ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เนื่องในโอกาสวันที่ 1 พฤษภาคม 2558 เป็นวันครบรอบ 36 ปี ของการกำเนิด “หมอชาวบ้าน” หรือมูลนิธิหมอชาวบ้าน องค์กรพัฒนาเอกชน ซึ่งเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายกว่าสามทศวรรษ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมามูลนิธิหมอชาวบ้านดำเนินกิจกรรมอย่างหลากหลายทั้งการจัดทำสิ่งพิมพ์และสื่อต่างๆ เพื่อเผยแพร่แนวคิดและความรู้ด้านสุขภาพแบบองค์รวมแก่ประชาชนและนักวิชาชีพสาธารณสุข รวมทั้งร่วมกับองค์กรภาครัฐและเอกชนต่างๆ ในการรณรงค์ป้องกันและแก้ไขปัญหาสาธารณสุขต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ดังปณิธานของหมอชาวบ้านที่ต้องการให้ประชาชนทุกคนมีความรู้ในการป้องกันโรคและการดูแลรักษาสุขภาพเบื้องต้น มีการสร้างเสริมสุขภาพมากกว่าการซ่อมสุขภาพ เสมือนให้ประชาชนทุกคนเป็นหมอรักษาตนเองเบื้องต้นได้ ลดความทุกข์ทรมานจากโรคภัยไข้เจ็บ สูญเสีย (ชีวิต) ให้น้อยที่สุด โดยใช้สื่อสิ่งพิมพ์และการอบรมให้ความรู้กับประชาชน

หากมาพิจารณาถึงความหมายของคำว่า “หมอชาวบ้าน” นัยหนึ่ง คือ ทำชาวบ้านให้เป็นหมอ หมายถึงการส่งเสริมให้ประชาชนทั่วไปมีความรู้และทักษะในการดูแลสุขภาพตนเองไม่ให้เจ็บป่วย หากจะเจ็บป่วยก็ไม่ให้เป็นรุนแรง หากจะเป็นรุนแรงก็ไม่ให้ตาย และหากจะตายก็ดูแลให้ตายดี (อย่างมีศักดิ์ศรีและประหยัด) หมอชาวบ้านอีกนัยหนึ่ง ยังหมายถึงทำหมอให้เป็นชาวบ้าน หมายถึง การส่งเสริมให้นักวิชาชีพสาธารณสุข เป็นหมอที่เข้าใจและเข้าถึงผู้ป่วย ครอบครัว และชุมชน สามารถดูแลประชาชนอย่างเป็นองค์รวม ด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์และมีบทบาทในการเสริมพลังสร้างสุขภาพแก่ประชาชน

หมอชาวบ้านเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ พฤษภาคม 2522 ได้รับอนุญาตจดทะเบียนเป็นมูลนิธิ เมื่อปี พ.ศ.2524 โดยมี นพ.เสม พริ้งพวงแก้ว ดำรงตำแหน่งประธานมูลนิธิคนแรก กำเนิดความเป็นหมอชาวบ้าน เริ่มต้นด้วยการสอนชาวบ้านให้เป็นหมอ ผ่านกิจกรรมด้านสื่อรณรงค์เผยแพร่ความรู้ เช่น โครงการผลิตนิตยสารหมอชาวบ้านรายเดือนเพื่อเผยแพร่ความรู้การพึ่งตนเองในเรื่องสุขภาพแก่ประชาชนทั่วไปทุกระดับ มีวางเผยแพร่ตามร้านหนังสือทั่วไป,  โครงการผลิตคู่มือหมอชาวบ้าน สำหรับการดูแลรักษาตนเองเบื้องต้นก่อนพบแพทย์, โครงการผลิตวารสารคลินิกรายเดือน เพื่อเป็นความรู้ทางการแพทย์ที่ทันสมัย ประยุกต์ใช้ง่าย จัดส่งให้ผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์ พยาบาล เภสัชกร ที่บอกรับเป็นสมาชิก, โครงการผลิตสื่อสิ่งพิมพ์เพื่อสุขภาวะ (พ็อกเก็ตบุ๊ก) มีวางเผยแพร่ตามร้านหนังสือทั่วไป และ โครงการผลิตสื่อโปสเตอร์ให้ความรู้การดแลสุขภาพด้วยตนเอง เป็นต้น

สื่อสิ่งพิมพ์ที่เป็นที่รู้จักกันแพร่หลาย อย่าง คู่มือหมอชาวบ้าน นับเป็นสื่อพ็อกเก็ตบุ๊กเล่มแรกของมูลนิธิหมอชาวบ้าน เป็นคู่มือสำหรับการเรียนรู้วิธีดูแลรักษาตนเองเมื่อประสบอุบัติเหตุ เจ็บป่วยกะทันหัน หรือมีอาการไม่สบายเล็กๆ น้อยๆ มีหน่วยงาน องค์กร สถาบันสั่งซื้อเพื่อนำไปเผยแพร่แก่ประชาชนจนถึงปัจจุบันเกินล้านเล่ม เช่น สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด องค์การบริหารส่วนตำบล สั่งซื้อแจกให้กับประชาชนทุกครัวเรือน หรือประชาชนสั่งซื้อเพื่อแจกในวาระโอกาสต่างๆ เช่น งานบวช งานวันเกิด งานแต่งงาน งานฌาปนกิจศพ เป็นต้น รวมทั้งองค์กรหน่วยงานสั่งซื้อแจกเป็นที่ระลึกในวาระต่างๆ ฯลฯ

