ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี 2557 ประเทศไทยมีผู้สูงอายุ 10,014,699 คน หรือประมาณร้อยละ 15 ของประชากรทั้งประเทศ และมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นปีละประมาณ 6 แสนคน และคาดว่าในปี 2564 จะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 20 เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์แบบ และอีก20 ปี ประชากรผู้สูงอายุจะเพิ่มเป็นร้อยละ 30 ของประชากรทั้งหมด เรียกว่าเป็นสังคมสูงวัยระดับสุดยอด ผู้สูงอายุกว่าครึ่งอยู่ในชนบท ซึ่งวัยผู้สูงอายุเป็นวัยที่มีร่างกายเสื่อมถอย เสี่ยงต่อโรคต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะจากโรคจากภาวะสมองเสื่อม

ดร.นพ.ยุทธชัย ลิขิตเจริญ

ดร.นพ.ยุทธชัย ลิขิตเจริญ อาจารย์ประจำหน่วยประสาทวิทยา ฝ่ายอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า จากข้อมูลในต่างประเทศพบว่า ในปี 2554 จะมีผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไปมีภาวะสมองเสื่อมเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าของประชากร และในทุกๆ 5 ปี จะเพิ่มมากขึ้นถึง 2-5% และเพศหญิงจะมีภาวะสมองเสื่อมมากกว่าเพศชาย ร้อยละ 5 พบว่า ภาวะสมองเสื่อมเกิดจากกรรมพันธุ์

ภาวะสมองเสื่อม เป็นกลุ่มอาการของโรคที่สามารถแยกย่อยออกเป็นเซลล์สมองเสื่อมที่ไม่สามารถรักษาและหยุดการดำเนินของโรคได้ สาเหตุของการเกิดภาวะสมองเสื่อม ได้แก่ โรคอัลไซเมอร์ มากที่สุด ในกลุ่มนี้ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ รองลงมาปัญหาโรคหลอดเลือดสมอง ส่วนสาเหตุอื่นๆ เช่นอาการทางจิต โรคซึมเศร้า หรือขาดวิตามินบางตัวอย่างวิตามินบี 12 และโฟเลต ซึ่งการขาดวิตามินพบได้น้อย มักพบในกลุ่มผู้ป่วยโรคพิษสุราเรื้อรัง ในกลุ่มหลังนี้สามารถป้องกันและรักษาได้

นอกจากนี้ยังพบว่า คนที่มีภาวะความเครียดเป็นประจำ หรือกลุ่มที่มีกิจกรรมทางกายน้อย ไม่ออกกำลังกาย เก็บตัวไม่พบปะผู้คน ไม่ค่อยได้ใช้สมอง และโรคทางกาย เช่น ความดัน เบาหวาน ไขมันสูง การสูบบุหรี่ เสี่ยงที่จะเกิดภาวะสมองเสื่อมได้เช่นกัน

อาการเริ่มแรกของผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อม จะปรากฏให้เห็นในด้านของความจำระยะสั้นเป็นลำดับแรก เช่น พูดเรื่องซ้ำๆ เดิมๆ และมีอาการหลงลืมในระดับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อารมณ์เปลี่ยนแปลง ความสามารถในการใช้ภาษาลดลง เป็นต้น ซึ่งอาการดังกล่าวญาติผู้ป่วยต้องคอยสังเกตว่า ผู้สูงอายุในบ้านมีอาการดังกล่าวหรือไม่ หากพบควรพามาพบแพทย์เพื่อการตรวจจะทำด้วยการซักประวัติ ทำแบบทดสอบร่วมกับนักจิตวิทยา หากเป็นชนิดรักษาได้ก็จะรักษาในจุดที่ทำให้เกิดความเสื่อมไป เช่น รักษาโรคซึมเศร้า เพิ่มวิตามินที่ขาด หรือรักษาหลอดเลือดตีบ หรือตัน และบางครั้งพบว่าการเกิดก้อนเนื้อในสมองก็ทำให้เกิดเซลล์สมองเสื่อมได้ ส่วนถ้าเป็นชนิดรักษาไม่ได้ จะใช้วิธีบำบัดเพื่อให้อาการดำเนินไปช้าลงได้ ผู้ป่วยส่วนมากจะเสียชีวิตด้วยโรคติดเชื้อทางเดินหายใจหรือปัสสาวะ และแผลกดทับ

การรักษาภาวะสมองเสื่อมมีด้วยกัน 3 แนวทางคือ 1. รักษาโรคต้นเหตุของภาวะสมองเสื่อม 2. รักษาตามอาการแบบประคับประคอง และ 3. การให้ยาบำบัดรักษา

นพ.ยุทธชัย กล่าวว่า สำหรับยาบางตัวที่ใช้รักษาผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมยังไม่ครอบคลุมทุกกลุ่มสิทธิการรักษา ยกเว้นกลุ่มสิทธิการรักษาที่สามรถเบิกต้นสังกัดได้ ซึ่งค่าใช้จ่ายในการรักษาจะสูงหรือไม่ขึ้นอยู่กับภาวะความรุนแรงของโรคของผู้ป่วย เช่น กลุ่มผู้ป่วยที่ช่วยเหลือตนเองได้จะมีค่าใช้จ่ายที่ต่ำกว่ากลุ่มที่ต้องมีคนช่วยหรือช่วยตัวเองไม่ได้ หรือกลุ่มที่ต้องอยู่ในโรงพยาบาลตลอด

“ส่วนผู้ที่ดูแลผู้ป่วยจะต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติให้เข้าใจในตัวผู้ป่วยให้มากขึ้น เนื่องจากผู้ป่วยไม่สามารถปรับตัวได้ ” นพ.ยุทธชัย กล่าว

ทั้งนี้ วิธีป้องกันการเกิดภาวะสมองเสื่อม คือ การหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ดังที่กล่าวมา ดูแลควบคุมภาวะความดันโลหิต เบาหวาน ไขมัน ให้อยู่ในเกณฑ์ปกติอย่างสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง หวานจัด เค็มจัด ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มสุรา หลีกเลี่ยงสารเสพติดซึ่งจะมีผลทำลายสุขภาพในระยะยาว ไม่ส่ำส่อนทางเพศเพื่อป้องกันโรคเอดส์ และควรระวังอุบัติเหตุชนิดต่างๆ โดยเฉพาะอุบัติเหตุที่ศีรษะ ทำจิตใจให้สดชื่นแจ่มใสอยู่เสมอ มีความรัก ความเข้าใจ ความอบอุ่นในครอบครัวยอมรับสภาพตามความเป็นจริง ทำกิจกรรมที่มีการฝึกสมอง เช่น อ่านหนังสือ เล่นต่อคำ เล่นดนตรี ฟังดนตรี ร้องเพลง  เต้นรำ และไม่เคร่งเครียดเกินไป ที่สำคัญควรตรวจสุขภาพประจำปี เพียงเท่านี้จะสามารถทำให้ชีวิตมีความสุขได้

เรื่องที่เกี่ยวข้อง