณภาพที่ถูกสร้างขึ้นมานั้นเป็นเพียงภาพหลอก ที่ไม่สามารถรับประกันทุกกระบวนการ และทุกผลผลิตที่ออกจากระบบได้จริง

สาม การเลี้ยงดูกำลังคนภาครัฐทุกสาขา ด้วยค่าตอบแทนที่น้อยกว่าเอกชนนั้น รัฐต้องรักษาน้ำใจเขาและเธอด้วยเรื่องอื่นด้วย เช่น การดูแลรักษายามเจ็บป่วยของเค้าและครอบครัวอย่างดีและมีมาตรฐาน ที่ทำให้ไม่ลำบากขัดสน เพื่อตอบแทนเค้า ที่รับใช้ชาติด้วยความซื่อสัตย์ ทุ่มเท ตามปณิธานวิชาชีพ

สี่ ตัวเลขกำลังคนด้านสุขภาพที่ใช้อ้างอิงกันอยู่ เพื่อเร่งผลิต และสร้างกฎระเบียบมาบังคับนั้น ยืนบนพื้นฐาน "ตัวเลขที่ไร้ชีวิตจิตใจ" กล่าวคือ เป็นตัวเลขที่คำนวณมาตามอัตราค่าเฉลี่ยภาระงานที่ไม่ตรงความจริง ทั้งที่งานภาครัฐนั้นมีงานจรที่วุ่นวาย ไม่ตรงสายงาน และเป็นงานงี่เง่าจากนโยบายอุบาทว์ๆ มากมาย อาทิเช่น การเอาคนสุขภาพมานั่งกรอกตัวเลข จดสถิติ เพื่อทำเรื่องขอเงิน ดังที่เรารู้กันทั่วไป

นอกจากนี้ ภาระงานดังกล่าวทั้งหมดนั้นไม่ได้อิงสมดุลชีวิตคน ไม่คิดว่าคนเรานั้นมีท้อมีเหนื่อย มีความแปรปรวนด้านสมรรถนะ และการประสบปัญหาต่างๆ ในการทำงาน ดังนั้นถึงจะมีนโยบายจะให้ผลิตไปเท่าใด บังคับยังไง ก็ไม่มีทางสัมฤทธิ์ผล แม้จะยกตัวอย่าง CPIRD มาว่าสำเร็จแต่เชื่อเถิดว่าชั่วคราวเท่านั้นจริงๆ

ระบบสุขภาพในอนาคตภายใต้นโยบายสุขภาพแบบเดิมๆ เช่นนี้ มีแนวโน้มสูงมากที่เราจะเห็นปรากฏการณ์ดังต่อไปนี้

หนึ่ง ความเสื่อมถอยในความน่าเชื่อถือและศรัทธาในระบบสุขภาพภาครัฐอย่างรุนแรง แม้แต่โรงเรียนแพทย์ เนื่องจากอิทธิพลของกลไกการเงินการคลังที่ผิดทางมาตลอด

สอง การผงาดของธุรกิจอุตสาหกรรมสุขภาพ จนครอบคลุมลูกค้าตั้งแต่ระดับรวยมากถึงระดับฐานะปานกลางระดับล่าง ทิ้งประชาชนยากจนมาก ไว้ให้หาทางรอดเอง ส่วนประชาชนยากจนแต่ไม่มากนั้น จะมีจำนวนสัดส่วนที่ผิดหวังกับระบบภาครัฐ หรือหลงเชื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์ด้านมืด จนกู้หนี้ยืมสินไปใช้บริการเอกชนระดับล่างๆ

สาม ธุรกิจประกันชีวิต ประกันอุบัติเหตุ และธุรกิจด้านกฎหมาย จะเฟื่องฟู สนุกสนานกับการหากำไรจากกลวิธี "เล่นกับความกลัว" และกลวิธี "ยุยงส่งเสริม" เพื่อหาเงินจากทั้งภาครัฐ และเอกชน แต่คนที่ได้รับผลกระทบมากสุดคือ ประชาชนที่เป็นเหยื่อ และกำลังคนด้านสุขภาพ จนสุดท้ายแล้วจะพบปรากฏการณ์สุดท้าย ได้แก่

สี่ คุณภาพของคนที่สนใจศึกษา และปวารณาตัวทำงานด้านสุขภาพเพื่อรับใช้สังคมจะลดลงเรื่อยๆ ควบคู่ไปกับจำนวนที่จะผลิตตอบสนองต่อความต้องการในระยะยาว จนอาจต้องใช้ต่างชาติแทน

ป.ล.ขออย่าให้เป็นดังที่ผมบอกเลยครับ หากเราช่วยกันทำให้ถูกทาง น่าจะดีขึ้นได้

ด้วยรักต่อพี่ๆ น้องๆ ทุกท่าน”

ผู้เขียน : ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ สำนักงานวิจัยและพัฒนาเพื่อการแปรงานวิจัยสุขภาพสู่การปฏิบัติ ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย