ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นักวิชาการติงองค์การเภสัชกรรมอย่าลืมบทบาทตัวเอง หลังพบโฆษณาแฝงทำตลาดยา “ซิเดกรา” หวั่นกระตุ้นคนใช้ยาพร่ำเพรื่อ

ผศ.ดร.ภญ.สุนทรี ท.ชัยสัมฤทธิ์โชค อาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า  รู้สึกกังวลกับบทบาทขององค์การเภสัชกรรม (อภ.) ในกรณีการผลิตยารักษาอาการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ “ซิเดกรา” ออกมาจำหน่าย เนื่องจากมีการโฆษณาแอบแฝงในสื่อทั้งสิ่งพิมพ์และรายการโทรทัศน์ อาทิ การให้ข้อมูลว่าราคาถูกกว่ายาต่างประเทศ ยา 3 - 4 แสนเม็ดขายหมดภายใน 20 นาที หรือจะกระจายยาไปวางจำหน่ายในระดับอำเภอ เป็นต้น ซึ่งจะทำให้ภาพที่ออกมา กลายเป็นว่า อภ.เน้นน้ำหนักไปที่ยาตลาด ยาแบบ Lifestyle Drug สวนทางกับความคาดหวังของสังคมที่ต้องการเห็น อภ.เป็นผู้นำในเรื่องการผลิตยา Life saving Drugs เพื่อประชาชนและคนจน

“ก็เข้าใจว่าอภ.เป็นรัฐวิสาหกิจที่ก็ต้องทำกำไรด้วย และเขาก็อาจบอกว่าเอากำไรจากยา Lifestyle Drug มาช่วยเหลือจุนเจือในการผลิตยา Life saving Drugs แต่ก็อยากให้รู้หน้าที่หลักของตัวเองด้วยว่าพันธกิจต่อสังคมคืออะไร อภ.ลืมหน้าที่หลักไปแล้วหรือเปล่า เมื่อเร็วๆนี้ก็มีข่าวว่ายังมียาที่จำเป็น ยา Life saving Drugs อีกเยอะแยะที่ไม่ได้ผลิต ไม่ได้ส่ง ไม่รู้ว่าทำไปถึงไหนแล้ว อยากเห็นข่าวในลักษณะของตัวชี้วัดว่า อภ.สำเร็จในการผลิตยาเพื่อช่วยเหลือชีวิตคนอย่างนี้มากกว่า ถ้าภาพของอภ.กลายเป็นผู้เล่นที่เล่นเรื่องยาตลาด แล้วต่อไปจะมาพูดเรื่องการเป็นผู้ผลิตยาเพื่อประชาชน เพื่อคนจน มันก็จะพูดได้ไม่ชัด” ภญ.สุนทรี กล่าว

นักวิชาการรายนี้ กล่าวต่อไปด้วยว่า ยาที่ได้รับอนุญาตให้โฆษณาส่งเสริมการขาย จะเป็นยาที่ประชาชนใช้ในการดูแลตัวเองได้ อาทิ ยาแก้ปวดลดไข้ ซึ่งไม่ใช่ยาซิเดกรา แต่การโฆษณาแอบแฝงในหนังสือพิมพ์ธุรกิจหรือรายการข่าวทางโทรทัศน์ จะเกิดคำถามว่าทำไมรัฐวิสาหกิจทำได้ แต่บริษัทยาเอกชนทำไม่ได้ เป็นเรื่อง 2 มาตรฐานหรือไม่ขึ้นมาอีก

“ที่สำคัญเราไม่ได้อยากให้คนใช้ยาพร่ำเพรื่อ ยิ่งหาง่ายเท่าไหร่ก็ยิ่งทำให้คนใช้ยาความเกินจำเป็น ซึ่งหากทานมากๆมันก็เกินอันตรายจากการใช้ยาได้” ภญ.สุนทรี กล่าว