ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ทีมแพทย์รัฐบาลไทย ส่งทีมเดินเท้าสำรวจชุมชนในต.ซิปปะกัต ค้นหาและรักษาผู้บาดเจ็บและเจ็บป่วย ปัญหาสาธารณสุข ทั้งโรคเรื้อรัง อนามัยแม่และเด็ก เพื่อวางแผนบริการสาธารณสุขระยะฟื้นฟู ผลการให้บริการวานนี้ มีผู้รับบริการ 170 ราย ส่วนใหญ่บาดเจ็บจากแผ่นดินไหว จะประเมินผลด้านการรักษาและปัญหาสาธารณสุข ในวันที่ 6 พฤษภาคม 2558 เพื่อปรับแผนการทำงานและเตรียมทีมแพทย์ชุด 2 ไปผลัดเปลี่ยนให้บริการตรงความต้องการประชาชนในพื้นที่

วันนี้ (2 พฤษภาคม 2558) นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ปฏิบัติราชการแทนปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ความคืบหน้าการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวที่เนปาลว่า ได้รับรายงานจากทีมแพทย์รัฐบาลไทยที่ไปปฏิบัติงานที่ประเทศเนปาลว่า ขณะนี้ ได้ตั้งเต๊นท์หน่วยแพทย์ขนาดใหญ่ทั้งหมด 2 หลังอยู่บริเวณเชิงสะพานแม่น้ำอินทรปตี ซึ่งมีบ้านเรือนกระจายเป็นหย่อมๆ และได้รับความเสียหายถึงร้อยละ 90 โดยมีแพทย์และล่ามอาสาสมัครจากประเทศเนปาลและศรีลังกามาร่วมปฏิบัติงาน ผลการให้บริการเมื่อวานนี้ (1 พฤษภาคม 2558) มีผู้ป่วยมารับการรักษา 170 ราย ส่วนใหญ่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุแผ่นดินไหว ฟกช้ำ แขน ขา หัก เอ็นฉีกขาด แผลติดเชื้อ ประมาณ 80 กว่าราย รองลงมาเป็นโรคระบบทางเดินอาหาร เช่นปวดท้อง ท้องเสีย และโรคระบบทางเดินหายใจ

ทางด้าน นพ.สุริยะ วงศ์คงคาเทพ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข หัวหน้าทีมแพทย์ส่วนหน้ารัฐบาลไทย ซึ่งเดินทางกลับจากประเทศเนปาลวานนี้ (1 พฤษภาคม 2558) ได้ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมคณะกรรมการศูนย์ปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุข ติดตามการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวที่ประเทศเนปาลของทีมแพทย์รัฐบาลไทย ว่า ข้อมูลสถานการณ์ล่าสุดจากกระทรวงสาธารณสุขและประชากร ประเทศเนปาล รายงานว่า ขณะนี้ โรงพยาบาลในเมืองกาฐมาณฑุเปิดให้บริการได้เกือบสมบูรณ์แล้ว ผู้บาดเจ็บและผู้ป่วยส่วนใหญ่ได้รับการดูแลรักษา โดยมีหน่วยแพทย์จากนานาชาติรวม 83 หน่วย ซึ่งบางหน่วยรอการกำหนดจุดปฏิบัติงาน สำหรับการทำงานของทีมแพทย์รัฐบาลไทย ได้แบ่งออกเป็น 2 ทีม 1.ทีมแพทย์รักษาที่หน่วยแพทย์บริเวณเชิงสะพานข้ามแม่น้ำอินทรปตี ซึ่งเริ่มเปิดบริการเต็มที่เมื่อวานนี้ คาดว่าวันที่ 3 - 5 พฤษภาคมจะมีผู้มารับบริการมากขึ้น 2.หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ ค้นหาและรักษาผู้บาดเจ็บและเจ็บป่วย และสำรวจชุมชนรัศมี 3 กิโลเมตรจากฐานที่ตั้งรพ.สนาม โดยการเดินเท้า

นพ.สุริยะ กล่าวต่อว่า ได้ให้ทีมแพทย์รัฐบาลไทยสรุปสถานการณ์และความต้องการของประชาชนในพื้นที่ 4 ด้าน ได้แก่ 1.ข้อมูลผู้ป่วยที่มารับบริการ 2.ข้อมูลด้านสาธารณสุขในชุมชนที่สำรวจ ด้านสุขาภิบาลน้ำและส้วม อนามัยแม่และเด็ก และปัญหาสาธารณสุขอื่นๆ เช่นโรคเรื้อรัง โรคติดต่อ 3.ประสานงานกับองค์การอนามัยโลก และกระทรวงสาธารณสุขฯ เนปาล เพื่อขยายจุดบริการ การส่งทีมแพทย์ชุดที่ 2 และ4.ความต้องการสิ่งสนับสนุนการปฏิบัติและการดำรงชีวิตของทีมแพทย์ เพื่อนำไปกำหนดแผนการให้บริการ และการจัดทีมชุดที่ 2 เพื่อไปผลัดเปลี่ยนทีมชุดแรกที่จะเดินทางกลับในสัปดาห์หน้า ซึ่งขึ้นอยู่กับการสรุปสถานการณ์และความต้องการของประชาชนในพื้นที่ และเสนอวอร์รูมพิจารณาในวันที่ 6 พฤษภาคม 2558