ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กลุ่ม ขรก.ต้องการความยุติธรรม สธ. จี้ ก.พ. ชงหลักเกณฑ์เยียวยาความเหลื่อมล้ำเข้า ครม. หลัง สนช.ผ่าน พ.ร.บ.ข้าราชการพลเรือน ฉบับที่ 2 ปี 58 แล้ว เปิดช่อง ม.3 ให้แก้ปัญหาได้ เผยหาก 1 เดือนไม่คืบ เตรียมขอความเป็นธรรมจาก คสช.และนายกฯ ต่อไป พร้อมเรียกร้องให้ลูกจ้างชั่วคราวที่บรรจุเป็น พกส.ให้สามารถนับต่ออายุงานราชการได้เลย ไม่ต้องเริ่มต้นใหม่ เพราะส่งผลกระทบต่อการสอบเลื่อนขั้น ไม่เป็นธรรมต่อ พกส.

นายธนภัทร ศรีชุม

นายธนภัทร ศรีชุม ประธานกลุ่มข้าราชการต้องการความยุติธรรม กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากปัญหาความเหลื่อมล้ำในระบบราชการ จากกรณีการปรับปรุงหลักเกณฑ์การบรรจุข้าราชการของทางสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เมื่อปี 2556 ที่กำหนดให้สิทธิข้าราชการที่บรรจุหลังวันที่ 11 ธันวาคม 2555 รับเงินเดือนเต็มขั้นและยังสามารถทำเรื่องชำนาญการเพื่อเลื่อนระดับได้นั้น ส่งผลให้มีข้าราชการที่ได้รับการบรรจุก่อนหน้านี้ เชื่อว่ามากกว่า 12,000 คน ได้รับผลกระทบ เนื่องจากผู้ที่ได้รับการบรรจุภายหลังกลับมีอัตราเงินเดือนและสิทธิเลื่อนขั้นมากกว่าข้าราชการที่ทำงานมาก่อน ซึ่งที่ผ่านมาได้เข้าร้องเรียนเพื่อขอความเป็นธรรมต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก่อนหน้านี้

ทั้งนี้ที่ผ่านมาได้มีการแก้ไขปัญหาโดยมีการนำเรื่องเข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อปรับแก้ไขกฎหมายให้เกิดการเยียวยา โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 22 พ.ค. ที่ผ่านมา ทาง สนช.ได้พิจารณาผ่านร่าง พ.ร.บ.ข้าราชการพลเรือน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558 และให้มีการประกาศใช้เรียบร้อยแล้ว ซึ่งใน พ.ร.บ.ฉบับนี้ในมาตรา 3 ได้กำหนดให้เพิ่มความในมาตรา 50/1 พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ที่ระบุให้ “ในกรณีที่มีเหตุผลและความจําเป็น เพื่อเป็นการเยียวยาให้ข้าราชการพลเรือนสามัญ ได้รับเงินเดือนหรือเงินประจําตําแหน่งที่เหมาะสมและเป็นธรรม ก.พ. อาจกําหนดให้ข้าราชการพลเรือนสามัญ ได้รับการเยียวยาโดยให้ได้รับเงินเดือนหรือเงินประจําตําแหน่งตามที่เห็นสมควรเป็นกรณีๆ ไปก็ได้ ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะรัฐมนตรีกําหนด ซึ่งถือว่าเป็นการเปิดช่องไว้ ซึ่งหลังจากนี้คงต้องรอดูว่า ทาง ก.พ.จะมีการดำเนินการเรื่องนี้อย่างไรต่อไป

“ขณะนี้ สนช.ได้ผ่านกฎหมายโดยเปิดช่องการเยียวยาข้าราชการที่ได้รับผลกระทบและมีความเหลื่อมล้ำแล้ว ขณะนี้จึงอยู่ที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ ก.พ. ในการทำหลักเกณฑ์การเยียวยาเพื่อขออนุมัติจาก ครม. และควรมีการดำเนินการโดยเร็วที่สุด ไม่เช่นนั้นจะยิ่งทำให้เกิดผลกระทบมากขึ้น และส่วนตัวมองว่า ก.พ. ได้รับทราบปัญหาที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้แล้ว ควรที่จะมีการจัดทำหลักเกณฑ์การเยียวยาเพื่อรองรับหลังกฎหมายผ่านความเห็นชอบ สนช. เช่นเดียวกับหลักเกณฑ์การปรับเพิ่มเงินเดือนตาม พ.ร.บ.ข้าราชการพลเรือนฉบับเดียวกันนี้ที่ ก.พ.สามารถประกาศได้ทันที” ประธานกลุ่มข้าราชการต้องการความยุติธรรมฯ กล่าว

นายธนภัทร กล่าวว่า อย่างไรก็ตามกลุ่มข้าราชการต้องการความยุติธรรม กระทรวงสาธารณสุขจะคงติดตามต่อเนื่อง ซึ่งหากภายใน 1 เดือน ก.พ.ยังไม่มีความคืบหน้าเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การเยียวยานี้ คงต้องทวงถามความคืบหน้ากับทาง คสช. และนายกรัฐมนตรีที่ได้เข้าร้องขอความเป็นธรรมก่อนหน้านี้ ทั้งนี้การเยียวยาควรมีผลย้อนหลังไปในระยะเวลาเดียวกับการปรับเพิ่มฐานเงินเดือนข้าราชการ คือ 1 ธันวาคม 2557

นายธนภัทร กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังขอเรียกร้องแทนลูกจ้างชั่วคราวที่บรรจุเป็นพนักงานกระทรวงสาธารณสุข (พกส.) เนื่องจากขณะนี้ได้รับผลกระทบในกรณีที่บรรจุเป็นข้าราชการ ไม่สามารถนับต่ออายุราชการได้เช่นเดียวกับลูกจ้างชั่วคราว ซึ่งมีผลต่อการสอบเพื่อเลื่อนขั้น ดังนั้นจึงควรมีการปรับแก้ไขในประเด็นนี้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในระบบราชการเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับคนทำงานในภาคราชการด้วยกัน