ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นสพ.เดลินิวส์ : ถกเครียด แก้ปม รพ.เอกชน เก็บค่ารักษาพยาบาลแพงหูฉี่ "กมธ.สาธารณสุข สปช." เรียก "สมาคม รพ.เอกชน-สปสช." หาข้อเท็จจริง หลังเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ ยื่นร้องเรียน ฝั่ง รมว.สธ. รับลูก ระดมความเห็นภายใน ก่อนเล็งหารือร่วม กระทรวงพาณิชย์- แพทยสภา-สคบ. 15 พ.ค. นี้ แก้ปัญหา ด้าน รองเลขาฯ แพทยสภา เผย ค่าใช้จ่าย รพ.เอกชน มี 3 หมวดใหญ่ แนะคุมราคาแยกแต่ละหมวด บรรเทาปัญหา ขณะที่ สมาคม รพ.เอกชน สั่งรูดซิปปาก ห้ามให้ข่าวเด็ดขาด

นสพ.เดลินิวส์ : เมื่อวันที่ 11 พ.ค. นางพรพันธุ์ บุณยรัตพันธุ์ ประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูประบบสาธารณสุข สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)  เปิดเผยถึงกรณีที่ รพ.เอกชน เรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลแพงว่า เรื่องนี้ต้องมีข้อมูลของราคากลางก่อน เรายังไม่รู้ราคากลางที่แท้จริง จะให้ รพ.เอกชน ไปเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลเท่ากับ รพ.รัฐ คงลำบาก เพราะ รพ.รัฐ รัฐบาลจัดสรรงบประมาณสำหรับค่ายา ค่ารักษาพยาบาล ผ่านระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) แต่ รพ.เอกชน ต้องลงทุนเองทั้งเรื่องค่า สร้างอาคาร ค่าอุปกรณ์ ค่าแพทย์ เป็นต้น จึงเห็นว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องกำหนด ราคากลางให้ชัดเจน ทั้งนี้ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จะต้องออกมารับผิดชอบเรื่องนี้ เพราะประชาชนต้องได้รับการบริการในเรื่องสิทธิด้านสุขภาพ สปสช. จึงต้องทำหน้าที่ประสานความร่วมมือกับ รพ. เอกชน เพื่อตกลงเจรจาในเรื่องการเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลฉุกเฉิน

นางพรพันธุ์ เปิดเผยต่อว่า ในวันที่ 12 พ.ค. เวลา 15.00 น. นางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ จะเดินทางมายื่นหนังสือถึงตนเอง ที่อาคารรัฐสภา เพื่อให้นำเรื่องดังกล่าวไปพิจารณา ซึ่ง กมธ.ปฏิรูปฯ หลังจากรับเรื่องแล้ว จะประชุม กมธ.ฯและเชิญทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาสอบถามข้อเท็จจริง อาทิ สมาคม รพ.เอกชน และ สปสช. เพื่อพูดคุยก่อนที่จะตั้งอนุกรรมาธิการฯ หรือคณะกรรมาธิการฯ ขึ้นมาศึกษาเรื่องดังกล่าวต่อไป

ด้าน นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รมว.สาธารณสุข เปิดเผยว่า ในวันที่ 12 พ.ค. จะมีการหารือกันเป็นการภายในของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อดูว่าปัญหาอยู่ตรงไหน รวมถึงข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องก่อน เป็นการเตรียมความพร้อมข้อมูลก่อนจะมีการหารือร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ แพทยสภา และสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ในวันที่ 15 พ.ค. เพื่อหาแนวทางในการแก้ปัญหาเรื่องดังกล่าวต่อไป ส่วนจะมีการพัฒนาระบบบริหารและศักยภาพในการรักษาของ รพ.รัฐ อย่างไร เพื่อให้ประชาชนเชื่อมั่นและมารักษาที่ รพ. รัฐนั้น จริงๆ เมื่อดูสัดส่วนการหันไปใช้บริการ รพ.เอกชน วันนี้ ไม่ได้แตกต่างจากเมื่อก่อน แต่ที่เป็นปัญหาจริงๆ คือเรื่องราคา ซึ่งตาม พ.ร.บ. สถานพยาบาล พ.ศ. 2545 ระบุให้ รพ.เอกชน ต้องแสดงค่าบริการเอาไว้เท่านั้น ไม่ได้มีการตั้งราคากล่องเอาไว้ เช่น เดียวกับเรื่องราคายาไม่ได้มีกฎหมายกำหนดว่า ห้ามคิดแพงเกินกว่าเท่าไหร่ จึงต้องมีการ หารือกัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้ประสานไปยังสมาคม รพ.เอกชนอีกครั้ง แต่ได้รับการปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์โดยให้เหตุผลว่า ขณะนี้สมาคมมีมติห้ามมิให้บุคลากรของสมาคมฯ ออกมาแสดงความเห็นในเรื่องที่ รพ.เอกชนเก็บค่ารักษา และค่ายาแพงมากจนทำให้มีเรื่องร้องเรียนเข้ามาในปัจจุบัน

อีกด้าน พล.อ.ต.นพ.อิทธพร คณะเจริญ รองเลขาธิการแพทยสภา เปิดเผยถึงเรื่องค่ารักษาพยาบาลของรพ.เอกชนว่า มีหลายหมวด หลักๆ จะแบ่งออกเป็น 3 หมวด คือ 1. ค่าธรรมเนียมบุคลากรทางการแพทย์ ทั้ง แพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาล นักกายภาพบำบัด เป็นต้น 2. ค่าอุปกรณ์ทางการแพทย์ อาทิ ค่ายาและเวชภัณฑ์ต่างๆ เช่น สายสวนหัวใจ ข้อเข่าเทียม เป็นต้น และ 3. ค่าบริการต่างๆ ของสถานพยาบาลนั้นๆ ซึ่งแต่ละแห่งก็จะมีการเซอร์วิสที่แตกต่างกันไป ดังนั้น หากจะคุมค่ารักษาพยาบาล ก็คงต้องแยกแต่ละหมวด ซึ่งในความเป็นจริงอาจมีหมวดย่อยๆ อีกมาก ตรงนี้ยังไม่ทราบชัดเจน จำเป็นต้องมีหน่วยงานเข้าไปตรวจสอบ ส่วนกรณีที่แพทย์มีการสั่งจ่ายยามากเกินความจำเป็น จนส่งผลต่อค่ารักษาพยาบาลนั้น หากเป็นจริง ประชาชนสามารถร้องเรียนมาที่แพทยสภา เพื่อให้มีการตรวจสอบว่า เข้าข่ายผิดข้อบังคับในการทำให้ผู้รับบริการเกิดความสิ้นเปลืองหรือไม่

ขณะที่ นางดวงกมล เจียมบุตร โฆษกกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ เตรียมหารือกับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อแก้ปัญหาค่ารักษาพยาบาลของ รพ.เอกชน ซึ่งการหารือกันนั้น จะเป็นผลดีเพราะทำให้กระทรวงพาณิชย์รับรู้ต้นทุนการผลิตของยาแต่ละชนิดว่าเป็นอย่างไร ดังนั้นหากได้รับข้อมูลดังกล่าว จะทำให้ง่ายต่อการใช้กฎหมายของกรมการค้าภายในที่จะเข้ามาดูแลเรื่องของราคา อย่างไรก็ตามเท่าที่มีการสอบถามโรงงานผลิตยา พบว่ายาชนิดเดียวกัน แต่ก็มีการแยกออกเป็น 2 เกรด เพื่อจำหน่ายในราคาต่างกัน โดยที่ราคาถูกอาจผสมแป้งลงไปเยอะกว่ายาที่มีราคาแพง อย่างไรก็ตามหากกระทรวงพาณิชย์รู้ต้นทุนที่แท้จริงทั้งเรื่องของวัตถุดิบและค่าบริการของ รพ.เอกชน เชื่อว่าการแก้ปัญหาหรือการดูแลเรื่องราคาก็จะง่ายขึ้น.

ที่มา : นสพ.เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 13 พ.ค. 2558 (กรอบบ่าย)