ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

บทความจาก ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขียนถึงสถานการณ์ข้อเรียกร้องให้มีการตั้งคณะกรรมการคุมค่ารักษา รพ.เอกชน ซึ่ง นพ.ธีระ ระบุว่า ถึงเวลาแล้วที่ต้องมีตัวบทกฎหมาย และกลไกตรวจสอบ ควบคุมค่าใช้จ่ายในสถานพยาบาลเอกชนอย่างพอเหมาะพอสม ไม่เกินเลยแบบที่เห็นในปัจจุบัน

นายทุนสามานย์ หมายรวมถึง นักการเมือง นักธุรกิจสีดำ และเหล่าหมอพยาบาลนักบริหารสถานพยาบาลเอกชนที่มุ่งเน้นกำไรเหนือชีวิตจิตใจ

12 พ.ค. ตอนเที่ยง จะเป็นก้าวแรกของประชาชน ที่จะเดินรุกไล่นายทุนสามานย์ ผ่านการยื่นรายชื่อกว่าสามหมื่นคน เพื่อเรียกร้องให้เกิดกลไกควบคุมราคาค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลของรพ.เอกชนต่างๆ ทั่วประเทศ

"คนไข้" ตกเป็นเหยื่อมานานแสนนาน กับการตรวจรักษาที่เกินความจำเป็น ตั้งแต่ยา การส่งตรวจเลือด ปัสสาวะ เอกซเรย์ต่างๆ แถมถูกทำให้หลงฟุ้งเฟ้อไปกับความสะดวกสบาย เพราะนายทุนสามานย์หากำไรให้มากที่สุดเพื่อสนองต่อตลาดหุ้น ผ่านการแปลงโรงพยาบาลให้เป็นโรงแรม และห้างสรรพสินค้า ควบคู่ไปกับการแท็คทีมกับนักการตลาดเลวๆ ใช้กลยุทธ์ขู่ให้คนกลัวโรคต่างๆ จนเกินเหตุ (playing with fear factors) และกลยุทธ์โฆษณาการตรวจใหม่ๆ ที่แพงๆ ให้คนเข้าใจว่าต้องรีบมาตรวจ ทั้งๆ ที่ไม่เหมาะที่จะนำมาใช้ในการตรวจคัดกรองเลย

ขณะเดียวกัน "หมอ" ก็ตกเป็นจำเลย ถูกมองว่าทำให้ค่าใช้จ่ายสูง ทั้งๆ ที่ความเป็นจริงแล้ว ค่าตรวจแพทย์นั้นไม่ได้สูง แต่ค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ไปอยู่ที่ค่ายา ค่าอุปกรณ์ทางการแพทย์ ค่าตรวจทางห้องปฏิบัติการ ค่าห้อง ค่าอาหาร ค่าบริการเสริมความสะดวกสบายต่างๆ เพราะนายทุนสามานย์เหล่านั้นโขกเกินต้นทุนไปถึง 3-5 เท่าเลยทีเดียว โดยที่คนส่วนใหญ่ไม่เคยรู้มาก่อน

การดูแลรักษาพยาบาล จัดเป็นปัจจัยพื้นฐานทางสังคมที่ทุกคน ทุกภาคส่วนต้องมีส่วนร่วม

การที่ผู้บริหารรพ.เอกชนบางคนมาออกข่าวว่า รพ.เอกชนเป็นทางเลือกของสังคมเท่านั้น เพราะไม่ได้งบจากรัฐ แต่คงปฏิเสธไม่ได้เลยว่า พวกเขาเหล่านั้นได้รับการดูแลสาธารณูปโภคพื้นฐานในการใช้ชีวิตจากรัฐ และสังคมไม่มากก็น้อย จึงปฏิเสธไม่ได้เต็มปากเต็มคำว่า พวกเขาจะดำรงอยู่ได้ด้วยตัวพวกเขาเองแต่เพียงฝ่ายเดียว

ดังนั้นจึงถึงเวลาแล้วที่ต้องมีตัวบทกฎหมาย และกลไกตรวจสอบ ควบคุมค่าใช้จ่ายในสถานพยาบาลเอกชนอย่างพอเหมาะพอสม ไม่เกินเลยแบบที่เห็นในปัจจุบัน

เพื่อให้สถานพยาบาลเอกชน แสดงความรับผิดชอบต่อสังคมโดยรวม ไม่เกี่ยงงอนที่จะดูแลรักษาคนยากจนยามวิกฤติ ไม่ขูดรีดคนที่พอมีอันจะกินจนกลายเป็นคนไม่มีอะไรจะกินดังที่เห็นอยู่เนืองๆ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

ย่างก้าวหลังจากวันที่ 12 พ.ค. อาจนำมาสู่การปฏิรูประบบสถานพยาบาลเอกชนทั้งหมด ให้ดำรงตนในกรอบ"กิจการเพื่อสังคม" มิใช่ "กิจการที่มุ่งหากำไรให้มากที่สุดเพื่อทำการผูกขาดตลาด"

จุดชี้เป็นชี้ตาย คงอยู่ที่ว่า ประชาชนชาวไทยจะเข้าใจ และร่วมด้วยช่วยกันขับเคลื่อนแนวคิดนี้ให้เป็นจริงได้หรือไม่ และรัฐบาลจะเอาจริงเพื่อสร้างความเป็นธรรมด้านสุขภาพให้แก่ทุกคนในประเทศอย่างที่เคยเอ่ยไว้จริงหรือไม่...สุดท้ายคือ นายทุนสามานย์ทั้งหลายจะยังมีคุณธรรมหลงเหลือในใจมากน้อยเพียงใด...

ที่แน่ๆ คือ แรงกระเพื่อมระยะสั้นที่จะเกิดขึ้น อันเป็นปฏิกิริยาตอบสนองจากสถานพยาบาลเอกชนสีดำบางแห่งแน่ๆ เพื่อสร้างหนทางหากำไรเฉพาะหน้า จะออกมาใน 2 รูปแบบ ได้แก่

1. ขึ้นค่าห้องต่างๆ ค่าอาหาร และค่าบริการอำนวยความสะดวกต่างๆ แบบธุรกิจโรงแรมที่ตระหนี่ถี่เหนียว ตั้งแต่ ค่าโทรศัพท์ ค่าชาร์จอุปกรณ์ไฟฟ้า ค่าเก็บขยะ ค่า wifi ฯลฯ

2. ขึ้นค่าตรวจทางห้องปฏิบัติการต่างๆ และสร้างแคมเปญให้แห่ไปตรวจมากขึ้นผ่านการโฆษณาให้กลัว และ/หรือออกนโยบายผ่านวาจา ให้หมอเอกชนส่งตรวจที่ไม่จำเป็นให้มากกว่าเดิม

โปรดติดตาม...ขุนฝ่ายใดจะอยู่ได้ตลอดรอดฝั่ง

สำหรับผมนั้น...ขออยู่ฝั่งประชาชน และเรียกร้องให้นายทุนสามานย์กลับใจ ข้ามฝั่งมาช่วยกัน...

ผู้เขียน : ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย