ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

โลกทุกวันนี้มีความเจริญก้าวหน้าทางการแพทย์มากขึ้น นั่นหมายถึง ประชาชนจะมีอายุที่ยืนนานขึ้น เป็นผลให้อัตราการตายลดลง แต่ในขณะเดียวกันอัตราการเกิดกลับลดลงเช่นกัน ซึ่งส่งผลให้ประเทศนั้นๆ ขาดวัยแรงงาน เมื่อมีผู้สูงอายุมากขึ้น ประเทศไทยจะต้องพร้อมรับมือกับการสร้างให้ผู้สูงวัยมีคุณภาพชีวิตที่ดีไม่เป็นภาระของสังคม

ศ.นพ.นิมิต เดชไกรชนะ

ศ.นพ.นิมิต เดชไกรชนะ หน่วยวิจัยสตรีวัยหมดระดู ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เมื่อดูตัวเลขผู้สูงวัยในแต่ละปีมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นถึงปีละ 11-12% ของประชากรในประเทศ เช่น ในปี พ.ศ. 2528 ไทยมีอัตราผู้สูงวัย 1:20 คน ปี พ.ศ. 2543 พบได้ 1:12 คน และมีการคาดการณ์กันว่าในอีก 30 ปีข้างหน้า ประเทศไทยมีสัดส่วนของผู้สูงอายุ 1:3 คน

"สิ่งที่เกิดขึ้นพบว่า สัดส่วนของคนวัยแรงงาน ผู้สูงอายุ และเด็ก มีสัดส่วนที่ไม่สมดุลกัน คือ วัยแรงงานและวัยเด็กลดลง ขณะที่วัยผู้สูงอายุกลับสูงขึ้น นอกจากนี้ยังพบว่า อัตราการเกิดของเด็กอยู่ที่ 1:4 คน นั่นหมายถึงอัตราการเกิดที่ต่ำลง จะส่งให้วัยแรงงานในอนาคตจะลดลงตามไปด้วย ตัวอย่างในประเทศเทศที่เจริญแล้วที่กำลังประสบปัญหาดังกล่าว ได้แก่ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และประเทศในกลุ่มสแกนดิเนเวีย ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีประชากรที่มีอายุเกิน 100 ปีมากที่สุดในโลก"

ศ.นพ.นิมิต กล่าวว่า เมื่อมีผู้สูงอายุมากขึ้น ปัญหาที่ตามมา คือ ปัญหาเรื่องสุขภาพ ได้แก่ ภาวะการเจ็บป่วย หรือทุพพลภาพ โจทย์ที่ตามมาคือ จะทำอย่างไรให้ผู้สูงอายุเปลี่ยนจากที่เป็นภาระ กลายมาเป็นพลังที่จะช่วยขับเคลื่อนสังคม และช่วยเหลือตนเองได้ โดยใช้ประสบการณ์ ภูมิปัญญาของผู้สูงอายุ มาเกื้อกูลคนรุ่นหลังได้ และความเจ็บป่วยของผู้สูงวัยหายไป

จากที่กล่าวมาข้างต้น จึงเป็นสาเหตุที่แพทย์ทุกสาขามารวมตัวกันแบบสหวิชา จัดทำโครงการและการวิจัยกับผู้สูงอายุให้มีสุขภาพดีตลอดไป และมีส่วนร่วมในสังคมได้ และได้มีการจัดประชุมเพื่อรวบรวมองค์ความรู้ และแลกเปลี่ยนข้อมูลของผู้สูงวัย และเติมช่องว่างในบางเรื่องที่เรายังไม่รู้ เริ่มจากปี พ.ศ.2550 ทาง รพ.จุฬาฯ ได้มีการจัดประชุมวิชาการขึ้นมาครั้งแรก ที่มุ่งไปที่จะทำอย่างไรให้องค์กรและสถาบันเป็นศูนย์กลางในการดูแลผู้สูงอายุ ครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ.2553 เราได้ขยายหัวข้อผู้สูงอายุไปสู่ด้านสังคมมากขึ้น และในปี พ.ศ.2558 จะจัดเป็นครั้งที่3 ในหัวข้อผู้สูงวัยและผู้สูงอายุ งานจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 22-24 พ.ค.นี้

ศ.นพ.นิมิต กล่าวว่า ที่ผ่านมาประเด็นปัญหาสุขภาพของผู้สูงวัย แพทย์ไม่ได้แก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ที่มีเรื่องของสังคมเข้ามาเกี่ยวข้อง จึงได้เกิดแนวคิดที่จะมีการสร้างอาคารผู้สูงวัยที่สามารถดูแลผู้สูงวัยได้ อย่างครบวงจร โดยได้รับงบประมาณจากงบไทยเข้มแข็ง เป็นจำนวนเงิน 1,400 ล้านบาท โดยจะสร้างเป็นศูนย์ต้นแบบการดูแลผู้สูงวัย ผ่านการอบรมและหารูปแบบที่เหมาะสม แล้วขยายองค์ความรู้ที่ได้ไปยังชุมชนต่างๆ ในเริ่มแรกอาจเป็นชุมชนโดยรอบที่ใกล้กับ รพ.จุฬาฯ ซึ่งจะเป็นการต่อยอดองค์ความรู้แบบการสื่อสาร 2 ทาง

สำหรับการสร้างอาคาร ส.ธ. ซึ่งจะเป็นอาคารที่รองรับการให้บริการแก่ผู้สูงอายุอย่างครบวงจร โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการในเฟสแรกได้ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2558 โดยเบื้องต้นจะเป็นการให้บริการในส่วนของผู้ป่วยนอก

ส่วนในการบริหารจัดการในเบื้องต้น เรื่องงานบุคคลอาจมีการใช้อาสาสมัครเข้ามาช่วยในการทำงาน และเรื่องของงบประมาณซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ ที่ตั้งไว้คือในส่วนนี้จะต้องสามารถบริหารจัดการแบบเลี้ยงตัวเองได้ ลดการพึ่งพางบประมาณจาก รพ.จุฬาฯ ในขณะนี้อยู่ระหว่างการวางแผนรูปแบบการบริหารการจัดการอยู่

ทั้งนี้ ศ.นพ.นิมิต กล่าวว่า การสร้างคุณค่าให้กับผู้สูงวัยคือ การทำให้ผู้สูงวัยมีส่วนร่วมในสังคมและช่วยเหลือสังคมได้ เปลี่ยนจากผู้รับมาเป็นผู้ให้ ส่วนทางด้านการแพทย์จะต้องเปลี่ยนจากการักษามาเป็นการสร้างเสริมสุขภาพ และไปเน้นที่การป้องกันโรค สร้างให้ผู้สูงวัยมีสุขภาพดี

ส่วนการเตรียมตัวเป็นผู้สูงวัยคุณภาพนั้น ศ.นพ.นิมิต กล่าวว่า หากกล่าวถึงการเตรียมตัวให้ตนเองก้าวเข้าสู่การเป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพ นั้น อาจจะกล่าวได้ว่า จะต้องเริ่มตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาเลยทีเลย โดยเฉพาะช่วงเริ่มตั้งครรภ์จนถึง 6 ปีแรกของชีวิต เป็นช่วงที่มีความสำคัญที่สุด ในช่วงเวลาดังกล่าวหากพ่อแม่ส่งเสริมด้านการพัฒนาการทางสมอง ส่งเสริมให้มีสุขภาพดีแล้วจะส่งผลที่ดีในด้านต่างๆ ในอนาคตได้ ซึ่งอาจเปรียบเทียบได้เหมือนกับการปลูกต้นไม้ ดังคำกล่าวที่ว่า "อยากให้เขาเป็นอย่างไรให้ใส่สิ่งนั้นเข้าไป"

อย่างไรก็ตาม ศ.นพ.นิมิต ได้แนะนำว่า หากคนในวัยทำงานต้องการที่จะก้าวเข้าสู่วัยผู้สูงวัยอย่างมีคุณภาพ ต้องมีพฤติกรรมสุขภาพที่ดี ลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ อย่าทำลายสุขภาพของตนเอง เช่น ปล่อยให้มีน้ำหนักเกิน หลีกเลี่ยงสิ่งเสพติด ส่วนการดำเนินชีวิตให้เดินทางสายกลางตามแบบพระพุทธศาสนา กินอยู่ให้พอดี อย่าใช้ชีวิตสุดขั้ว การถือศีล ภาวนา จะเป็นการจัดการกับความเครียดได้ดี ในแต่ละคนจะมีวิถีชีวิตที่แตกต่างกัน การเลือกแบบการดูแลสุขภาพนั้นขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของคนแต่ละคน

"สุขภาพของคนเราเหมือนโดมิโน การเจ็บป่วย เหมือนการสะสมอย่างต่อเนื่อง หากเราไม่ดูแลสุขภาพ ผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อร่างกายจะเหมือนกับการล้มของโดมิโนที่จะมีผลกระทบต่ออวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกายอย่างต่อเนื่อง เพราะฉะนั้นเราต้องรักษากายใจให้ดี" ศ.นพ.นิมิต กล่าวทิ้งท้าย
 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง