ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รัฐบาลไทย โดย 5 กระทรวงหลักได้แก่ สาธารณสุข กลาโหม มหาดไทย เกษตรฯ ต่างประเทศ เป็นเจ้าภาพจัดประชุมวิชาการ 24 ประเทศภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ร่วมกันจัดทำแผนความร่วมมือสร้างความมั่นคงด้านสุขภาพระดับภูมิภาค สร้างความปลอดภัยจากภัยสุขภาพร้ายแรง เน้น 3 มาตรการหลัก การพัฒนาความรู้ความเชี่ยวชาญบุคลากรด้านเฝ้าระวังสอบสวนควบคุมป้องกันโรค การพัฒนาห้องตรวจวินิจฉัยชันสูตรเชื้อโรค และการป้องกันเชื้อดื้อยา โดยไทยพร้อมให้ความช่วยเหลือประเทศเพื่อนบ้าน

วันนี้ (6 พฤษภาคม 2558) ที่โรงแรมแมนดาริน กทม. ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมวิชาการ วาระความมั่นคงด้านสุขภาพโลก (GHSA : Global Health Security Agenda) เพื่อสร้างความร่วมมือด้านการป้องกันควบคุมป้องกันโรคและภัยสุขภาพรุนแรงในประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก 24 ประเทศ การประชุมครั้งนี้เป็นความร่วมมือจาก 5 กระทรวงหลัก คือ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงกลาโหม และกระทรวงเกษตรฯ  ระหว่างวันที่ 6-8 พฤษภาคม 2558 โดยมีตัวแทนจาก 24 ประเทศทั่วโลก และหน่วยงานนานาชาติด้านสุขภาพคนและสุขภาพสัตว์ อาทิ องค์การอนามัยโลก ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐฯ, องค์การพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ, องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ, องค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ เข้าร่วมประชุมกว่า 200 คน

ศ.นพ.รัชตะ กล่าวว่า ขณะนี้ปัญหาสุขภาพเป็นประเด็นสำคัญที่ทุกประเทศให้ความสนใจ เนื่องจากมีผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศและต่อเศรษฐกิจและสังคม องค์การอนามัยโลกและประเทศสมาชิกหลายประเทศได้เรียกร้องให้ทุกประเทศทั่วโลกร่วมมือกันอย่างเข้มแข็ง เพื่อสร้างความมั่นคงด้านสุขภาพโลก รัฐบาลไทยได้ให้ความสำคัญและร่วมมืออย่างเต็มที่ จึงได้จัดประชุมวิชาการเพื่อขยายความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านและประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก รวม 24 ประเทศ ผลักดันให้แต่ละประเทศเพิ่มศักยภาพการป้องกันควบคุมโรคให้มีความเข้มแข็ง และมีแผนความร่วมมือระหว่างประเทศและภูมิภาค ในเบื้องต้นนี้เน้นหนัก 3 เรื่องหลักที่มีความสำคัญต่อกลไกควบคุมป้องกันโรค ประกอบด้วย 1.การพัฒนาศักยภาพและสร้างเครือข่ายทางห้องปฏิบัติการ เพื่อตรวจวินิจฉัยเชื้อโรคที่แม่นยำ รวดเร็ว ให้ครอบคลุมทั้งประเทศ 2.พัฒนากำลังคนด้านระบาดวิทยา ทำหน้าที่เฝ้าระวัง สอบสวนและควบคุมโรค ทั้ง 2 เรื่องนี้ ไทยจะรับหน้าที่เป็นผู้นำแก่ทั่วโลก และ 3.การป้องกันเชื้อจุลชีพดื้อยา

ศ.นพ.รัชตะ กล่าวต่อว่า ในการประชุมครั้งนี้ ทั้ง 24 ประเทศ จะร่วมกันหาปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงานของแต่ละประเทศ และจัดทำแผนความร่วมมือพัฒนาร่วมกันทั้งด้านองค์ความรู้ ผู้เชี่ยวชาญ งบประมาณ ความช่วยเหลือจากห้องปฏิบัติการเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เพื่อให้แต่ละประเทศมีความพร้อมในการรับมือกับภัยสุขภาพที่มีความร้ายแรงเป็นระบบเดียวกันได้ เช่น อีโบลา เป็นกรณีตัวอย่างที่ดีที่สุด

นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวว่า ในส่วนของประเทศไทย ได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อร่วมดำเนินงานสร้างความมั่นคงทางสุขภาพโลก มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาทิ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรณ์กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย โดยได้จัดทำแนวทางการให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศที่มาเข้าร่วมประชุม โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านอาทิ กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ เช่น ส่งผู้เชี่ยวชาญต่างๆ ไปให้ความช่วยเหลือด้านองค์ความรู้ การจัดทุนการศึกษา การฝึกอบรม การตรวจวินิจฉัยจากห้องปฏิบัติการ เป็นต้น