นิตยสารหมอชาวบ้าน เป็นสื่อสิ่งพิมพ์ที่ให้ความรู้การดูแลรักษาสุขภาพด้วยตนเอง ออกเผยแพร่เป็นรายเดือน มีผู้สมัครเป็นสมาชิกรับนิตยสารอ่านประจำเป็นจำนวนมากและสมัครสมาชิกอุปถัมภ์ส่งให้กับโรงเรียน วัด เรือนจำ ชุมชนที่ด้อยโอกาสมาอย่างต่อเนื่อง เผยแพร่มานานกว่า 30 ปี นับตั้งแต่หมอชาวบ้านฉบับแรกเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2522 จัดทำขึ้น โดยคณะผู้ก่อตั้งในยุคแรกประกอบไปด้วย .นพ.ประเวศ วะสี, ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์, ศ.นพ.เสม พริ้งพวงแก้ว และอีกหลายๆ ท่าน จวบจนถึงปัจจุบันนิตยสารหมอชาวบ้านมี รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานุภาพ ซึ่งเป็นประธานมูลนิธิหมอชาวบ้านเป็นผู้ดูแล  และยังได้พัฒนาช่องทางการสื่อสารเพื่อให้สอดรับกับยุคสมัยด้วยการแปลงฐานข้อมูลและเนื้อหาอันดีเยี่ยมของ “หมอชาวบ้าน” เข้าสู่โลกออนไลน์ ซึ่งมีส่วนสำคัญอย่างมากต่อการส่งผ่านองค์ความรู้นี้ให้เข้าถึงผู้คนในวงกว้างขึ้น ง่ายขึ้น และสะดวกยิ่งขึ้นต่อการใช้งาน บนอินเทอร์เน็ตภายใต้ชื่อ www.doctor.or.th โดยผู้ใช้เว็บจะสามารถหาข้อมูลเกี่ยวกับโรค ยา สมุนไพร การปฐมพยาบาล และแหล่งข่าวสุขภาพได้อย่างง่ายดาย พร้อมเปิดช่องถาม-ตอบปัญหาสุขภาพกับคุณหมอ โดยประชาชนสามารถโพสต์คำถามฝากไว้ที่เว็บไซต์ จากนั้นก็จะมีคุณหมอมาช่วยตอบข้อสงสัย ฯลฯ

วารสารคลินิก เป็นวารสารทางการแพทย์ ที่จัดส่งให้กับแพทย์บุคลากรสาธารณสุขที่บอกรับเป็นสมาชิกเท่านั้น ออกเผยแพร่มานานกว่า 25 ปี

นอกจากนี้ การดำเนินงานของหมอชาวบ้านยังรวมถึงกิจกรรมรณรงค์ กิจกรรมอบรม เผยแพร่ ให้ความรู้แก่ประชาชนอีกมากมาย

ความยาวนานกว่าสามทศวรรษของ “หมอชาวบ้าน” ที่ดำรงอยู่คู่สังคมไทยทำให้เห็นว่า องค์ความรู้เกี่ยวกับสุขภาพไม่ได้จำกัดแคบอยู่แค่ในวงการสาธารณสุข การแพร่กระจายขององค์ความรู้เกี่ยวกับสุขภาพได้ขยายวงกว้างไปสู่ประชาชนในทุกพื้นที่มายาวนานพอสมควร ด้วยความร่วมมือ และความพยายามของบุคลากรด้านสาธารณสุขที่ต้องการเห็นสังคมไทยเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ และประชาชนมีความรู้ในการจัดการสุขภาพด้วยตนเอง

เก็บความจาก

มูลนิธิหมอชาวบ้าน แหล่งที่มา : http://foundation.doctor.or.th/information

๓ ทศวรรษ ๓๐ ปี หมอชาวบ้าน ๒๕๒๒-๒๕๕๒ แหล่งที่มา : https://www.mebmarket.com/index.php?action=BookDetails&book_id=496

สุวิทย์ วงศ์รุจิราวาณิชย์, ฝึกชาวบ้านให้เป็นหมอ” กับแอพพลิเคชั่น Doctor Me แหล่งที่มา : http://www.tcdc.or.th/src/18067/www-tcdcconnect-com/

ขอบคุณภาพจาก

http://www.ebooks.in.th/ebook/

หมอชาวบ้าน July 2013, หมอชาวบ้าน August 2013